×

1,251 วันที่กลุ่ม LGBTQIA+ เฝ้ารอ ธัญวัจน์ สส. ก้าวไกล รู้สึกยินดีมากที่รัฐบาลส่ง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เข้าสภา 12 ธ.ค. นี้

โดย THE STANDARD TEAM
22.11.2023
  • LOADING...

วันนี้ (22 พฤศจิกายน) ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม) โดยจะมีการประชุม ครม. และมีมติส่งร่างกฎหมายให้สภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ว่า รู้สึกยินดีมาก หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ก็มีการเคลื่อนไหวของประชาชน ภาคประชาสังคม ในประเด็นความเสมอภาคทางเพศ ความเป็นธรรมทางกฎหมายในประเด็นนี้มาอย่างยาวนาน

 

ธัญวัจน์กล่าวอีกว่า ในวันที่ 18 มิถุนายน 2563 ตนและพรรคก้าวไกลยื่นร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสภา นี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม แฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม ขึ้นอันดับหนึ่งครั้งแรกในประเทศไทย และเป็นกระแสอีกหลายวาระต่อมา จนถึงวันนี้ใช้เวลา 1,251 วัน ซึ่งเป็นสิทธิของการก่อตั้งครอบครัวที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศเฝ้ารอ ในที่สุด ครม. นำกฎหมายดังกล่าวส่งให้สภาผู้แทนราษฎรเดือนธันวาคมนี้ สังคมเข้าใจและเห็นร่วมกันแล้วว่าสิทธิสมรสเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนสมควรได้รับ

 

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมและร่างกฎหมายการรับรองเพศสภาพของพรรคก้าวไกลก็ถูกบรรจุในวาระการประชุมสภาแล้ว เมื่อมีร่างของ ครม. ที่มีหลักการเดียวกันเข้ามาประกบทั้งสองฉบับจะถูกพิจารณาร่วมกัน เชื่อว่าจะทำให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรวดเร็ว และได้รับการสนับสนุนจากทุกพรรคการเมือง ทำให้ความฝันความหวังของผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นจริง

 

“ภูมิใจที่ได้ปักธงนำเรื่องนี้ในสังคม ทำให้สมรสเท่าเทียมติดแฮชแท็กอันดับ 1 เป็นชัยชนะของประชาชน จนถึงวันนี้ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันและพร้อมผลักดันความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายให้เกิดขึ้น” ธัญวัจน์กล่าว

 

เปิดสาระสำคัญร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับรัฐบาลเศรษฐา

 

สำหรับสาระสำคัญในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (สมรสเท่าเทียม) นั้นเพื่อให้บุคคลสองคนไม่ว่าเพศใดสามารถทำการหมั้นและสมรสกันได้ รวมทั้งแก้ไขบทบัญญัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นมีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัว เท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิง ซึ่งจะเปลี่ยนจาก ‘ชาย-หญิง’ เป็น ‘บุคคล-บุคคล’ และ ‘ผู้หมั้น-ผู้รับหมั้น’

 

สำหรับหลักการและเหตุผลของกฎหมายระบุไว้ว่า เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายให้การรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งแตกต่างจากสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีคู่รักเพศเดียวกันอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวจำนวนมาก โดยขาดเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดการความสัมพันธ์ทางครอบครัว

 

ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อครอบครัวหลากหลายทางเพศหลายประการ เช่น สิทธิในการตัดสินใจในการรักษาพยาบาล สิทธิในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน และสิทธิในการรับมรดก

 

ประกอบกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ซึ่งได้แถลงต่อรัฐสภาว่า รัฐบาลจะผลักดันให้มีกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มหลากหลายทางเพศ นายกรัฐมนตรีจึงมีข้อสั่งการให้กระทรวงยุติธรรมเร่งดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (สมรสเท่าเทียม) ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในประเทศไทย ทั้งในมิติด้านสังคมและการสร้างครอบครัว โดยจะทำให้เกิดการยอมรับในทางกฎหมายกับการสร้างครอบครัว การอยู่ร่วมกันของบุคคลมีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสเพศเดียวกัน

 

ไม่กระทบชาวมุสลิม

 

ส่วนความกังวลต่อกรณีผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดปัตตานี) นั้น ใน 3 จังหวัดมีการใช้กฎหมายชารีอะห์ หรือกฎหมายอิสลาม (Personal Law) ที่ว่าด้วยครอบครัวและมรดกเป็นเฉพาะอยู่แล้ว ดังนั้นยืนยันว่าร่างกฎหมายนี้จะไม่กระทบกับชาวมุสลิม

 

สำหรับพื้นที่ชายแดนใต้ในกรณีที่โจทก์และจำเลยที่เป็นมุสลิมจะต้องใช้กฎหมายอิสลาม จะใช้กฎหมายแพ่งไม่ได้ แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้เป็นชาวมุสลิม ก็ต้องใช้กฎหมายของแผ่นดิน ซึ่งกฎหมายอิสลามจะใช้ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสงขลา

 

ประชาชน 96% ‘เห็นชอบ’

 

กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในรูปแบบออนไลน์ทางเว็บไซต์ law.go.th และระบบ Google Forms บนเว็บไซต์ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม – 14 พฤศจิกายน 2566 และได้รับฟังความคิดเห็นร่วมกับผู้แทนกลุ่มศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566

 

รวมถึงผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอ (Video Conference) ร่วมกับทุกภาคส่วนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 4 ครั้ง ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน – 10 พฤศจิกายน 2566 โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการและรับฟังความเห็นในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 โดยมีผู้แทนภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม กลุ่มความหลากหลายทางเพศ และประชาชน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างกว้างขวาง

 

รวมทั้งได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นร่วมกับผู้แทนส่วนราชการวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 โดยส่วนใหญ่เห็นชอบในหลักการด้วย 96%

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising