×

เปิดแผนบริหารหนี้สาธารณะ คาดหนี้สาธารณะไทยปีงบ 2566 ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 60.43% ต่อ GDP

12.10.2022
  • LOADING...

ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เผยแผนบริหารหนี้สาธารณะ โดยคาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2566 น่าจะลดลงเล็กน้อยเหลือ 60.43% ต่อ GDP โดยมีปัจจัยหลักมาจาก GDP ที่น่าจะขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมมอง สบน. กำลังเผชิญความเสี่ยงทางการเงิน 3 ด้าน ได้แก่ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย และการปรับโครงสร้างหนี้

 

วันนี้ (12 ตุลาคม) แพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนสิงหาคมปี 2565 หนี้สาธารณะของไทยคงค้างอยู่ที่ 10.31 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 60.7% ต่อ GDP และคาดการณ์ว่า ณ สิ้นเดือนกันยายนปี 2565 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP น่าจะลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 60.56% เนื่องจากหลายหน่วยงานไม่ได้กู้เงินเต็มจำนวนตามแผน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


โดยสิ้นปีงบประมาณ 2566 หนี้สาธารณะคาดว่าจะลดลงอีกเหลือ 60.43% ต่อ GDP ภายใต้คาดการณ์ที่ว่า GDP ปี 2566 น่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 18.55 ล้านล้านบาท จาก 17.2 ล้านล้านบาทในปี 2565

 

นอกจากนี้ สบน. ยังประเมินด้วยว่า หากในปีงบประมาณ 2566 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกู้เต็มเพดานที่ 1.2 แสนล้านบาท หนี้สาธารณะต่อ GDP จะไปอยู่ที่ 61.2%

 

เปิด ‘แผนก่อหนี้’ ใหม่ในปีงบ 2566

ผู้อำนวยการ สบน. ยังเปิดเผยแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ด้วย ซึ่งผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหน่วยงานต่างๆ ได้เริ่มกู้เงินไปแล้ว ประกอบด้วย

 

  1. แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1,052,785.47 ล้านบาท 
  2. แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1,735,962.93 ล้านบาท
  3. แผนการชำระหนี้วงเงิน 360,179.68 ล้านบาท

 

สำหรับตัวอย่างโครงการลงทุนจากการก่อหนี้ใหม่ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและม่วง แผนเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นใต้ดิน โครงการขยายและปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

 

ความท้าทายด้านการบริหารหนี้สาธารณะของไทยยุคหลังโควิด

แพตริเซียเปิดเผยว่า สบน. กำลังเผชิญความเสี่ยงทางการเงิน 3 ด้าน ได้แก่ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย และการปรับโครงสร้างหนี้ แต่มองว่าความท้าทายสำคัญมีอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยที่กำลังสูงขึ้น และการของบชำระหนี้จากสำนักงบประมาณ

 

“ท่ามกลางดอกเบี้ยกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ สบน. ทำไปแล้วคือพยายามเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Float) เป็นอัตราคงที่ (Fixed) กว่า 80% ของหนี้ในอดีตแล้ว ขณะที่ในอนาคตถ้ามีการกู้เพิ่มขึ้นดอกเบี้ยก็จะเพิ่มขึ้น รวมกับดอกเบี้ยลอยตัว (Float) ของเก่า ต้นทุนก็จะแพงขึ้นเรื่อยๆ” แพตริเซียกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม แพตริเซียมองว่า ความท้าทายสูงที่สุด คือการของบชำระหนี้จากสำนักงบประมาณ 

 

“จากหนี้ที่กำลังเพิ่มขึ้น สบน. ต้องคุยกับสำนักงบประมาณว่า ในอนาคต ดอกเบี้ยที่ตามมาจะมีการจัดสรรอย่างไร รวมทั้งเงินต้นด้วย ที่ผ่านมาแม้ว่าสำนักงบฯ จะจัดสรรเงินต้นให้ 3% ซึ่งอยู่ในกรอบที่คณะกรรมการวินัยการเงินการคลังประกาศไว้ที่ 2.5-4% แต่ 3% โดยจำนวนนี้เป็นการชำระหนี้ของรัฐบาล 2.1% อีก 0.9% เป็นการชำระหนี้ของรัฐวิสาหกิจ เราจึงต้องหารือและสื่อสารกับสำนักงบประมาณให้มากขึ้น ว่าเราต้องการเห็นการจัดสรรงบชำระหนี้ให้ภาครัฐมากขึ้น เพื่อลดสถานะหนี้คงค้างของประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้หนี้ในระยะปานกลางและยาวแข็งแกร่ง และไม่มีภาระมากเกินไป” แพตริเซียกล่าว

 

เน้น ‘บริหารจัดการหนี้’ ที่หลากหลาย

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการหนี้สาธารณะในปีงบประมาณหน้า ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า จะเน้นการสื่อสารกับตลาด และกระจายการกู้เงินด้วยเครื่องมือที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุน เพื่อไม่ทำให้ต้นทุนในประเทศกระโดดสูงเกินไป ซึ่งจะเป็นภาระของนักลงทุนและคนกู้ยืมเงินทั้งประเทศ เนื่องจากหากอัตราผลตอบแทนกระโดดขึ้น ต้นทุนการกู้ยืมของเอกชนก็จะสูงขึ้นด้วย พร้อมๆ กับการเชื่อมฐานข้อมูลบริหารหนี้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ และการเชื่อมระบบฐานข้อมูลหน้ีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Data Synchronization) ด้วย

 

“เราสื่อสารกับตลาดตลอดเวลาว่า ต้องการเครื่องมือการลงทุนแบบไหน เพื่อจะได้ออกเครื่องมือที่ตอบโจทย์ และทำงานกับธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิดเพื่อดูแลสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ ตลาดการเงินให้อยู่ในระดับเหมาะสม ส่งผลให้ 2 ปีที่ผ่านมา เราสามารถระดมทุนได้ครบแผนตามความต้องการการใช้เงินของรัฐบาล และป้องกันไม่ให้การกู้เงินเพิ่มของรัฐบาลแย่งชิงเม็ดเงินจากภาคเอกชนมากเกินไป” แพตริเซียกล่าว

 

ประเมิน ‘ดอกเบี้ยจ่าย’ ปีงบประมาณหน้ายาก

ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวอีกว่า สำหรับการประมาณการต้นทุนจากดอกเบี้ยในปีหน้า ‘ประเมินได้ยาก’ เพราะต้องดูเครื่องมือที่จะใช้ในอนาคต และตอนนี้ยังเร็วไปที่จะประมาณการได้ แต่ก็ยอมรับว่าดอกเบี้ยน่าจะแพงขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

 

ทั้งนี้ การใช้เครื่องมือที่หลากหลายทำให้ช่วยดึงต้นทุนการกู้ หรือดอกเบี้ย ลดลงจาก 3.28% ในปีงบประมาณ 2562 เป็น 2.34% ของหนี้รัฐบาล ในเดือนสิงหาคม 2565 นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งชิงสภาพคล่องหรือทรัพยากรทางการเงิน (Crowding Out) กับ ธปท. และภาคเอกชน สบน. ได้กู้เงินจากแหล่งเงินกู้ทางการต่างประเทศที่เป็นเงินกู้พิเศษเพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโควิด

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising