×

เปิดแนวทางรักษาโควิดของไทย ใครควรได้รับยา Molnupiravir บ้าง

29.06.2022
  • LOADING...
แนวทางรักษาโควิดของไทย

จากกรณีที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดเชื้อโควิดหลังจากเดินทางกลับมาจากการประชุมของสำนักงานองค์การนิทรรศการนานาชาติ ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา และมีผู้ตั้งข้อสังเกตต่อการรักษาที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงและมีราคาแพงประมาณ 10,000 บาท

 

ต่อมา นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้แจงว่า อนุทินมีโรคอ้วน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง แพทย์จึงประเมินแล้วว่าต้องได้รับยาดังกล่าว

 

คำถามที่เกิดขึ้นคือใครควรได้รับยาต้านไวรัสบ้าง? หากอ้างอิงตามแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แพทย์จะแบ่งผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มตามความรุนแรงและปัจจัยเสี่ยง 4 กลุ่ม ดังนี้

 

  1. กลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรือสบายดี ไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส เพราะส่วนใหญ่หายได้เอง
  2. กลุ่มสีเขียวที่มีอาการไม่รุนแรง อาจใช้ยา Favipiravir ควรเริ่มทานยาโดยเร็วไม่เกิน 5 วัน นับจากวันที่มีอาการ
  3. กลุ่มสีเหลืองคือผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง หรือมีอาการปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง ควรได้รับยาต้านไวรัส Favipiravir, Remdesivir, Molnupiravir, Paxlovid (Nirmatrelvir/Ritonavir) อย่างใดอย่างหนึ่ง และหากมีปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป ไม่ควรใช้ยา Favipiravir
  4. กลุ่มสีแดงควรได้รับยา Remdesivir

 

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ได้แก่ 

  1. อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
  2. โรคปอดเรื้อรัง
  3. โรคไตเรื้อรัง (ระยะที่ 3 ขึ้นไป)
  4. โรคหัวใจและหลอดเลือด
  5. โรคหลอดเลือดสมอง
  6. เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
  7. ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก. หรือ BMI ≥30 กก./ตร.ม.)
  8. ตับแข็ง
  9. ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
  10. ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มี CD4 <200 เซลล์/ลบ.มม.

 

หากอนุทินมีภาวะอ้วนก็จะได้รับการพิจารณาให้ใช้ยา Molnupiravir โดยควรเริ่มยาภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการ และแพทย์จะต้องพิจารณาบริบทร่วมด้วย ได้แก่ ประวัติการได้รับวัคซีน โรคประจําตัว ข้อห้ามการใช้ยา ปฏิกิริยากับยาเดิมของผู้ป่วย การบริหารเตียง ความสะดวกของการให้ยา และปริมาณยาสำรองที่มี ซึ่งข้อมูลเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ไทยนำเข้ายา Molnupiravir มาสำหรับผู้ป่วย 50,000 ราย

 

ทั้งนี้ ยา Molnupiravir เป็นยาที่มีคุณสมบัติยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส ได้รับการขึ้นทะเบียนฉุกเฉินให้ใช้ในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา มีประสิทธิผลลดอาการรุนแรงและการเสียชีวิตในผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนประมาณ 30% รับประทานครั้งละ 4 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ราคาต่อคอร์สประมาณ 10,000 บาท ใกล้เคียงกับยา Paxlovid

 

แนวทางรักษาโควิดของไทย

 

ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising