×

ถาวรรุกตรวจสอบการบินไทย พบปัญหาสินบน-ค่าใช้จ่ายพุ่ง เจอพนักงาน 1 คนทำโอทีถึง 419 วัน

โดย efinanceThai
29.08.2020
  • LOADING...
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เครื่องบิน

ถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ได้เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบการขาดทุนของ THAI ว่าจะทำงานเต็มความสามารถ ซึ่งจะรายงานผลการตรวจสอบให้กับกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และนำเรียนนายกรัฐมนตรีต่อไป

 

โดยจุดเริ่มต้นของการขาดทุนต้องย้อนไปในปี 2551 ซึ่งนับเป็นเวลา 3 ปีจากเที่ยวบิน A340 เริ่มทำการบิน การบินไทยขาดทุนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การก่อตั้งบริษัทมา 60 ปี เป็นมูลค่า 21,450 ล้านบาท ต้องแก้ปัญหาด้วยการออกหุ้นกู้เป็นครั้งแรก รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกจำนวนมหาศาลที่เป็นการใช้เงินแบบไม่สมเหตุสมผล มีการเสียเงินแบบไม่น่าเสีย และส่อไปในทางทุจริต

 

คณะทำงานฯ พบว่าปัญหาการขาดทุนของการบินไทยจำนวนไม่ต่ำกว่า 62,803.49 ล้านบาท มาจากการจัดซื้อเครื่องบินรุ่น A340 จำนวน 10 ลำนั้น เป็นผลมาจากปัจจัย 3 ประการคือ

 

  1. การบินไทยไม่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด

 

  1. ปัญหาการจ่ายสินบนของบริษัทโรลส์-รอยซ์ ผ่านนายหน้าคนกลางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและพนักงานการบินไทย วงเงินกว่า 254 ล้านบาท ในการเอื้อประโยชน์ให้มีการจัดซื้อเครื่องยนต์อะไหล่ 7 เครื่องยนต์ และการซ่อมบำรุงแบบเหมาจ่าย Total Care Agreement

 

  1. มีข้อมูลการจ่ายเงินสินบนไม่ต่ำกว่า 5% หรือประมาณ 2,652 ล้านบาทผ่านนายหน้าคนกลาง ให้กับนักการเมือง เจ้าหน้าที่ และพนักงานการบินไทย แลกกับการจัดซื้อเครื่องบินรุ่น A340 จำนวน 10 ลำ

 

“ผมและคณะทำงานฯ ทำงานอย่างเต็มความสามารถ เพื่อตอบข้อสงสัยของสังคมเกี่ยวกับการขาดทุนของการบินไทยที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2551” ถาวรกล่าว 

 

ด้าน พล.ต.ท. ชาญเทพ เสสะเวช อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ตัวแทนคณะทำงานตรวจสอบ กล่าวว่าคณะทำงานฯ มีเวลาเพียง 43 วัน มีการแต่งตั้งคณะทำงานชุดย่อย 6 คณะ มีการประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง มีผู้มาให้ข้อมูลทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผยไม่น้อยกว่า 100 คน มีการตรวจสอบรายงานการประชุมของคณะกรรมการชุดต่างๆ ของบริษัทย้อนหลัง 3 ปี คือปี 2560-2562 จนกระทั่งการบินไทยพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563

 

ทั้งนี้การใช้จ่ายของ THAI ที่ขาดการตรวจสอบถ่วงดุล ส่อให้เกิดการทุจริต ซึ่งเกี่ยวพันกับการทำสัญญาต่างๆ และการบริหารงานที่เอื้อประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง คณะทำงานฯ ได้ตรวจสอบช่วงปี 2560-2562 ซึ่งการบินไทยขาดทุนรวมไม่ต่ำกว่า 25,659 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงมาก 

 

เช่น ค่าโอทีของฝ่ายช่างสูงถึง 2,022 ล้านบาท โดยตรวจพบพนักงาน 1 คน ทำโอทีสูงสุดได้ถึง 3,354 ชั่วโมง มีวันทำโอทีถึง 419 วัน แต่ 1 ปีมีเพียง 365 วัน มีการจัดหาเครื่องบินรุ่น B787-800 จำนวน 6 ลำ แบบเช่าดำเนินงาน โดยแต่ละลำมีราคาไม่เท่ากัน มีส่วนต่างของราคาต่างกันถึง 589 ล้านบาท ทั้งที่เป็นเครื่องบินแบบเดียวกัน มีการจ่ายค่าชดเชยการคืนสภาพเครื่องบินแบบเช่าดำเนินงาน รุ่น A330-300 จำนวน 2 ลำ สูงถึง 1,458 ล้านบาท

 

มีผู้รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษในอัตราเดือนละ 2 แสนบาท ผ่านไป 9 เดือนเพิ่มเป็น 6 แสนบาท โดยอ้างแนวปฏิบัติที่เคยทำมา และยังมีอีกมากมายในหลายๆ แผนก ทั้งการขายตั๋ว การโฆษณา การจัดซื้ออุปกรณ์บนเครื่องบิน ครัวการบินไทย น้ำมันเชื้อเพลิง

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

รายงาน: สุรเมธี มณีสุโข 

ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising