×

เงินบาทแข็งค่าแตะ 29.98 บาทต่อดอลลาร์​ SCB EIC ฟันธงปีหน้าหนักกว่านี้

09.12.2020
  • LOADING...
เงินบาทแข็งค่า

การเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ (9 ธันวาคม) แข็งค่าทะลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว มาอยู่ที่ระดับ 29.98 บาทต่อดอลลาร์ (11.33 น.) เป็นระดับการแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 1 ปี โดยเงินบาทเริ่มแข็งค่าเร็วขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา คำถามคือ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นวันนี้มาจากอะไร

 

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) กล่าวว่า ปี 2563 ค่าเงินบาทผันผวนสูง โดยช่วงเดือนมีนาคม 2563 ปรับตัวอ่อนค่าสูงที่สุดในภูมิภาคราว 10% แต่เมื่อมีข่าววัคซีนส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นจนภาพรวมจากต้นปีอ่อนค่าราว 1.2% เท่านั้น 

 

โดยมองว่าวันนี้ค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง รวมถึงกระแสหลักที่เกิดขึ้น ดังนั้นกรอบค่าเงินบาทปี 2563 อยู่ที่ 30.0-30.5 บาทต่อดอลลาร์ และมองว่าปี 2564 มีแนวโน้มจะแข็งค่ามากกว่าปีนี้

 

“เงินบาทแข็งค่า 3-5% ต่อปี ผู้ประกอบการบริหารจัดการได้อยู่แล้ว แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างที่แข็งค่าสะสมมาเรื่อยๆ อาจจะกระทบต่อความน่าสนใจในการลงทุนและอื่นๆ” 

 

อย่างไรก็ตาม ปี 2564 คาดว่าแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้น โดย ณ สิ้นปี 2564 คาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ในช่วง 29.5-30.5 บาทต่อดอลลาร์ และมีความเสี่ยงที่จะแข็งค่าขึ้นไปอีกเพราะปัจจัยหลักมาจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยความผันผวนโลกมีโอกาสลดลงจากสงครามการค้าที่อ่อนตัวลง ขณะเดียวกันการขาดดุลทางการคลังที่มากขึ้นของสหรัฐฯ ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ (EM) รวมถึงตลาดการเงินไทยมากขึ้นในระยะต่อไป 

 

ทั้งนี้ปัจจัยเชิงโครงสร้างของไทยยังส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าคู่ค้าคู่แข่งโดยเฉลี่ย ได้แก่ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องในปี 2564 (คาด 3.0% ของ GDP) โดยนักลงทุนยังมองเงินบาทเป็นสกุลเงินในภูมิภาคที่ปลอดภัย รวมถึงนักลงทุนไทยยังออกไปลงทุนในต่างประเทศค่อนข้างน้อย แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเปิดเสรีให้เงินทุนไหลออกมากขึ้น และจะมีมาตรการดูแลค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง

 

ด้านนโยบายการเงิน ปี 2564 คาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% และยังมีโอกาสในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้ง หากมีความจำเป็นจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล และจะมีมาตรการเฉพาะจุดร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อช่วยส่งผ่านประสิทธิภาพนโยบายการเงินและการจัดการหนี้เสีย 

 

ขณะที่มองว่านโยบายการเงินทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คาดว่าจะคงดอกเบี้ยไปจนถึงปี 2567

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X