×

เงินบาท ‘แข็งค่า’ อันดับต้นๆ ของภูมิภาคในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร

02.09.2024
  • LOADING...
เงินบาท

ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (ตั้งแต่สิ้นมิถุนายน-สิ้นสิงหาคม) เงินบาท แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยไปทำสถิติแข็งค่าที่สุดใหม่ของปีที่ราว 33.8 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567

 

เมื่อเทียบกับหลายประเทศในเอเชียพบว่า เงินบาท ไทยแข็งเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาคในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เป็นรองเพียงเยนญี่ปุ่นและริงกิตมาเลเซีย

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี (YTD) เงินบาท นับว่าเคลื่อนไหวทรงตัว โดยแข็งค่าขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

เปิดเหตุผล ทำไมบาทแข็งค่า

 

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน BOT Monthly Briefing โฆษกพบสื่อ เดือนสิงหาคม 2567 โดยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเฉลี่ยแข็งค่าขึ้น เนื่องจาก 3 ปัจจัยหลักดังนี้

 

  1. ตลาดปรับเพิ่มคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หลังตัวเลขเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด
  2. การแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินเยนจากธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่ตลาดคาด
  3. แรงกดดันจากราคาทองคำที่เพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ดี ชญาวดียืนยันว่า ธปท. ดูแลค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ผันผวนมากเกินไป เพื่อไม่ให้ภาคธุรกิจรู้สึกว่าไม่สามารถปรับตัวได้ทัน กระนั้น ธปท. สังเกตว่าภาคธุรกิจไทยเก่งขึ้น เข้มแข็งขึ้น และเรียนรู้การใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น Options เพื่อป้องกันความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น

 

เงินบาทแข็ง ใครได้ประโยชน์

 

  • ผู้นำเข้า ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าต่างประเทศที่ถูกลง ช่วยลดต้นทุนการนำเข้าสินค้า
  • ประชาชน ซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศได้ถูกลง
  • ผู้ลงทุน นำเข้าสินค้าทุนได้ถูกลง
  • ผู้เป็นหนี้กับต่างประเทศ มีภาระหนี้ลดลง เพราะใช้เงินบาทน้อยลงในการชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ

 

เงินบาทแข็ง ใครเสียประโยชน์

 

  • ผู้ส่งออก เสียประโยชน์จากราคาสินค้าที่แพงกว่าคู่แข่ง ทำให้มีรายได้ในรูปของเงินบาทลดลง
  • คนทำงานต่างประเทศ นำรายได้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศ มาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง
  • ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่รับเงินสกุลต่างประเทศ นำรายได้มาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง

 

กระทรวงพาณิชย์มอง บาทแข็งไม่กระทบเป้าส่งออก

 

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังการแถลงข่าวภาพรวมการส่งออกไทย 7 เดือนแรกของปี 2567 ยังขยายตัว 3.8% หลังการขยายตัว 15.2% ในเดือนกรกฎาคม โดยระบุว่า แนวโน้มเดือนสิงหาคมคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง

 

ถึงแม้ว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบพอสมควร แล้วแต่ประเภทสินค้า แต่ยังไม่คิดจะปรับเป้าส่งออกทั้งปี 2567 โดยคงเป้าหมายเดิมไว้ที่ 1-2%

 

กรุงไทยให้กรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ 33.75-34.50 บาทต่อดอลลาร์

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ 33.75-34.50 บาทต่อดอลลาร์

 

“สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าเงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้น หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทยอยออกมาดีกว่าคาด ทว่าเงินบาทกลับไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก หนุนโดยโฟลวธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ แรงขายเงินดอลลาร์จากบรรดาผู้ส่งออก และจังหวะซื้อสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติ”

 

พร้อมทั้งกล่าวว่า สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่าควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ พร้อมจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง Fed, BOE และ ECB

 

“แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลง แต่ก็มีความเสี่ยงผันผวนสองทิศทาง (Two-Way Volatility) ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ย Fed นอกจากนี้ควรจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจกระทบทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) ทิศทางฟันด์โฟลวนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ ซึ่งมีผลกับทิศทางเงินบาทได้เช่นกันในช่วงนี้”

 

Krungthai GLOBAL MARKETS ยังแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม เช่น Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward

 

 

ภาพประกอบ: กันยกร กาญจนวิไล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising