×

‘The Coffee Club’ โดดรับเทรนด์ธุรกิจร้านกาแฟ งัดเมนูวาไรตี้-เพิ่มฐานสมาชิก พร้อมขยายสาขารองรับนักท่องเที่ยว

10.11.2022
  • LOADING...
The Coffee Club

เมื่อเทรนด์ธุรกิจร้านกาแฟเน้นแข่งกันที่รสชาติ-การบริการ กลายเป็นโจทย์ใหญ่  ‘The Coffee Club’ กางแผนเพิ่มเมนูวาไรตี้ใหม่ เร่งขยายฐานสมาชิก รับยอดจับจ่ายเฉลี่ยต่อบิลสูงกว่าลูกค้าทั่วไป พร้อมเดินหน้าขยายสาขา รองรับนักท่องเที่ยวบูม ตั้งเป้าปี 2566 ปั๊มยอดขายโต 50% 

 

หากพูดถึงแบรนด์ The Coffee Club นับเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งได้ขยายสาขาไปทั่วโลก เช่น จีน, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย และมัลดีฟส์ และได้เข้ามาเปิดให้บริการในไทยมากว่า 10 ปี โดยมีไมเนอร์ ฟู้ด ถือหุ้นอยู่ 70% ในช่วงโควิดมีการปรับพอร์ตธุรกิจหันมาเน้นจับลูกค้าคนไทย พร้อมปรับโครงสร้างราคาให้เข้าถึงง่าย เพื่อสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

นงชนก สถานานนท์ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ คอฟฟี่ คลับ ภายใต้การดำเนินการของ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง ทำให้บรรยากาศการจับจ่ายเริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก และทำให้ธุรกิจร้านกาแฟสามารถสร้างยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง

 

ขณะที่ภาพรวมธุรกิจร้านกาแฟ มีโอกาสเติบโตและมีการแข่งขันสูง เห็นได้จากผู้เล่นทั้งรายเล็ก รายใหญ่ เริ่มงัดจุดขายและออปชันใหม่ๆ เข้ามาสร้างความเคลื่อนไหวในตลาด โดยเทรนด์ร้านกาแฟในปัจจุบัน สำคัญสุดคือการพัฒนารสชาติใหม่ การบริการ และมีกิจกรรมการตลาดให้กับสมาชิก ถึงจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ 

 

นับเป็นโจทย์ใหญ่ของ The Coffee Club จากนี้จะมุ่งโฟกัสเรื่อง Brand Positioning เพิ่มการมีส่วนร่วมระหว่างผู้บริโภคกับแบรนด์มากขึ้น เพื่อตอกย้ำการเป็นร้านกาแฟแบบออลเดย์ไดนิ่ง รวมถึงการเพิ่มเมนูวาไรตี้ใหม่ๆ ทั้งกลุ่มเครื่องดื่มและอาหารเช้า (Breakfast) 

 

ตลอดจนการเพิ่มเมนูซิกเนเจอร์ทุกๆ 3 เดือน จากปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 100 เมนู พร้อมกับการปรับโลโก้ใหม่ ทำให้ร้านมีลักษณะความเป็นคาเฟ่มากขึ้นกว่าเดิม โดยอยู่ระหว่างทยอยปรับในทุกๆ สาขา เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงแบรนด์มากขึ้น 

 

รวมถึงการให้ความสำคัญกับการการทำกิจกรรมการตลาด ตอบโจทย์สมาชิก เพื่อขยายฐานสมาชิกเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีอยู่ราวๆ 80,000 ราย สิ้นปีตั้งเป้าจะเพิ่มให้ได้ 1 แสนราย และตั้งเป้ายอดขายจากสมาชิก 20% สาเหตุที่หันมาเน้นการขยายสมาชิก เพราะยอดการจ่ายเฉลี่ยต่อบิลจะสูงกว่าลูกค้าทั่วไป โดยอยู่ที่ 600 บาทต่อบิล ขณะที่ลูกค้าทั่วไปใช้จ่ายอยู่ที่ 200 บาทต่อบิล 

 

นอกจากนี้ ในปี 2566 ยังมีแผนเปิดสาขาใหม่เพิ่มอีกอย่างน้อย 6 สาขา แบ่งเป็นร้านขนาดใหญ่ 2 แห่ง และ Grab & Go ที่มีขนาด 30-40 ตารางเมตร เจาะลูกค้าที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็วเบื้องต้นเน้นเปิดในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดภูเก็ตเป็นหลัก เนื่องจากภูเก็ตเป็นหัวเมืองหลักของนักท่องเที่ยว ปัจจุบันทำรายได้อันดับ 1 รองลงมาคือโซนสุขุมวิท 

 

นงชนกกล่าวต่อว่า ในปีหน้าตั้งเป้าขยับฐานกลุ่มลูกค้าคนไทยไว้ที่ 60% และลูกค้าต่างชาติอยู่ที่ 40% ทั้งช่องทางนั่งรับประทานที่ร้าน สั่งกลับบ้าน และเดลิเวอรี พร้อมสร้างเติบโตให้ได้ 50% หรือทำยอดขายได้ประมาณ 800 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 ที่ผ่านมา ทำรายได้ 200 ล้าน เพราะสถานการณ์โควิดทำให้ยังมีบางร้านที่ยังไม่เปิดให้บริการ โดยปัจจุบันได้ทยอยกลับมาเปิดให้บริการแล้วทั้งหมด 35 สาขา รวมถึงสาขาที่อยู่ในสนามบิน 

 

แน่นอนว่าการทำตลาดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากยังมีอุปสรรครอบด้าน ทั้งเรื่องต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงการขาดแคลนแรงงานภาคบริการที่ยังเป็นปัญหา โดยผู้ประกอบการต้องปรับตัวรับมือบริหารงานให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X