×

‘หุ้นไทย’ ร่วง 4 วันติด นักลงทุนเทขายกลุ่ม ‘ขนส่ง-รับเหมา’

โดย THE STANDARD TEAM
19.10.2020
  • LOADING...
‘หุ้นไทย’ ร่วง 4 วันติด นักลงทุนเทขายกลุ่ม ‘ขนส่ง-รับเหมา’ หุ้นอิงปัจจัยภายในเจอเทขาย ส่วน ‘ขนส่ง-รับเหมา’ กอดคอนำลง

‘หุ้นไทย’ ร่วงทดสอบใกล้บริเวณแนวรับ 1,200 จุด หลังปรับตัวลงต่อเนื่อง 4 วันทำการ ล่าสุดหุ้นอิงกับเศรษฐกิจในประเทศเจอแรงขายหนัก โดยกลุ่ม ‘ขนส่ง-รับเหมา’ กอดคอนำลงกว่า 4% นักวิเคราะห์หวั่นดัชนีซึมต่อเนื่องจนกว่าจะได้บทสรุป

 

SET ร่วง 4 วันติด หุ้นอิงปัจจัยในประเทศนำลง
ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET) วันนี้ (19 ตุลาคม) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 โดยลดลงไปทำจุดต่ำสุดของวันที่ 1,205.61 จุด หรือลดลง 28.07 จุด ก่อนรีบาวด์ขึ้นเล็กน้อยมาปิดตลาดที่ 1,208.75 จุด โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงหนักสุดคือกลุ่มรับเหมาก่อสร้างและกลุ่มขนส่ง

 

ธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) เปิดเผยว่าทิศทางตลาดหุ้นไทยวันนี้ค่อนข้างจะวิ่งสวนทางกับตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย โดยหลักถูกกดดันจากปัจจัยการเมืองในประเทศ ทำให้ดัชนี SET มีโอกาสที่จะลดลงไปทดสอบแนวรับสำคัญที่บริเวณ 1,200 จุด ส่วนแนวโน้มหลังจากนี้ส่วนตัวมองว่ามีโอกาสที่จะหลุดระดับนี้ลงไปได้ ขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางการเมืองและการหาทางออกจากความขัดแย้ง

 

โดยกลุ่มหุ้นที่ถูกกดดันหลักเป็นหุ้นกลุ่มที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศและเกี่ยวเนื่องกับการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มขนส่ง ซึ่งธุรกิจได้รับผลกระทบโดยตรงจากการหยุดชะงักในบางเวลา ดังนั้นในภาพรวมจึงแนะนำให้ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไทยสำหรับระยะนี้ และรอดูสถานการณ์หลังจากนี้

 

อย่างไรก็ตาม หากจะเลือกเก็งกำไรในระยะสั้น แนะนำเลือกหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจโลกหรือปัจจัยภายนอกเป็นหลัก อย่างตลาดในวันนี้จะเห็นว่าหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ น้ำตาล และสินค้าเกษตรอื่นๆ ยังสามารถปรับตัวขึ้นได้

 

“หากดัชนี SET หลุดระดับ 1,200 จุดลงไป มีโอกาสที่จะเห็นดัชนีไปแตะระดับ 1,150-1,180 จุด โดยแรงกดดันในระยะถัดไปสำหรับหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศคือค่าเงินบาทที่มีโอกาสอ่อนค่าลง”

 

 

ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่าปัจจัยการเมืองกดดันให้เศรษฐกิจในประเทศชะงักและกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนทางตรง (FDI)


“ในสภาวะเช่นนี้ทำให้นักลงทุนบางกลุ่มโยกย้ายเงินลงทุนออกจากหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศเข้าหากลุ่มที่อิงกับเศรษฐกิจโลกอย่างกลุ่มส่งออก ส่วนแนวโน้มของหุ้นไทยหลังจากนี้ หากยังไม่ได้บทสรุปก็มีโอกาสที่จะเห็นดัชนี SET ซึมลงไปเรื่อยๆ โดยระหว่างทางอาจจะเห็นการรีบาวด์ได้ช่วงสั้นๆ”


หุ้นกลุ่มขนส่งและสื่อโฆษณานอกบ้านเป็นกลุ่มหุ้นที่โดนกระทบหนักที่สุด และยังมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลงได้อีก เพราะการชุมนุมทางการเมืองที่ยังไม่แน่นอนว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด และการชุมนุมที่เน้นการจัดตั้งไปตามแนวสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ ทำให้มีการปิดให้บริการเป็นบางสถานีหรือทั้งระบบ เป็นการลดระดับปริมาณผู้โดยสารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากสถานการณ์ชุมนุมยังคงลากยาวต่อไปจะกระทบต่อการให้บริการของผู้ประกอบการในกลุ่มนี้อย่างมีนัยสำคัญ


ขณะที่กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง จากเสถียรภาพภาครัฐที่เริ่มมีความไม่แน่นอนจนอาจส่งผลกระทบต่องานประมูลต่างๆ ในอนาคต


เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม จากการที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มลดลงอีกครั้งจะกระทบต่อยอดขายที่ดินของหุ้นในกลุ่มนี้


ส่วนหุ้นกลุ่มห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะผู้ที่ให้บริการในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ซึ่งอาจต้องปิดการให้บริการก่อนกำหนด และลดการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ ที่อาจจะเลื่อนออกไป


ท้ายสุดคือหุ้นกลุ่มธนาคารเป็นอีกกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะงัก รวมถึงปัจจัยลบเฉพาะตัวจากแนวโน้มหนี้เสีย (NPL) ที่น่าจะเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ และกระทบต่อโอกาสในการจ่ายเงินปันผล ซึ่งประเด็นที่หุ้นกลุ่มธนาคารอาจจะจ่ายปันผลได้ต่ำกว่าที่ตลาดประเมินไว้หรืออาจจะจ่ายไม่ได้เป็นสิ่งที่ตลาดยังไม่ได้ให้น้ำหนักเท่าใดนักในช่วงที่ผ่านมา


เปิดโผ 10 กลุ่มหุ้นที่ปรับตัวลงแรงกว่า SET นับตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2563
นับแต่วันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์การเมืองเริ่มกดดันให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง โดยดัชนี SET ร่วงลงไป 4.6% จาก 1,263.99 จุด จนมาต่ำสุดที่ 1,205.61 จุด


โดย 10 กลุ่มหุ้นที่ปรับตัวลดลงมากกว่าดัชนี ได้แก่ 

  • กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (PROP) -7.8% 
  • กลุ่มบรรจุภัณฑ์ (PKG) -7% 
  • กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง (CONS) -6.8% 
  • กลุ่มบริการเฉพาะกิจ (PROF) -6.6% 
  • กลุ่มสื่อ (MEDIA) -6.5%
  • กลุ่มขนส่ง (TRANS) -6.3% 
  • กลุ่มพาณิชย์ (COMM) -6% 
  • กลุ่มท่องเที่ยว (TOURISM) -5.8% 
  • กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) -5% 
  • กลุ่มอาหาร -5% 

 

 

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่าข้อสังเกตจากการชุมนุมทางการเมืองในอดีต 4 ครั้งพบว่า ดัชนี SET มักจะผ่านจุดต่ำสุดไปก่อนที่การชุมนุมจะสิ้นสุดลง ซึ่งน่าจะอธิบายได้ว่าเมื่อการชุมนุมผ่านไประยะหนึ่งแล้ว ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมจะเริ่มมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น นักลงทุนในตลาดหุ้นจะมองเห็นก่อน และกลับเข้ามาซื้อหุ้นที่ราคาปรับตัวลงมามาก


สำหรับหุ้นที่กลับตัวเร็ว เมื่อการชุมนุมริ่มบรรลุผลหรือจบลงมักจะเป็นหุ้นใหญ่ของตลาด โดยในอดีตหุ้นกลุ่มหลักๆ จะมีไม่กี่กลุ่ม เช่น กลุ่มธนาคาร น้ำมัน ปิโตรเคมี ที่อยู่อาศัย ขณะเดียวกันตลาดมักจะฟื้นตัวแรงและต่อเนื่องมากที่สุดหลังจากยุติการชุมนุมไปแล้ว ซึ่งอาจเป็นช่วงแรกของการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลชุดใหม่

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising