×

คาดการณ์นายจ้างในไทยจะปรับเพิ่มค่าตอบแทน เงินเดือน 4.5% ในปี 66 แต่น้อยกว่าเวียดนามที่คาดปรับเพิ่ม 7.1%

05.11.2022
  • LOADING...

เมอร์เซอร์คาดการณ์ว่า อัตราการขึ้นค่าตอบแทน หรือ เงินเดือน ในปี 2566 ของไทย จะปรับเพิ่ม 4.5% ซึ่งอัตราการเพิ่มนี้ใกล้เคียงกับอัตราที่เกิดขึ้นจริงในปีนี้ ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน และราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและสถานการณ์โดยรวมที่กลับเข้าสู่ระดับก่อนหน้าวิกฤตโรคระบาด

 

ตัวเลขดังกล่าวมาจากการสำรวจ Total Remuneration Surveys (TRS) ประจำปี 2565 โดยได้สำรวจกับองค์กร 636 แห่ง ใน 15 อุตสาหกรรมในประเทศไทย ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2565

 

ทั้งนี้ อัตราค่ากลางของค่าตอบแทนที่ปรับสูงขึ้นในภูมิภาคเอเชีย สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของค่าตอบแทนในตลาดแรงงานในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศพัฒนาแล้ว โดยมีการประมาณการอัตราค่าตอบแทนที่ปรับตัวสูงถึงระดับ 7.1% ในประเทศเวียดนาม เทียบกับ 2.2% ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งต่ำที่สุดในภูมิภาค


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


เมลลา ดาราแคน หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทเมอร์เซอร์ ประจําประเทศไทย กล่าวว่า “แม้จะมีความคาดหวังต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่นายจ้างส่วนใหญ่ยังมีความระมัดระวังในการวางแผนรับมือผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นในภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว ดังนั้นแนวโน้มในการปรับเพิ่มอัตราค่าตอบแทนปีหน้าอาจจะยังใกล้เคียงกับปีนี้ อย่างไรก็ตาม เมอร์เซอร์แนะนำให้ภาคธุรกิจพิจารณาและทบทวนกลยุทธ์การบริหารค่าตอบแทนของพนักงานในองค์กร เนื่องจากธุรกิจอาจพบกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดแรงงานในอนาคต รวมถึงอาจประสบความท้าทายในการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีทักษะความสามารถไว้”

 

การสำรวจพบว่า ไม่มีอุตสาหกรรมใดปรับลดอัตราการขึ้นเงินเดือน โดยคาดว่าอุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์ จะมีอัตราการขึ้นเงินเดือนสูงสุดอยู่ที่ 4.9, 4.8 และ 4.8% ตามลำดับ

 

ส่วนในแง่ของค่าตอบแทนผันแปร คาดการณ์การจ่ายโบนัสที่ 1.3-2.5 เดือน โดยการจ่ายโบนัสสูงสุดอยู่ที่ 2.4 เดือนจากอุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์

 

มากกว่าครึ่ง (53%) ของบริษัทผู้ตอบแบบสํารวจในประเทศไทย กล่าวว่า จะไม่มีนโยบายในการปรับเปลี่ยนกรอบอัตรากำลังพนักงานปี 2566 และ 1 ใน 5 หรือราว 22% ของนายจ้างที่ร่วมการสำรวจ กล่าวว่า จะเพิ่มจำนวนพนักงาน ในขณะที่มีเพียง 4% ของนายจ้าง ระบุว่า จะลดจำนวนพนักงานลง

 

ขณะเดียวกันอัตราการลาออกของพนักงานในปี 2565 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับก่อนหน้าวิกฤตโรคระบาด ซึ่งมีอัตราสูงกว่า 11.9% เมื่อเทียบกับ 9.4% ในปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจต่างๆ โดยที่อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์คาดว่าจะมีอัตราการลาออกของพนักงานสูงที่สุด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising