×

ทศวรรษถัดไปของไทย ธุรกิจโตอย่างไร เมื่อคนไทยกว่า 40% เข้าสู่วัยเกษียณ

11.09.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • เกียรตินาคินภัทรมองว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยจะเปลี่ยนไปอย่างมากตามโครงสร้างประชากรที่คนไทยมากกว่า 40% จะเข้าสู่วัยเกษียณและเตรียมเกษียณ การบริโภคจะเริ่มชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ตลาดสินค้าในประเทศไม่เติบโตได้มากเหมือนในอดีต และการขาดแคลนแรงงานจะซ้ำเติมให้ไทยดึงดูดการลงทุนได้น้อยลง  
  • ธุรกิจดั้งเดิมที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เช่น รถยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม และเสื้อผ้า จะไม่สามารถขยายตัวได้ดีเหมือนเก่า มีเพียงบางธุรกิจที่ยังสามารถขยายตัวได้ดีตามแนวโน้มสังคมสูงวัย เช่น อุตสาหกรรมยา สุขภาพ โรงพยาบาล ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย และบริการอื่นๆ   
  • ภาวะสังคมสูงวัยมีส่วนสร้างแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และเงินบาทแข็งค่า อีกทั้งยังสร้างความท้าทายและข้อจำกัดต่อนโยบายการเงินและนโยบายการคลังในระยะต่อไป 
  • ภาคธุรกิจและภาครัฐต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น โดยหาโอกาสทางธุรกิจที่สอดคล้องกับโครงสร้างประชากรในอนาคต เน้นพัฒนาทักษะแรงงานและเทคโนโลยีเพื่อชดเชยแรงงานที่หายไป 

เศรษฐกิจไทยเป็นขาลงอย่างต่อเนื่องทั้งจากวิกฤตโควิด-19 และอุปสรรคด้านอื่นๆ ยิ่งมองไปในอนาคต ช่วง 10 ปีจากนี้เศรษฐกิจไทยจะเจอความท้าทายอะไรบ้าง 

 

เศรษฐกิจไทยเมื่อปัจจัยขับเคลื่อนหลักกำลังหายไป

ข้อมูลวิเคราะห์จากเกียรตินาคินภัทรชี้ว่า โครงสร้างประชากรของไทยเมื่อย้อนดูตามโครงสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงทศวรรษที่ 1980 นับเป็นยุคแห่งการลงทุน (Investment Boom) เพราะมีการลงทุนในสัดส่วนที่สูง โดยส่วนหนึ่งมาจากแรงขับเคลื่อนที่ประชากรอยู่ในวัยเติบโต ทำให้ตลาดในประเทศมีศักยภาพการเติบโตสูงทั้งในสายตานักลงทุนไทยและต่างชาติ 

 

ขณะที่ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นยุคที่การบริโภคขยายตัว (Consumption Boom) ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยทำงานและเป็นช่วงสร้างครอบครัว มีทั้งกำลังซื้อและความต้องการในการใช้จ่ายสูง และช่วงทศวรรษที่ 2000 และ 2010 พิจารณาจากฝั่งการผลิต เศรษฐกิจสามารถพึ่งพาประชากรกลุ่มที่มีผลิตภาพสูง ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานมาในระดับหนึ่ง และเป็นกำลังการผลิตที่สำคัญของประเทศ

 

ทว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า โครงสร้างประชากรทั้ง 3 กลุ่มที่เคยเป็นแรงหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะลดจำนวนลงเพราะภาวะสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว และทำให้ไทยกลายเป็นประเทศสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปีหน้า (2021) เป็นประเทศที่สองของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ซึ่งกลุ่มคนที่เตรียมเกษียณอายุ (Pre-retirement) หรือเกษียณอายุแล้ว (Retirement) จะมากขึ้น และจะมีสัดส่วนเกินกว่า 40% ของประชากรไทยทั้งหมดในปี 2030

 

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนี้เริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และกำลังจะรุนแรงขึ้น ซึ่งจะเชื่อมโยงกับปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ มากกว่าปัญหาด้านสุขภาพและภาระทางการคลัง

 

เมื่อไทยแก่ก่อนรวย

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วในสถานการณ์ที่ต่างจากประเทศอื่น โดยประเทศส่วนใหญ่ที่เข้าสู่สังคมสูงวัย เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ประชากรโดยเฉลี่ยมีรายได้สูง ขณะที่ประชากรไทยกำลังแก่ชราลงในเวลาที่ประเทศไทยยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีรายได้ไม่สูงเท่าประเทศอื่นๆ เรียกว่าเป็นประเทศที่ ‘แก่ก่อนรวย’

 

 

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย เรื่องที่จำเป็นต้องเร่งทำคือการสร้างระบบสวัสดิการเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขที่สร้างการเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมตามความต้องการที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต รวมทั้งภาระทางการคลังที่จะเพิ่มขึ้นตามมาจากการใช้จ่ายด้านรัฐสวัสดิการที่จะสูงขึ้น

 

ทว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยยังเป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจและเชื่อมโยงกับปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ อย่างที่เราอาจไม่คาดคิด เช่น


1. ด้านอุปสงค์จากกำลังซื้อของคนในประเทศที่จะเริ่มหดตัวลง ส่งผลต่อเนื่องไปถึงภาวะการลงทุนที่จะชะลอลง


2. ด้านอุปทานจากปัญหาขาดแคลนแรงงานและศักยภาพการผลิตของแรงงานที่ลดลง ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย


3. ด้านภาวะการเงินที่อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำไปอีกนาน รวมถึงแนวโน้มการแข็งค่าเงินของเงินบาท ซึ่งเป็นหนึ่งในผลพวงที่เกิดขึ้นตามมาจากการลงทุนและการบริโภคที่ต่ำ ซึ่งจะกลับมาซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยผ่านความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงของภาคการส่งออกไทย


4. ด้านประสิทธิผลของนโยบายเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายการเงินและการคลังที่จะเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ สร้างความท้าทายในการกระตุ้นเศรษฐกิจและดูแลเสถียรภาพทางการเงินในระยะต่อไป

 

การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นและจะส่งผลลบต่อศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าอย่างมหาศาล

 

สังคมสูงวัยกับโจทย์การบริโภคที่ลดลง 

การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในไทยจะสร้างผลกระทบ 4 ด้าน ได้แก่


1. แรงขับเคลื่อนจากการบริโภคถึงจุดอิ่มตัว
ผลจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุที่ชัดที่สุดคือการบริโภคที่ค่อยๆ ลดลงและไม่สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้กับเศรษฐกิจไทยได้อีกต่อไป จากการที่ประชากรในกลุ่มที่มักจะมีการใช้จ่ายมากกว่ารายได้ (กลุ่มอายุน้อยกว่า 34 ปี) จะมีจำนวนน้อยลง ในขณะที่กลุ่มประชากรที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นคือกลุ่มคนที่เตรียมตัวเกษียณ (อายุ 51-65 ปี) และกลุ่มหลังเกษียณ (อายุมากกว่า 65 ปี) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่บริโภคน้อยลง และมีการออมเพื่อเตรียมตัวเกษียณในสัดส่วนที่สูง 

 

ในช่วงที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงของการบริโภคภาคเอกชนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นแรงส่งสำคัญตัวหนึ่งของเศรษฐกิจไทย คิดเป็นสัดส่วนโดยเฉลี่ยถึง 50% ของ GDP ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบการใช้จ่ายของคนในแต่ละช่วงอายุ พบว่าประชากรในกลุ่มวัยก่อนเกษียณและหลังเกษียณมีการบริโภคเฉลี่ยต่อเดือนลดลงมากถึง 3,000 บาท (12%) และ 6,000 บาท (25%) ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนทำงานอายุ 35-50 ปี ตามข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม (Socio-Economic Survey) ซึ่งส่วนใหญ่จะสะท้อนกลุ่มประชากรรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ


จากการหาความสัมพันธ์ทางสถิติ พบว่าการบริโภคที่ลดลงไม่ได้เกิดจากรายได้ของกลุ่มผู้สูงอายุที่หายไปจากการออกจากตลาดแรงงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจเป็นผลจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไปด้วย เช่น จากการเก็บออมที่เพิ่มขึ้น และพฤติกรรมการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยที่ลดลง  

 

ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของการบริโภคตามช่วงอายุในลักษณะนี้ เราคาดการณ์ได้ว่าโครงสร้างประชากรไทยในระยะข้างหน้าจะสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทย จากเดิมที่การบริโภคเคยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้กับเศรษฐกิจ อาจกลับกลายเป็นไม่ขยายตัวเลยในช่วงปี 2020-2030 และทำให้ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยตกต่ำลงไปยิ่งกว่าเดิม

 


2. ธุรกิจรูปแบบเก่าจะเติบโตได้ยาก
รูปแบบการใช้จ่ายของประชากรสูงวัยมักแตกต่างจากกลุ่มผู้บริโภควัยอื่นๆ ตามความต้องการสินค้าและบริการที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงอายุของคน ภาวะสังคมสูงวัยจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการผลิตของประเทศ รวมถึงโอกาสในการเติบโตและความอยู่รอดของธุรกิจในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมแตกต่างกันไป


เกียรตินาคินภัทรประเมินว่ารูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงอายุของประชากรจะส่งผลให้กลุ่มธุรกิจที่จะยังสามารถขยายตัวได้ดีคืออุตสาหกรรมยา การดูแลสุขภาพ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย และบริการอื่นๆ 

 

ในขณะที่อุตสาหกรรมที่เคยเติบโตได้ดี เช่น รถยนต์ การเดินทาง เสื้อผ้า อาหารและเครื่องดื่ม จะเริ่มหดตัวลงตามความต้องการที่ลดลงของกลุ่มผู้สูงอายุ (รูปที่ 6)

 

เมื่อพิจารณาความสำคัญของอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มหดตัวจากการเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคของผู้สูงอายุ โดยรวมแล้วสินค้าและบริการจากอุตสาหกรรมเหล่านี้มีขนาดใหญ่ถึงประมาณ 62% ของการบริโภคในประเทศในปัจจุบัน หรือคิดเป็นกว่า 31% ของ GDP ผลจากการหดตัวของการบริโภคในส่วนนี้เพียงอย่างเดียวอาจจะฉุดรั้งให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำลงไปประมาณ 0.4% จากระดับเฉลี่ยที่เติบโตเพียง 3% ต่อปีในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อธุรกิจในอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่ความต้องการลดลง และส่งผลต่อการเติบโตในระยะข้างหน้าของเศรษฐกิจไทยโดยรวม


3. ธุรกิจขาดอำนาจในการกำหนดราคา (Pricing Power)
การลงทุนชะลอตัวทั้งจากในและต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อในช่วงหลังปี 1970 เป็นต้นมามีทิศทางที่ต่ำลงต่อเนื่องทั่วโลก สาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยด้านอุปทาน ทั้งจากราคาน้ำมันที่ลดลงจากในอดีต การแข่งขันที่สูงขึ้น และต้นทุนที่ถูกลงจากการเปิดเสรีทางการค้า การก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย รวมถึงรูปแบบสินค้าใหม่ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือในปัจจุบันที่รวมเอาฟังก์ชันผลิตภัณฑ์หลายประเภทที่เคยอยู่แยกกัน เช่น กล้องถ่ายรูป เครื่องคิดเลข วิทยุ ทีวี มาไว้ในเครื่องเดียว

 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของไทย ปัจจัยด้านอุปสงค์หรือกำลังซื้อของผู้บริโภคที่หายไปอาจมีส่วนสำคัญเช่นกันในการอธิบายอัตราเงินเฟ้อที่ลดต่ำลง จากข้อสังเกต 2 ประการคือ

 

  • อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน (Core inflation) ซึ่งสะท้อนแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่มาจากด้านกำลังซื้อได้ดีกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 1997 และ 2008 เป็นต้นมา 
  • เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อเป็นรายอุตสาหกรรมของไทยในช่วงกว่า 25 ปีที่ผ่านมา ราคาสินค้าลดลงในแทบทุกหมวดสินค้าในตะกร้าเงินเฟ้อ ในกลุ่มนี้สินค้าที่ราคาชะลอตัวลงมากที่สุดคืออาหาร เสื้อผ้า และนันทนาการ ซึ่งสอดคล้องกับทั้งพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มผู้สูงอายุที่บริโภคสินค้าในกลุ่มนี้ลดลง และอัตรากำไรของบริษัทในธุรกิจกลุ่มนี้ที่ชะลอลง

 

ผลพวงประการหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นหากอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงเกิดจากตลาดที่ไม่ขยายตัวคือผลตอบแทนจากการลงทุนที่มีแนวโน้มลดลง สะท้อนจาก Return on Equity (ROE) ของธุรกิจในหมวดดังกล่าว ซึ่งจากการวิเคราะห์โดยแยกองค์ประกอบ ROE เป็น 3 ส่วน ได้แก่ Net Profit Margin, Asset Turnover และ Leverage Ratio เราพบว่าผลตอบแทนที่ลดลงต่อเนื่องของตลาดหุ้นไทยอธิบายได้ด้วยอัตรากำไร (Profit Margin) ที่ลดลง ซึ่งเป็นหลักการเคลื่อนไหวของอัตรากำไรในทิศทางเดียวกันกับอัตราเงินเฟ้อ ส่วนหนึ่งอาจสะท้อนถึงความสามารถในการต่อรองราคาที่ยากขึ้นในภาวะที่กำลังซื้อหดหายไป

 

มองไปข้างหน้า ตลาดผู้บริโภคที่เล็กลงจากโครงสร้างประชากรที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยจะส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการทั้งในเชิงปริมาณและเชิงราคา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ความต้องการซื้อลดลง อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในประเทศที่ลดต่ำลงในช่วงที่ผ่านมา และในระยะข้างหน้ามีส่วนทำให้ความน่าสนใจของประเทศไทยลดลงในสายตาของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ผลักดันให้ธุรกิจหันไปหาตลาดในประเทศอื่นๆ ที่กำลังเติบโตและมีแนวโน้มผลตอบแทนสูงกว่าไทย


4. เศรษฐกิจขาดแคลนทั้งจำนวนและศักยภาพของแรงงาน
โครงสร้างประชากรของไทยที่เปลี่ยนไปเป็นสังคมสูงอายุจะทำให้ภาคการผลิตของไทยถูกแรงกดดันจากสองปัจจัยด้านแรงงานคือ

 

  • การขาดแคลนแรงงานจากจำนวนคนในวัยทำงานที่ลดลง ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนแรงงานของไทยอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ 
  • ผลิตภาพแรงงานที่ลดลงเมื่อแรงงานส่วนใหญ่เริ่มเข้าสู่ภาวะสูงวัย หรือเพิ่มขึ้นได้ไม่มากเมื่อเทียบกับคนทำงานวัยหนุ่มสาวจาก ทั้งข้อจำกัดทางกายภาพ ศักยภาพในการเรียนรู้ และทักษะการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ซึ่งทั้งต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นและผลิตภาพแรงงานที่ลดลงนี้จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อภาคการผลิต การดึงดูดการลงทุน และการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของไทยในทศวรรษต่อไป 

 

 

IMF มองแรงงานไทยลดลงทำให้เศรษฐกิจไทยโตลดลง 0.7%

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินไว้ว่าเฉพาะปัจจัยด้านการลดลงของกำลังแรงงานจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยลดลงไปอีก 0.7% ในระหว่างปี 2020-2050 ทำให้เกิด 3 ผลกระทบต่อตลาดการเงินและนโยบายเศรษฐกิจ


1. ภาวะสังคมสูงวัยกับแรงกดดันค่าเงินบาท
หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่าการที่เศรษฐกิจไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นหนึ่งในปัจจัยเชิงโครงสร้างที่มีส่วนอธิบายการแข็งค่าของค่าเงินบาท โดยผ่านกลไกความ(ไม่)สมดุลระหว่างการออมและการลงทุนภายในประเทศ


ช่องว่างระหว่างการออมและการลงทุนโดยรวมของไทยกว้างขึ้นเรื่อยๆ (Saving-Investment Gap) เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศที่ตกอยู่ในภาวะสังคมสูงวัย ที่เห็นได้ชัดคือประเทศญี่ปุ่น สาเหตุเนื่องมาจากกลุ่มประชากรในวัยเตรียมเกษียณและวัยเกษียณอายุมักมีความต้องการจับจ่ายใช้สอยลดลง และมีอัตราการออมสูงขึ้นเพื่อเตรียมรับมือกับรายได้ที่จะหายไปยามเกษียณ

 

ในขณะเดียวกัน การลงทุนของประเทศก็มักจะชะลอลงไปด้วยจากโอกาสและผลตอบแทนจากการลงทุนที่ลดลงตามการหดตัวของตลาดภายในประเทศดังที่กล่าวมาข้างต้น ช่องว่างระหว่างการออมและการลงทุนที่ถ่างออกเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วจึงสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในระยะยาวจากความต้องการสินค้าเพื่อการบริโภคและการลงทุนที่น้อยลง ทำให้ประเทศมีการนำเข้าสินค้าที่ลดลง

 

ในขณะเดียวกัน ไทยยังเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกทั้งสินค้าและบริการในระดับสูง ไทยจึงอยู่ในภาวะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดเป็นแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าในระยะยาว


การแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งในด้านความสามารถในการแข่งขันและผลกำไรในรูปเงินบาทที่จะลดลงไป เนื่องจากผู้ส่งออกไทยส่วนใหญ่มีสถานะเป็น Price Taker หรือไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าในตลาดโลกได้เอง ทำให้บริษัทที่แม้จะไม่โดนกระทบจากตลาดที่หดตัวในประเทศโดยตรง แต่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นหลักก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน กลายเป็นปัจจัยซ้ำเติมภาวะการลงทุนภายในประเทศอีกต่อหนึ่ง


เมื่อมองไปข้างหน้า ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อค่าเงินบาทนี้มีแต่จะรุนแรงขึ้น และยากที่จะต้านทานได้ด้วยการแทรกแซงค่าเงินในระยะสั้น


2. โครงสร้างระบบการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป
การเข้าสู่สังคมสูงวัยไม่เพียงแต่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่จะทำให้ภาวะการเงินและบทบาทของธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ และอาจสร้างความเปราะบางให้กับระบบการเงินในประเทศเพิ่มเติมได้จาก 3 ปัจจัยหลักคือ

 

2.1 อัตราดอกเบี้ยในประเทศจะอยู่ในระดับต่ำอีกนาน คนสูงอายุมีความต้องการออมเงินผ่านการถือสินทรัพย์ปลอดภัย และมีแนวโน้มถือสินทรัพย์ที่มีอายุไถ่ถอนยาวขึ้นเพื่อเตรียมใช้ชีวิตหลังเกษียณ รวมทั้งความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่างๆ อาจมีส่วนกดดันให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวลดต่ำลง และเส้นอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรมีลักษณะแบนลง ทำให้สถาบันการเงินที่โดยปกติสร้างกำไรจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวไม่สามารถทำกำไรได้เหมือนเดิม ระดับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำยาวนานยังอาจสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น (Search for Yield) และอาจประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป สร้างความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

2.2 ธุรกิจหลักของธนาคารจะได้รับผลกระทบจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง โอกาสในการลงทุนของภาคธุรกิจไทยที่น้อยลง ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ธุรกิจหลักของธนาคารคือการปล่อยสินเชื่อเงินกู้ให้กับบริษัทเอกชน ซึ่งมีโอกาสและผลตอบแทนลดลงด้วย ส่งผลต่อความสามารถในการสร้างกำไรของธนาคารอีกรอบหนึ่ง

2.3 สถาบันการเงินหันไปหาธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นเพื่อรักษาระดับกำไรไว้จากโอกาสในการปล่อยสินเชื่อธุรกิจ (Corporate Lending) ที่ลดลงและอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่อยู่ในระดับต่ำ สถาบันการเงินจึงมีแนวโน้มแข่งขันรุนแรงขึ้นในช่องทางธุรกิจที่อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น การรุกตลาดสินเชื่อรายย่อย การบุกเบิกธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งหากไม่มีการประเมินความเสี่ยงอย่างรัดกุม อาจส่งผลทางอ้อมต่อเสถียรภาพโดยรวมของระบบธนาคารในระยะยาว


3. ประสิทธิภาพของนโยบายเศรษฐกิจจะเริ่มลดลง
โครงสร้างเศรษฐกิจในภาวะสังคมสูงวัยสร้างข้อจำกัดต่อการใช้เครื่องมือนโยบายในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ ดังนี้

 

3.1 นโยบายเศรษฐกิจกระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อยลง โครงสร้างประชากรที่คนส่วนใหญ่เริ่มเข้าสู่วัยเกษียณและพึ่งพารายได้หลักจากดอกเบี้ยเงินฝากจะส่งผลให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ค่อยได้ผลมากนัก ไม่ว่าจะผ่านมาตรการใช้จ่ายภาครัฐหรือมาตรการด้านภาษี เพราะคนวัยเกษียณที่ไม่ได้ทำงานแล้วไม่ใช่กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการโดยตรง ในขณะเดียวกันการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางเพื่อกระตุ้นให้คนใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคและกู้เงินเพื่อลงทุนอาจไม่ได้ผลเต็มที่เช่นกันจากพฤติกรรมการบริโภคที่ใช้จ่ายน้อยลงของผู้สูงวัยและโอกาสในการลงทุนที่ลดลง


อีกทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยที่มุ่งหวังกระตุ้นเศรษฐกิจอาจสร้างผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ กล่าวคือทำให้รายได้จากผลตอบแทนเงินฝากของผู้สูงอายุลดน้อยลงไป ส่งผลทำให้สัดส่วนการออมยิ่งมากขึ้น และการบริโภคของคนบางกลุ่มลดลงได้


นอกจากนี้มาตรการลงทุนภาครัฐจะไม่ช่วยดึงดูดการลงทุนภาคเอกชนได้เหมือนเก่า การลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมีเป้าหมายหนึ่งเพื่อการดึงดูดให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน (Crowding-in effect) แต่เมื่อตลาดในประเทศเริ่มถึงจุดอิ่มตัว ประสิทธิภาพในการดึงดูดให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนจะลดลงไป


3.2 ภาระทางการคลังจะเพิ่มสูงขึ้นจากค่าใช้จ่ายด้านรัฐสวัสดิการ เมื่อประเทศมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น อัตราการเป็นภาระของผู้สูงอายุ (Old-age Dependency Ratio) หรืออัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างประชากรหลังเกษียณ (อายุมากกว่า 65 ปี) เทียบกับคนวัยทำงานจะเพิ่มขึ้นจาก 18% ในปี 2020 เป็น 30% ในปี 2030 หมายความว่าคนทำงานต้องรับภาระจากผู้สูงอายุมากขึ้นเกือบสองเท่า ภาระของภาครัฐเกี่ยวกับสวัสดิการผู้สูงอายุทั้งด้านการครองชีพและด้านสาธารณสุขก็จะเพิ่มขึ้นตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ในขณะที่รายได้ภาครัฐมีแนวโน้มลดลงจากฐานภาษีของคนในวัยทำงานที่เล็กลง จะยิ่งทำให้พื้นที่ในการดำเนินนโยบายการคลัง (Fiscal Space) ลดลงไปทั้งในแง่การจัดสรรเงินเพื่อการลงทุนพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาวและในแง่การใช้จ่ายเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในระยะสั้นเมื่อประเทศเจอกับวิกฤต นโยบายเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มมีประสิทธิผลลดลงเช่นนี้จะเป็นความท้าทายสำคัญต่อผู้ทำนโยบายของไทยในอนาคต


หากประเทศเผชิญหน้ากับวิกฤตอีกครั้ง เราจำเป็นต้องอาศัยการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่กว่าเดิม ข้อจำกัดด้านหนี้สาธารณะและเสถียรภาพทางการคลังในอนาคตจะยิ่งเป็นประเด็นมากขึ้น ดังนั้นการเตรียมพื้นที่ (Fiscal Room) ทั้งจากการลดภาระรายจ่ายที่ไม่จำเป็น การขยายฐานภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ภาครัฐ และการวางรากฐานยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจเพื่อให้ภาครัฐสามารถรองรับกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคตโดยไม่ส่งผลต่อความมั่นคงทางการคลังจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง 

 

ความสามารถในการแข่งขันที่หายไปกับนโยบายที่ต้องเปลี่ยนแปลง

โครงสร้างประชากรที่กำลังก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วของไทยนั้นอาจสร้างข้อจำกัดต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในขนาดที่ใหญ่กว่าที่เราคาดคิดจากผลกระทบที่เกิดขึ้นในแทบจะทุกมิติ ทั้งด้านอุปสงค์จากการที่กำลังซื้อภายในประเทศจะหดตัวลงและทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนลดลง ด้านอุปทานจากการขาดแคลนแรงงานและต้นทุนการผลิตที่สูง ด้านค่าเงินที่มีแนวโน้มแข็งค่า อีกทั้งยังสร้างข้อจำกัดต่อประสิทธิผลของนโยบายทั้งการเงินและการคลังในการรับมือกับวิกฤตในอนาคต


ชัดเจนว่าเราจะไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจในรูปแบบเดิมๆ ที่ได้ประโยชน์จากการขยายตัวของกำลังแรงงาน ต้นทุนที่ถูก ค่าเงินที่อ่อน และนโยบายเศรษฐกิจแบบเดิมได้อีกต่อไป

 

เกียรตินาคินภัทรประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนี้จะทำให้ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลงไปอยู่ในระดับ 2.6-2.8% ต่ำลงไปจากระดับปัจจุบันที่ 3.2-3.5% อย่างมีนัยสำคัญ ยังไม่นับรวมผลที่จะเกิดขึ้นตามมาที่ประเมินได้ยาก เช่น การลงทุนซึ่งเป็นตัวแปรที่จะส่งผลต่อการเติบโตระยะยาว ที่แน่นอนว่าจะชะลอตัวลงไปอีกตามความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง

 

ภาครัฐอาจพิจารณาแนวนโยบายเพื่อลดข้อจำกัดและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนี้ได้ เช่น

 

1. การปฏิรูปกฎหมายเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ ให้แรงงานมีฝีมือสามารถเข้ามาทำงานในประเทศได้ จะทำให้ไทยได้ประโยชน์จากประเทศที่กำลังแรงงานขยายตัวอย่างรวดเร็วในกลุ่ม CLMV มาเป็นอีกแรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ


2. การเปลี่ยนหน้าตาของอุตสาหกรรมจากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มขัน (Labor-
intensive) ไปเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีและองค์ความรู้เป็นปัจจัยการสร้างมูลค่าเพิ่มแทนแรงงานที่จะหายไป


สนับสนุนการเติบโตทางด้านเทคโนโลยี นโยบายอุตสาหกรรมควรลดการกีดกันที่ไม่จำเป็นเพื่อให้ภาคเอกชนได้มีการแข่งขันกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในภาคบริการและภาคการผลิตจะสามารถสร้างนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้

 

 

ภาคธุรกิจต้องปรับตัวรับเทรนด์นี้อย่างไร

โครงสร้างเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ สำหรับภาคธุรกิจนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับตัวต่อเทรนด์เศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต 


1. ตลาดในประเทศ จากตลาดที่ขยายตัวได้ดีในกลุ่มสินค้าของวัยทำงานและสร้างครอบครัว เช่น รถยนต์ อาหาร เครื่องแต่งกาย เปลี่ยนไปเป็นสินค้าสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ เวชภัณฑ์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 

2. ตลาดต่างประเทศ จากการแข่งขันด้วยราคาและค่าเงินที่ถูกไปเป็นการเน้นพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มเพื่อทดแทนแรงงานที่หายไป และเพิ่มความสามารถที่แท้จริงในการแข่งขัน

3. ภาคบริการ เน้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ตัวช่วยการเรียนรู้แบบ Lifelong Learning ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ กิจกรรมยามว่างสำหรับผู้สูงอายุ และสถาบันการเงินควรหันไปให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านการวางแผนเกษียณอายุมากขึ้น รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้สูงวัยและลูกหลานที่มีภาระมากขึ้นในการเลี้ยงดูผู้สูงอายุ

 

อุตสาหกรรมในรูปแบบเก่าๆ ที่เน้นใช้แรงงานทักษะต่ำและค่าแรงราคาถูกในอดีตจะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้อีกต่อไปจากแรงงานที่ลดลงและต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น คำถามสำคัญคือในระยะยาวเศรษฐกิจไทยต้องปรับตัวอย่างไร และเราควรพัฒนาอะไรขึ้นมาชดเชยแรงงานที่หายไป 

 

ในวันนี้อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตสูงที่น่าจะช่วยทดแทนแรงงานที่ลดลงไปได้ยังเป็นธุรกิจที่เรายังไม่สามารถแข่งขันได้ดีมากนักในเวทีระหว่างประเทศ หากเศรษฐกิจไทยต้องการโตต่อไปอย่างยั่งยืน เราจะต้องมีการปฏิรูปขนาดใหญ่เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อทดแทนแรงงานที่หายไป และนำเศรษฐกิจไทยก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ที่เน้นพัฒนาคุณภาพ (Quality) ความสร้างสรรค์ (Creativity) และความสามารถในการผลิต (Productivity) เพื่อสร้างสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value-added) มากกว่าการเน้นเฉพาะจำนวนและราคา รวมทั้งส่งเสริมให้อัตราการมีส่วนร่วมในแรงงานเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มคน ซึ่งน่าจะเป็นทางออกสำคัญที่เหลืออยู่

 

ในระยะยาวสำหรับเศรษฐกิจไทย หากนโยบายเศรษฐกิจยังเป็นไปในลักษณะเดิม และไม่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพแรงงานและนวัตกรรม ก็เป็นที่น่ากังวลว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างไรท่ามกลางปัญหาและข้อจำกัดนานัปการเช่นนี้ 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising