×

แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ และเครือข่าย ยื่นหนังสือ 5 ประเทศ สะท้อนถึงผู้นำร่วมประชุม APEC เรื่องสิทธิมนุษยชน

โดย THE STANDARD TEAM
15.11.2022
  • LOADING...

วันนี้ (15 พฤศจิกายน) เครือข่ายกลุ่มเคลื่อนไหวประกอบด้วย แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มทะลุวัง, กลุ่มศาลายาเพื่อประชาธิปไตย, We Volunteer, โดมปฏิวัติ, เครือข่ายแรงงาน, Supporter Thailand (SPT), กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group (DRG), กลุ่มทะลุแก๊ส, กลุ่มคณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112) และคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) 

 

กลุ่มดังกล่าวได้ยื่นหนังสือถึงเอกอัครราชทูตประจำประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา พร้อมอ่านแถลงการณ์เกี่ยวกับการจัดการประชุม APEC และประเด็นที่ต้องการสื่อสารถึงผู้นำประเทศต่างๆ ที่มาร่วมประชุม

 

ในแถลงการณ์ระบุว่า การเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้เพื่อแจ้งให้ทราบถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในปัจจุบัน และจุดยืนที่มีต่อการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC ประจำปี 2565 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

 

ภายหลังการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีในปี 2562 ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่ปกติ ส่งผลให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง การกลับมาของรัฐบาลเผด็จการ นำไปสู่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วประเทศ 

 

ในปี 2563 มีข้อเรียกร้องที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และองคาพยพ ต้องลาออก 2. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3. ปฏิรูปสถาบันฯ

 

แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า รัฐใช้กำลังและความรุนแรงในการเข้าสลายการชุมนุมโดยสันติของประชาชน ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 526 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิตเป็นเยาวชนที่มีอายุเพียง 15 ปีเท่านั้น ประการที่สอง มีการดำเนินคดีมาตรา 112 กับนักกิจกรรมทางการเมืองและประชาชนเป็นจำนวนมาก อย่างน้อย 217 ราย ใน 236 คดี 

 

ซึ่งจำนวนนี้รวมไปถึงเยาวชนที่ออกมาใช้สิทธิทางการเมืองด้วย นอกเหนือจากนี้ยังมีการดำเนินคดีอื่นๆ กับประชาชน เช่น มาตรา 116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประการที่สาม ผู้ต้องหาในคดีทางการเมืองเผชิญกับความผิดปกติ และไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรมภายใต้ ICCPR รัฐบาลเผด็จการใช้ตุลาการเป็นเครื่องมือสำคัญในการพิพากษาประชาชน 

 

ที่ผ่านมาในการพิพากษาคดีทางการเมืองมักมีความผิดปกติต่างๆ เกิดขึ้น เช่น ปฏิเสธการให้สิทธิการประกันตัวในคดีทางการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิที่ถูกระบุไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคี, บังคับผู้ต้องหาในคดีทางการเมืองติดอุปกรณ์ติดตาม หรือ EM ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการประกันตัว, ศาลปฏิเสธไม่ให้จำเลยใช้หลักฐานของตนเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่มีการพาดพิงในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ และปฏิเสธไม่อนุญาตให้มีผู้สังเกตการณ์ในการสืบพยานคดีมาตรา 112

 

มากไปกว่านั้น นักกิจกรรมทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตย นักการเมือง และ NGOs ไม่น้อยกว่า 30 ราย ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิมนุษยชน จากการใช้สปายแวร์ในเครื่องมือสื่อสาร และการแอบติดอุปกรณ์ GPS ในรถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อสอดส่องข้อมูลส่วนตัว ดักจับสัญญาณ และติดตามความเคลื่อนไหวของประชาชนในทุกย่างก้าว

 

ดังนั้น เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในฐานะตัวแทนจากประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จะมีการพิจารณาถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากรัฐบาลไทยดังที่กล่าวมาในจดหมายฉบับนี้ เพราะเราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุม APEC ไม่ควรเป็นเวทีในการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้นำที่ได้อำนาจมาจากกระบอกปืน ไม่ใช่อาณัติของประชาชน

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising