×

‘The Alpine Klopp’ ราล์ฟ ฮาเซนฮุทเทิล ผู้เปลี่ยนเซาแธมป์ตันให้เป็นทีมชั้นดีที่ล้มแชมป์ได้

05.01.2021
  • LOADING...
‘The Alpine Klopp’ ราล์ฟ ฮาเซนฮุทเทิล ผู้เปลี่ยนเซาแธมป์ตันให้เป็นทีมชั้นดีที่ล้มแชมป์ได้

HIGHLIGHTS

6 mins read
  • สำหรับคนในวงการฟุตบอล ราล์ฟ ฮาเซนฮุทเทิล คือ The Alpine Klopp หรือ เจอร์เกน คล็อปป์ เวอร์ชันชาวออสเตรีย เนื่องจากมีหลายสิ่งที่คล้ายกัน โดยเฉพาะสไตล์การทำทีมแบบ Gegenpressing
  • แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ฮาเซนฮุทเทิลต้องผ่านการต่อสู้อย่างหนัก บนเส้นทางที่สูงชันกว่าคล็อปป์มากนัก
  • พรสวรรค์เฉพาะตัวของกุนซือมาดนิ่งคนนี้คือการเล่นเปียโน แต่สิ่งที่ทำให้เขามีทุกวันนี้ได้ในวงการฟุตบอลคือการทำงานหนัก และสิ่งเหล่านี้ได้ถูกถ่ายทอดให้แก่นักเตะเซาแธมป์ตันทุกคน

เมื่อเสียงนกหวีดสุดท้ายดังขึ้น ราล์ฟ ฮาเซนฮุทเทิล ก็ล้มตัวคุกเข่าลงกับพื้น พร้อมสะอื้นไห้อย่างไม่อายสายตาใคร

 

ภาพดังกล่าวสร้างความประหลาดใจแก่ผู้ที่พบเห็น ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในสนามเซนต์ แมร์รี สเตเดียม หรือผู้ชมทั่วโลกหลายล้านคน ว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้จัดการทีมชาวออสเตรียของทีมเซาแธมป์ตันกันแน่?

 

ชัยชนะเหนือจ่าฝูงลิเวอร์พูล เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ก็จริงสำหรับทีมระดับกลางอย่าง The Saints แต่มันก็ไม่ใช่ชัยชนะในเกมนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วย หรือชัยชนะที่มีความสำคัญต่อโชคชะตาของทีมอะไรเสียหน่อย

 

นั่นก็ใช่ แต่สำหรับฮาเซนฮุทเทิลแล้ว ชัยชนะเหนือลิเวอร์พูล ที่มี เจอร์เกน คล็อปป์ ผู้ที่เป็นเหมือน ‘ต้นแบบ’ ของตัวเขา คือชัยชนะที่ยิ่งใหญ่เหนือสิ่งใดทั้งปวง

 

The Alpine Klopp คือสมญาที่คนในวงการลูกหนังออสเตรียใช้เรียกกุนซือผู้ที่นอกจากจะไว้หนวดเครา สวมหมวกเบสบอล ยังยึดมั่นในปรัชญาการเล่นแบบ Gegenpressing แบบเดียวกับคล็อปป์ เพียงแต่เส้นทางชีวิตของฮาเซนฮุทเทิลนั้นผ่านการเดินทางที่ดูเหมือนจะยากลำบากกว่า

 

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งยังเป็นนักเตะ ฮาเซนฮุทเทิลถูกสโมสรออสเตรีย เวียนนา ซื้อตัวมาเพื่อแทนที่ของ โทนี โพลสเตอร์ ซูเปอร์สตาร์ลูกหนังของชาวออสเตรีย (ผู้ที่ใช้เวลาว่างในการเป็นนักแสดงด้วย) ในปี 1988 และถือว่าทำผลงานได้ดี โดยมีส่วนในการพาทีมคว้าแชมป์ลีกต่อเนื่อง 3 สมัย และเริ่มได้รับการเรียกตัวติดทีมชาติ

 

เพียงแต่สุดท้ายเขาต้องผิดหวัง อดไปร่วมเล่นฟุตบอลโลก ปี 1990 และ 1998 เพียงเพราะ ‘บารมี’​ สู้รุ่นพี่ที่เวลานั้นย้ายไปเล่นให้โตริโนในเซเรีย อา ไม่ไหว

 

ความเจ็บปวดของการเป็น ‘พระรอง’ ในวันนั้น ทำให้เขาเลือกย้ายไปเล่นในเยอรมนีในช่วงบั้นปลายสุดท้ายของชีวิตการเล่น และอยู่ที่นั่นมาตลอดระยะเวลา 20 ปี

 

“หลังๆ ดูเขาพูดเหมือนคนเยอรมันมากกว่าคนออสเตรีย” อันเดรียส ไฮเดนริช นักข่าวจากหนังสือพิมพ์ Kurier ของออสเตรีย ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อครั้งที่เขาได้รับตำแหน่งผู้จัดการทีมเซาแธมป์ตันคนใหม่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว “แต่มันก็เป็นเรื่องดีสำหรับประเทศเราที่ได้มีผู้จัดการทีมคนแรกในพรีเมียร์ลีก” 

 

สำหรับไฮเดนริช ฮาเซนฮุทเทิลเป็นคนที่ได้รับความนิยมสูงในออสเตรีย ซึ่งเป็น ‘ชาติเล็กๆ ในโลกของฟุตบอล’ แต่ถึงจะเป็นคนที่มีคนชื่นชมมาก แต่การใช้ชีวิตของกุนซือหน้าหนวดคนนี้กลับเป็นไปอย่างเรียบง่าย ด้วยความที่เป็นคนถ่อมตัวและไม่ได้อยากจะเด่นจะดังอะไร

 

“เขาเล่นลูกกลางอากาศได้ดี แต่เขาไม่ค่อยได้โอกาสมากนัก เพราะเขาดันเกิดในยุคเดียวกับโพลสเตอร์”

 

ในช่วงบั้นปลายของชีวิตการเล่น ฮาเซนฮุทเทิลอยู่ในระดับทีมสำรองของบาเยิร์น มิวนิก และเป็นที่นี่เองที่เขาเริ่มได้รับโอกาสในการเรียนรู้การคุมทีม 

 

จากบาเยิร์นในปี 2004 เขาได้โอกาสในการคุมทีมเยาวชนของอุนเทอร์ฮักกิง สโมสรที่อยู่ในระดับดิวิชัน 3 ในขณะนั้นก่อนจะถูกโปรโมตขึ้นคุมทีมชุดใหญ่ในอีก 3 ปีต่อมา และถูกปลดจากตำแหน่งในปี 2010 

 

ฮาเซนฮุทเทิลผจญภัยต่อไปกับทีม VFR อาเลน ซึ่งเป็นทีมที่เขาเริ่มพัฒนาสไตล์การเล่นในแบบ Gegenpressing ซึ่งเริ่มถูกนำไปเปรียบเทียบกับสไตล์การเล่นในทีมของ เจอร์เกน คล็อปป์ คนที่เกิดในฤดูร้อนของปี 1967 และร่ำเรียนคอร์สเดียวกันในระหว่างการอบรมเพื่อเป็นโค้ช 

 

เพียงแต่ในขณะที่คล็อปป์ได้โอกาสในการคุมทีมไมนซ์ 05 ทันทีเมื่อเลิกเล่น ฮาเซนฮุทเทิลต้องพยายามอย่างมาก กว่าที่จะได้โอกาสในการคุมทีมระดับท็อปจริงๆ

 

ด้วยสไตล์เพรสซิ่งที่ดุดัน อาเลนสามารถเลื่อนชั้นมาอยู่ในระดับบุนเดสลีกา 2 (ดิวิชัน 2) ได้เป็นครั้งแรก และก้าวต่อมาคือการเปลี่ยนอิงโกลสตัดท์ จากทีมที่ลุ้นหนีตกชั้นเมื่อครั้งรับตำแหน่งในปี 2013 มาเป็นทีมที่คว้าแชมป์บุนเดสลีกา 2 และได้เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดในที่สุด

 

ฤดูกาลแรกในการคุมทีมลีกสูงสุด ฮาเซนฮุทเทิลพาอิงโกลสตัดท์เข้าป้ายเป็นอันดับที่ 11 ก่อนจะได้โอกาสในการคุมทีมหน้าใหม่ที่แหวกทุกขนบธรรมเนียมของสโมสรฟุตบอลในเยอรมนีอย่างแอร์เบ ไลป์ซิก และสามารถสร้างปรากฏการณ์พาทีมที่ขึ้นชั้นมาใหม่ไร้พ่ายติดต่อกันได้ยาวนานที่สุด ก่อนจบฤดูกาลด้วยการเป็นรองแชมป์ต่อจากบาเยิร์น มิวนิก เพียงทีมเดียว และได้สิทธิ์ในการไปเล่นยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกทันที

 

ผลงานนั้นเข้าขั้นมหัศจรรย์ เพียงแต่เวทมนตร์ของเขากลับใช้ไม่ได้ผลเหมือนเดิมอีกในฤดูกาลต่อมา และทำให้เขาต้องไปจากไลป์ซิก โดยมี ราล์ฟ รังนิก ผู้อำนวยการสโมสร ดูแลตำแหน่งแทนในระหว่างที่ทีมรอคอยการมาถึงของ ยูเลียน นาเกิลส์มันน์ โค้ชอนาคตไกลของวงการลูกหนังเมืองเบียร์

 

‘The Alpine Klopp’ ราล์ฟ ฮาเซนฮุทเทิล ผู้เปลี่ยนเซาแธมป์ตันให้เป็นทีมชั้นดีที่ล้มแชมป์ได้

สจวร์ต อาร์มสตรอง หนึ่งในนักเตะที่ฮาเซนฮุทเทิลปั้นจนได้ดี

 

นักเปียโนพรสวรรค์ ผู้เชื่อมั่นในคำว่าพรแสวง

หากใครได้มีโอกาสพักอยู่ในโรงแรมที่พักเดียวกับทีมเซาแธมป์ตันในคืนก่อนแข่งแล้ว อาจจะได้เห็นหนุ่มใหญ่ชาวออสเตรีย สูง 6 ฟุต 3 นิ้ว นั่งพรมนิ้วอยู่บนเปียโนที่มุมใดสักมุมของโรงแรมแห่งนั้น

 

แน่นอนว่าเพลงที่บรรเลงในสถานที่แบบนี้ย่อมไม่ใช่เพลง หนูมาลีมีลูกแมวเหมียว เพราะสิ่งที่ถูกระบายออกมาผ่านปลายนิ้วคือบทเพลงที่มีความซับซ้อนและปลุกเร้าในทีอย่าง Bohemian Rhapsody หรือ The Show Must Go On ของวง Queen

 

อาจจะยากที่จะบอกได้ว่าฝีมือในการเล่นเปียโนของเขานั้นอยู่ในระดับทำมาหากินได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยสำหรับคนทั่วไปแล้ว ฮาเซนฮุทเทิลถือเป็นนักเปียโนพรสวรรค์คนหนึ่ง

 

“บางครั้งพวกเด็กๆ ก็มาฟังผมเล่นบ้าง” ราล์ฟเล่าถึงเรื่องที่เขาไม่ได้อยากจะโอ้อวดอะไรนัก แต่แอบหยอกให้น่าคิดว่าเซาแธมป์ตันจะเลือกโรงแรมที่พักสักที่ในยุคนี้ หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือโรงแรมแห่งนั้นมีเปียโนที่ดีขนาดไหน

 

เพราะที่บ้านหลังใหม่ในอังกฤษ เขามีเปียโนอย่างหรู Steinway ที่ซื้อใหม่สำหรับบ้านหลังนี้โดยเฉพาะ ขณะที่บ้านในเยอรมนีเป็นแกรนด์เปียโนของ Blüthner 

 

การเล่นเปียโนนั้นเป็นการบำบัดจิตใจอย่างหนึ่งสำหรับกุนซือคนนี้ “เวลาที่ผมอารมณ์ดี ผมก็อยากจะให้รางวัลตัวเองด้วยการเล่นเพลงยากๆ แต่ถ้าอารมณ์ไม่ดีนักผมก็จะเล่นเพลงง่ายๆ เพราะมันทำให้ผมมีความสุข ลดความโกรธในเวลาที่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้”

 

สำหรับเพลงที่เขาเล่นในเวลานี้ส่วนใหญ่เป็นเพลงป๊อปเก่าๆ ของวง Queen, เอลตัน จอห์น เป็นต้น

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ ฮาเซนฮุทเทิลบอกว่า เขาไม่ได้แค่ ‘ฟัง’ แต่เขา ‘สัมผัส’ เพลงผ่านความรู้สึก และมันมีส่วนช่วยในการทำให้ลืมทุกเรื่องบนโลก การเล่นเปียโนยังเป็นเรื่องที่ดีต่อสมองด้วย เพราะเวลาเล่นต้องใช้มือทั้งสองข้างไปด้วยกัน นั่นหมายถึงการได้ใช้สมองทั้งสองส่วน

 

ฮาเซนฮุทเทิลเชื่อว่า การเล่นเปียโนหรือการเล่นดนตรีอะไรก็ตามเป็นสิ่งที่ดีมาก สิ่งสำคัญคือ อย่าคิดว่ามันยากหรือเป็นไปไม่ได้ ในทางตรงกันข้ามเมื่อได้ลองแล้วครั้งหนึ่ง ก็อาจจะประหลาดใจในความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ของมนุษย์

 

แม้กระทั่งคุณแม่วัย 80 ปีของเขายังเล่นเปียโนไปด้วยเลย

 

สิ่งที่ซ่อนในการฝึกเล่นเปียโนนั้นคือ ‘ความท้าทาย’ และนั่นเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ฮาเซนฮุทเทิลมีในตัวอย่างเต็มเปี่ยม และคือสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เขาเปลี่ยนแปลงเซาแธมป์ตันให้กลายเป็นทีมที่ดีเหมือนในปัจจุบันได้

 

โดยอีกคีย์เวิร์ดสำคัญคือ ‘การทำงานหนัก’

 

“ผมเองไม่ใช่คนที่มีพรสวรรค์สูงที่สุดในเกมฟุตบอล แต่ผมเป็นคนที่ทำงานหนัก สนใจที่จะเรียนรู้และพยายามทำให้ดีขึ้น ซึ่งความคิดนี้ทำให้ผมดีขึ้นเรื่อยๆ”

 

เจอร์เกน คล็อปป์ กลายเป็นคนต้องปลอบ ราล์ฟ ฮาเซนฮุทเทิล ที่หลั่งน้ำตาหลังเอาชนะคู่แข่งในใจได้


ความสุขที่เรียบง่ายของฮาเซนฮุทเทิล

“นานมากแล้วที่ทีมนี้ต้องหนีตกชั้นตลอดเวลา และบอกตัวเองว่ารอดแล้ว รอดแล้ว มันจึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนความคิดใหม่ทั้งหมด” ฮาเซนฮุทเทิลกล่าวถึงงานในการคุมทีมนักบุญ 

 

2 ปีนับจากที่เขารับตำแหน่งผู้จัดการทีมมา เซาแธมป์ตันมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก จากทีมที่ย่ำแย่อย่างหนักในช่วงที่เขารับตำแหน่ง จากทีมที่เคยโดนเลสเตอร์ ซิตี้ ถล่มแบบย่อยยับ 9-0 (จนหลายคนเชื่อว่าเขาน่าจะถูกปลดตั้งแต่วันนั้น) มาวันนี้เซาแธมป์ตันเอาชนะแชมป์พรีเมียร์ลีกอย่างลิเวอร์พูลได้อย่างน่าชื่นชม

 

สโมสรตอนใต้แห่งนี้อาจไม่ได้เป็นสโมสรใหญ่ ไม่มีเงินซื้อนักเตะค่าตัวแพง 50-60 ล้านปอนด์ได้ และดูคล้ายเป็นการก้าวถอยหลังเมื่อเทียบกับงานที่ไลป์ซิก แต่อย่างน้อยสำหรับฮาเซนฮุทเทิล นี่คือทีมที่เขาสามารถเป็นตัวของตัวเอง ถ่ายทอดความคิดของตัวเอง และมีความเชื่อใจกันและกันเต็มร้อย

 

สิ่งเหล่านี้คือที่มาของการเล่นที่น่าประทับใจของเซาแธมป์ตันในเวลานี้ หนึ่งในทีมที่กล้าพูดได้เต็มปากว่าเป็นทีมที่เล่น Good Football สวยงาม ลื่นไหล ฉลาด และมีประสิทธิภาพ ต่อให้จะขาดบางสิ่งบางอย่างที่ทีมใหญ่มี (ก็คือคุณภาพของผู้เล่นในระดับท็อปตัวจริงที่สร้างความแตกต่างได้) แต่นี่คือที่ทีมที่เขาภาคภูมิใจ

 

กุนซือชาวออสเตรียผู้ไม่ชอบทำตัวเด่นยังเชื่อว่า เมื่อวัยมากขึ้น ภาพที่มองก็กลายเป็นภาพใหญ่ขึ้น เขาจึงเข้าใจการทำทีมฟุตบอลที่ดีขึ้นกว่าในวันวาน รู้ว่าในขณะที่ทีมตั้งเป้าหมายในระยะยาวที่อยากจะไปให้ถึง ความสำเร็จในระยะสั้นที่จะเป็นรางวัลและแรงจูงใจก็สำคัญไม่น้อยด้วย

 

ทุกวันนี้เขาได้วางรากฐานเอาไว้ให้กับสโมสรทางตอนใต้ของอังกฤษแห่งนี้ เป็นคัมภีร์ที่ทุกคนต้องศึกษาและทำตาม (รวมถึงการกดปุ่ม Trigger ที่เขาบอกว่ามีถึง 6 ระดับสำหรับคู่แข่งที่แตกต่างกันในพรีเมียร์ลีก!) 

 

“เราวิ่งกันเยอะ ใช้พลังงานมากมาย เสียเลือด เสียเหงื่อ เสียน้ำตากันไม่น้อยในการต่อสู้ แต่เมื่อกลับออกจากสนามพร้อม 3 คะแนน ก็ถือว่าคุ้มค่า” สจวร์ต อาร์มสตรอง กองกลางหนึ่งในดาวเด่นของทีมเวลานี้ เล่าถึงการทำงานของนายใหญ่ผู้ใช้ระบบการเล่น 4-2-2-2 และสไตล์การเพรสซิ่งที่หนักหน่วงรวดเร็ว

 

“เจ้านายบอกชัดเจนว่าเขาต้องการให้ทุกคนทุ่มเทเต็มที่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ผมเองก็พอรู้ว่ามันไม่ได้ง่าย ซึ่งเอาเข้าจริงมันก็เป็นเรื่องยากมาก แต่ผลลัพธ์สุดท้ายก็ถือว่าน่าพอใจอย่างมาก”

 

ความจริงแล้วเป้าหมายของเซาแธมป์ตันในฤดูกาลนี้เขามองไว้แค่การติดท็อป 10 ก็เพียงพอแล้ว

 

แต่ชัยชนะเหนือลิเวอร์พูลทำให้พวกเขาอยู่ในอันดับ 6 ที่ตามหลังจ่าฝูงและแชมป์เก่าอยู่เพียงแค่ 4 คะแนน มีแต้มเท่ากับท็อตแนม ฮอตสเปอร์ และแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่อันดับสูงกว่าเพราะประตูได้เสีย (แข่งน้อยกว่า 1 และ 2 นัดตามลำดับ) 

 

โอกาสที่จะฝันไกลกว่านั้นก็มี และไม่ใช่ปัญหาอะไรสำหรับเขา

 

แต่ถ้าถามถึงสิ่งที่มีความสุขมากที่สุดสำหรับฮาเซนฮุทเทิลในเวลานี้?

 

“สิ่งที่ทำให้มีความสุขมากที่สุดคือการเป็นโค้ช คือการที่เอาชนะทีมที่มีคุณภาพที่เหนือกว่าคุณได้ และนั่นทำให้ผมรักงานนี้” 

 

การชนะลิเวอร์พูล การชนะคล็อปป์ หนึ่งในคนที่เขาชื่นชมและไม่เคยเอาชนะได้เลยก่อนหน้านี้ ก็น่าจะเป็นความสุขของเขา

 

และไม่แปลกอะไรที่ผู้ชายอ่อนไหวในความรู้สึกคนนี้จะทรุดลงกับพื้นพร้อมหลั่งน้ำตาเมื่อสัญญาณของชัยชนะมาถึง

 

“ไม่มีอะไรนี่ ลมมันเข้าตา อากาศมันเย็นน่ะ” เป็นการแก้ตัวแบบน้ำขุ่นๆ ของเขาที่สร้างรอยยิ้มให้กับเราทุกคน 🙂

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising