×

“อยากให้ผู้ปกครองได้เห็น เพราะเกมคือสิ่งที่ลูกคุณกำลังบริโภคอยู่” คุยกับ หนุ่ย พงศ์สุข และขิม พาทิศ ผู้จัดงาน Thailand Game Show 2020+1

18.12.2020
  • LOADING...
Thailand Game Show 2020+1

HIGHLIGHTS

14 mins. read
  • Thailand Game Show 2020+1: The Real Show Goes On คือมหกรรมเกมแห่งชาติที่จะจัดขึ้นในวันที่ 9-10 มกราคมนี้ (วันเด็กแห่งชาติ) ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน
  • เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน Thailand Game Show ในปีนี้จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการเข้าร่วมงานเป็นออนไลน์และออฟไลน์ โดยเกมเมอร์สามารถซื้อตั๋วสำหรับเข้าชม Stage Show Area ภายในฮอลล์ได้ตามปกติ (จำกัดจำนวน 1,400 ที่นั่งต่อรอบ) หรือซื้อตั๋วสำหรับออนไลน์เพื่อเข้าชมงานผ่านระบบไลฟ์สตรีมได้ตลอดทั้งวัน โดยจะไลฟ์สตรีมผ่านช่องทาง Event Pop Live Streaming
  • หนุ่ย พงศ์สุข เริ่มปลุกปั้นงาน Thailand Game Show ขึ้นครั้งแรกในปี 2007 ด้วยความฝันที่อยากสร้างพื้นที่ให้ทุกคนที่ชอบเล่นเกมได้ออกมาโชว์ความสามารถของตัวเอง และเป็นพื้นที่ที่เปิดให้ผู้คนที่ชื่นชอบในสิ่งเดียวกันได้มาพบปะและแลกเปลี่ยนความฝันร่วมกัน
  • ขิม พาทิศ มีความใฝ่ฝันที่อยากพัฒนางาน Thailand Game Show ให้กลายเป็นงานที่ทุกคนสามารถเข้ามาสัมผัสทุกแง่มุมของอุตสาหกรรมเกมได้ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม การหาอาชีพ และการศึกษา เพื่อให้งาน Thailand Game Show กลายเป็นงานที่ทัดเทียมกับมหกรรมเกมระดับโลก

วันเด็กแห่งชาติ ถือเป็นอีกหนึ่งวันสุดพิเศษที่เด็กไทยทุกคนต่างตั้งตารอที่จะได้ออกไปร่วมกิจกรรมแสนสนุก เช่นเดียวกับผู้เขียนในวัยเด็กที่จะต้องตื่นแต่เช้าและรีบออกจากบ้าน เพื่อไปนั่งรอเข้างาน Thailand Game Show มหกรรมเกมแห่งชาติ พร้อมกับกลุ่มเพื่อนที่ชื่นชอบเล่นเกมด้วยกันเป็นประจำทุกปี 

 

เมื่อเราเริ่มเติบโตขึ้น สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตเห็นผ่านงาน Thailand Game Show คือ การเติบโตขึ้นของ ‘วงการเกมไทย’ ที่ได้รับการยอมรับจากผู้คนทั่วไปมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นความนิยมของการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต การกำเนิดขึ้นของอาชีพเกมอย่าง ‘แคสเกมเมอร์’ การได้เห็นตัวอักษรภาษาไทยบนตัวเกมระดับโลก รวมถึงผลงานเกมคุณภาพจากผู้พัฒนาเกมไทยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจกล่าวได้ว่า Thailand Game Show ถือเป็นมหกรรมเกมแห่งชาติที่เป็นรากฐานความสำเร็จของวงการเกมไทยในปัจจุบันก็คงไม่ผิดนัก

 

THE STANDARD POP ได้รับเกียรติมาร่วมพูดคุยกับ หนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด และ ขิม-พาทิศ มหากิตติคุณ บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์และผู้จัดการฝ่ายดิจิทัลคอนเทนต์ของ Online Station เกี่ยวกับแนวคิดและเบื้องหลังของโชว์สุดพิเศษภายในงาน Thailand Game Show 2020+1: The Real Show Goes On ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 9-10 มกราคมนี้ (วันเด็กแห่งชาติ) ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน

 

พร้อมทั้งเรื่องราวการเติบโตของวงการเกมไทยตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่งาน Thailand Game Show ปี 2007 ได้เปิดประตูต้อนรับเหล่าเกมเมอร์ไทยเป็นครั้งแรก รวมถึงความใฝ่ฝันของหนุ่ยและขิม ที่อยากเห็นงาน Thailand Game Show คับคั่งไปด้วยบูธเกมจากผู้พัฒนาเกมไทย และเติบโตขึ้นเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้ามาสัมผัสทุกแง่มุมของวงการเกมได้

Thailand Game Show 2020+1

 

ทั้ง 2 คน เริ่มผูกพันกับเกมมาตั้งแต่เมื่อไร

 

หนุ่ย: ผมเป็นนักเล่นเกมยุค 90 เล่นมาตั้งแต่ ป.3 เรียกว่าเป็นฮาร์ดคอร์เกมเมอร์ในยุคเกมตลับ เรายอมใส่แว่นครั้งแรกในชีวิต สายตาสั้นก็เพราะมัน คือต้องเคลียร์ให้จบ เล่นให้ครบเกม เขียนสูตร โทรไปหาสำนักพิมพ์เพื่อเผยแพร่ว่าเรามีเทคนิคยังไงเราถึงชนะเกมนี้ได้ มันก็เป็นความภูมิใจของยุคสมัย 

 

พอเราเริ่มโตขึ้นมาอีกสักนิด ก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เริ่มเอาความสนุกในวัยเด็กมาเป็นงาน เราก็มองไปหาหลายๆ คนที่เล่นเกมมาด้วยกัน แล้วพบว่าเขาไม่ได้มีอาชีพที่สนุกแบบเรา เราจึงมีความใฝ่ฝันที่อยากสร้างงาน Thailand Game Show ขึ้นมา ด้วยความคิดง่ายๆ ว่าอยากสร้างพื้นที่ให้ทุกคนที่เล่นเกมเก่งมาชื่นชมยินดีกับความสามารถในการรัวปุ่มเร็ว ชนะเร็ว ผ่านด่านไว และงาน Thailand Game Show ครั้งแรกก็เริ่มต้นขึ้นในปี 2007 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งมันก็สร้างภาพจำให้กับคอเกมเมอร์ และกลายเป็นปรากฏการณ์สำหรับวงการเกมในระยะแรกเริ่ม 

 

ปีนี้เราเข้าสู่ปีที่ 14 แต่เราจัดงาน 15 ครั้ง เพราะว่าปี 2012 เราจัดต้นปีกับปลายปี ซึ่งปีนี้เราและทาง Online Station ก็ได้กลับมาร่วมสร้างสรรค์งานมหกรรมเกมแห่งชาติกันอีกครั้ง จึงเกิดเป็น Thailand Game Show 2020+1: The Real Show Goes On ขึ้นครับ

 

ขิม: จริงๆ ผมก็เป็นเกมเมอร์มาตั้งแต่เด็กคล้ายๆ กัน แต่อาจจะเป็นเจเนอเรชันถัดมา เล่นเกมมาทุกแพลตฟอร์มเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่อง PC เครื่อง Console จนถึงยุคที่เป็นเกมออนไลน์หรือว่าเกมมือถือ 

 

เรียกว่าทั้งตัวผมและทีมงาน Online Station ทุกคน ซึ่งเป็นมีเดียที่ทำงานเกี่ยวกับสื่อเกมโดยเฉพาะ เราต่างเติบโตมาในยุคใกล้เคียงกัน มีประสบการณ์เกี่ยวกับเกมคล้ายๆ กัน เราจึงมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ อยากทำให้อุตสาหกรรมเกมไทยยิ่งใหญ่เหมือนต่างประเทศ ที่เราสามารถมีอาชีพที่หลากหลายได้ 

 

ซึ่งเราไม่ได้พูดถึงแค่การเป็นเกมเมอร์หรือนักกีฬาอีสปอร์ตอย่างเดียวนะครับ เพราะคนในวงการเกมมีอาชีพที่หลากหลายมาก บริษัทเกม บริษัทสื่อ หรือพาร์ตเนอร์เจ้าอื่นๆ ก็มีองค์ประกอบของทีมงานที่ครบองค์ของการทำบริษัทเอกชนทั่วไป มีฝ่ายบัญชี มีฝ่ายกฎหมาย มีเรื่องของมาร์เก็ตติ้ง มีธุรกิจต่างๆ ที่จำเป็นจะต้องใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับเกม 

 

“ความภูมิใจอย่างหนึ่งคือ ผมได้ปลุกพลังของคนที่เคยสนุกอยู่กับห้องนอน อยู่ในบ้านของตัวเอง แล้วออกมาเจอคนคอเดียวกัน ต่างคนก็ต่างมา ได้เจอคนนั้นคนนี้ แล้วก็ได้เพื่อนใหม่ ได้มาสัมผัสว่าวงการเกมมันใหญ่ขนาดไหน ได้มารู้ว่าเรื่องที่คุณอิน มีคนที่อินกับคุณในจำนวนมหาศาลเลยนะ” 

 

ไม่จำเป็นต้องเรียนมาตรงสาย แต่ทุกคนที่ชอบเล่นเกมและอยากทำงานในวงการเกมก็สามารถทำได้เหมือนกัน

 

ขิม: ถ้าคิดว่าอยากทำงานในวงการเกมแล้วต้องจบตรงสาย คุณต้องเปลี่ยนความคิดแล้ว ลองนึกภาพง่ายๆ วงการเกมสมัยก่อน มันไม่มีหรอก คณะในมหาวิทยาลัย หรือโรงเรียนที่จะสอน ดังนั้นบุคลากรในวงการเกมรุ่นบุกเบิกมาตั้งแต่แรกๆ ไม่มีใครที่จบตรงสาย เขามาด้วยแพสชัน ศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเอง ไปศึกษาจากต่างประเทศบ้าง แล้วเอาองค์ความรู้นี้มาพัฒนาเป็นอาชีพ 

 

เพราะฉะนั้นความฝันของเราง่ายมาก คืออยากผลักดันให้อุตสาหกรรมเกมเติบโตขึ้นแล้วมีอาชีพรองรับ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานอีเวนต์อย่าง Big Festival หรือมาร่วมงาน Thailand Game Show ในปัจจุบัน ก็ด้วยเป้าหมายอยากให้ประเทศไทยมีงานเกมแห่งชาติเหมือนต่างประเทศ เช่น Tokyo Game Show, ChinaJoy, G-Star หรือ E3 

 

หนุ่ย: ไม่มีนักสร้างเกมคนไหนที่ไม่เคยเป็นนักเล่นเกมมาก่อน ตัวผมเองเริ่มทำเกมตั้งแต่ปี 2005 ก่อนที่จะปล่อย ต้มยำกุ้ง ที่เป็นเกมแรกในปี 2006 และเกม ก้านกล้วย ในปี 2007 ได้มีประสบการณ์ขายลิขสิทธิ์เกมในต่างประเทศ เราเห็น G-Star ในเกาหลีซึ่งใหญ่โตมาก เราเห็น E3 ที่ทำให้เราเป็นเหมือนพจมาน สว่างวงศ์ ถือกระชอนเข้าไปในงานแล้วค้นพบว่า โอ้โห ทำไมมันยิ่งใหญ่ขนาดนี้ เราก็ต้องมาสร้างมหกรรมเกมแห่งชาติเหมือนกันนะ และเป็นภารกิจที่เราทำสำเร็จในปี 2007

 

ปัจจุบันผมหยุดบทบาทผู้ผลิตเกมไปแล้ว เพราะผมไปต่อไม่ได้ แต่ในบทบาทผู้จัดงาน Thailand Game Show ผมยังคงดำเนินความตั้งใจนี้ต่อไป เพราะผมเชื่อว่าการจัด Thailand Game Show มีประโยชน์ ทำให้เกิดอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น เช่นที่เราเห็นกันคาตาว่าเกมแคสเตอร์มันเกิดจากงานนี้

 

การที่เราได้มาร่วมมือกับทาง Online Station สร้างความพิเศษให้กับวงการจริงๆ ผู้คนรอคอยเพราะงานจัดปีละหนึ่งครั้ง มันไม่ใช่แค่ตลาดเกมอย่างเดียว แต่เป็นงานที่รวบรวมความฝันและจินตนาการของผู้คนในเจเนอเรชันที่ได้สัมผัสกับเกม มันรวมรวบผู้คนที่ชื่นชอบการ์ตูน คอสเพลย์ ไอที และอีกมากมายที่ธีมของเกมมันพาไป ช่วยสานฝันและจินตนาการที่ผู้คนรอมานาน 

 

ผมสัมผัสกับกลุ่มคน Thailand Game Show มาตั้งแต่ปี 2007 ความภูมิใจอย่างหนึ่งคือ ผมได้ปลุกพลังของคนที่เคยสนุกอยู่กับห้องนอน อยู่ในบ้านของตัวเอง แล้วออกมาเจอคนคอเดียวกัน ต่างคนก็ต่างมา ได้เจอคนนั้นคนนี้ แล้วก็ได้เพื่อนใหม่ ได้มาสัมผัสว่าวงการเกมมันใหญ่ขนาดไหน ได้มารู้ว่าเรื่องที่คุณอิน มีคนที่อินกับคุณในจำนวนมหาศาลเลยนะ

 

Thailand Game Show 2020+1 Thailand Game Show 2020+1

 

ทำไมถึงตั้งชื่อธีมงานในปีนี้ว่า The Real Show Goes On ไซไฟอนาคตกับก้าวที่ไม่หยุดยั้งของวงการเกม 

 

หนุ่ย: แต่เดิมงาน Thailand Game Show เป็นนิทรรศการที่ให้ทุกคนมาสนุกร่วมกัน แต่ด้วยเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เราไม่สามารถเอาคนเข้าไปรวมอยู่ในพารากอนฮอลล์เป็นแสนคนได้เหมือนปีที่แล้ว เพราะเราต้องรักษามาตรการ Social Distancing (การรักษาระยะห่างทางสังคม) ในปีนี้เราเลยต้องผสมผสานสิ่งเดิมที่เราทำได้ดี คือการจัด Exhibition Show หรือนิทรรศการ เข้ากับ Stage Show 

 

โดยเราจะแบ่งงานออกเป็น 2 โซนคือ Game Mart Area ที่อยู่ด้านนอกฮอลล์ เพื่อรองรับกลุ่มคนที่ชื่นชอบการเดินซื้อข้าวของ ฮาร์ดแวร์ อุปกรณ์เกมมิงเกียร์ต่างๆ ได้มาช้อปปิ้งกันแบบจัดเต็ม รวมถึงบูธ Zone Zean Game ที่เราจะยกเครื่อง PlayStation 5 จำนวน 7 เครื่องมาให้แฟนๆ ได้ทดลองเล่นเกมระดับ AAA กันถึง 6 เกม อย่าง Demon’s Souls (จำนวน 2 เครื่อง), Astro’s Playroom, Call of Duty: Black Ops Cold War, Cyberpunk 2077, Marvel’s Spider-Man: Miles Morales และ Devil May Cry 5 Special Edition โดยจำกัดเวลาคนละ 10 นาทีต่อหนึ่งรอบ 

 

Thailand Game Show 2020+1

 

ในส่วน Stage Show Area ที่บริเวณฮอลล์ใหญ่ เราเตรียมโชว์สุดพิเศษมากมายเพื่อมอบสาระและความสนุกให้กับเกมเมอร์ โดยจัดควบคู่กันไปทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ไลฟ์สตรีมผ่านช่องทาง Event Pop Live Streaming ให้เกมเมอร์เข้าชมงานได้แม้จะอยู่ที่บ้าน 

 

ขิม: ในส่วน Stage Show Area ที่จะจัดขึ้นตลอดสองวัน เราเตรียมโชว์ที่หลากหลายเอาไว้ให้ทุกคนได้ร่วมสนุกกัน ไม่ว่าจะเป็น NuiNakeTechTalk อย่าหาว่าน้าสอนเกมเมอร์, Idol Gaming Challenge, งานเปิดตัวโครงการ SDGs Game Fest, PlayStation 5 Showcase ฯลฯ ซึ่งโชว์ของแต่ละวันก็จะไม่เหมือนกัน

 

หนุ่ย: ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของคำว่า The Real Show Goes On เราต้องการให้โชว์ของเราไม่หยุดพัก ปีนี้มหกรรมเกมทั่วโลกจัดออนไลน์หมด ซึ่งสุดท้ายมันไม่ใช่งานครับ มันคือคอนเทนต์ทั้งหมดที่พูดออกมา 

Thailand Game Show 2020+1

 

“สมัยก่อน Thailand Game Show ก็จะมีแต่เกมออนไลน์เต็มไปหมด หลายคนถามทำไมเกม Console ไม่มาเลยพี่ ผมตอบง่ายมาก ก็เพราะว่าเราไม่ได้อุดหนุนตลาด Console ไง เกมออนไลน์ได้รับการอุดหนุน เขาเลยมาคืนกำไรให้กับผู้ที่เล่นเกมของเขาซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มาก” 

 

ตลอดระยะเวลา 14 ปีของงาน Thailand Game Show ทั้ง 2 คนมองเห็นการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของวงการเกมไทยอย่างไรบ้าง

 

หนุ่ย: เรื่องหลักๆ ก็คือแพลตฟอร์มครับ สังเกตว่าส่วนใหญ่ในปีแรกๆ จะมีแต่เกมคอมพิวเตอร์และเกมออนไลน์ แต่วันนี้เกมมือถือเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ใหญ่โตมาก ในขณะที่เครื่องเกม Console ก็มีแสงสว่างมากขึ้น

 

ผมขอเล่าความเพียรผมก่อนแล้วกัน ผมพยายามทำให้งาน Thailand Game Show เป็นงานที่กลมกล่อม ผมก็ไปคุยกับทางญี่ปุ่นเลย โทรไปหอการค้าไทย-ญี่ปุ่นเพื่อหวังว่าจะมีเกม Console มาทำตลาดแบบจริงจังในบ้านเรา เตรียมพรีเซนต์อย่างดี ได้ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ไปช่วยพรีเซนต์ทำสไลด์เป็นสากลทั้งหมด สุดท้ายแล้วก็โดนคำถามเดียวกันในยุคก่อนปี 2010 เขาถามผมว่า คุณว่าถ้าเราจะมาลงตลาดไทยแล้วเราจะขายแผ่นแท้ได้กี่แผ่น 

 

ขิม: ย้ำว่าแผ่นแท้นะ

 

หนุ่ย: เพราะว่าเวลานั้น ตลาดไม่ยอมรับของแท้ เป็นตลาดที่ถือแบงค์พัน ซึ่งจริงๆ ซื้อแผ่นแท้ได้นะ แต่เลือกเดินเข้าไปในตลาดของปลอม ณ เวลานั้นมันเป็นแบบนั้น ซึ่งเราก็ผ่านมุมมองที่คุยกับทุกค่าย อย่าง Microsoft ออฟฟิศอยู่เมืองไทยแท้ๆ ยังไม่ทำตลาด Xbox เลย หรือแม้กระทั่ง Nintendo ซึ่งอยู่ใกล้เราสุดก็สิงคโปร์ 

 

สมัยก่อน Thailand Game Show ก็จะมีแต่เกมออนไลน์เต็มไปหมด หลายคนถามทำไมเกม Console ไม่มาเลยพี่ ผมตอบง่ายมาก ก็เพราะว่าเราไม่ได้อุดหนุนตลาด Console ไง เกมออนไลน์ได้รับการอุดหนุน เขาเลยมาคืนกำไรให้กับผู้ที่เล่นเกมของเขาซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มาก

 

แต่วันนี้เราเริ่มเห็นว่า Sony จริงจังกับเรา สิ่งที่เราเห็นจนถึงตอนนี้ที่เป็นยุค PlayStation 5 คือ เริ่มมีบริษัทที่จริงจังในแง่ของการทำตลาด รวมถึงซอฟต์แวร์ที่ทำลายกำแพงแล้วด้วยเทคโนโลยีที่ล็อกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ 

 

บวกกับตลาดการทำ PlayStation Network เกิดขึ้น การซื้อเกมออนไลน์จาก Steam ที่ค่อนข้างกว้างกว่า บวกกับตลาดเกมมือถือที่มีเกม In-app Purchase คือดาวน์โหลดฟรีไปก่อน ถ้าเล่นแล้วชอบค่อยจ่าย ซึ่งตรงจริตคนไทยมากๆ แต่ในขณะที่โมเดลต่างประเทศ ในอดีตที่ผ่านมามันคือการจ่ายก่อนค่อยไปเล่น ฉะนั้นในวันนี้ผมจึงคิดว่า โลกมันเปิด แพลตฟอร์มเปิด มีความหลากหลายของสื่อที่ใช้สื่อสาร ค่อนข้างไม่มีใครผูกขาดได้อีก 

 

เราได้รับความร่วมมือจากแบรนด์ต่างประเทศมากมายที่เห็นประสิทธิภาพของตลาดเมืองไทยและอยากจะมาเปิดตัวที่นี่ที่แรก อย่างครั้งที่ผ่านมา มีการเปิด Title ภาษาไทยตั้ง 5 เกม เมนูไทยเลยนะ เปิดแผ่นมาปุ๊ปเจอภาษาไทยเลย ซึ่งคน Sony ก็พูดว่านี่มันเป็นเรื่องที่ยากมากนะ แต่ในที่สุดเขาก็ทำสำเร็จ เพราะแต่เดิมเราไม่ได้อยู่ในแผนที่ของตลาดเกม เนื่องจากเราละเมิดลิขสิทธิ์ แต่วันนี้เรากลับมาเป็นผู้บริโภคคุณภาพแล้ว เราพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งและเติบโตไปกับระบบแล้ว 

 

ถ้าให้พูดตรงๆ คือ ถ้าอยากให้วงการเกมไปข้างหน้าก็ต้องอุดหนุนของแท้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซื้อ In-app Purchase ซื้อไอเท็ม หรือซื้อลิขสิทธิ์ ซึ่งวันนี้โดยเทคโนโลยีก็ทำได้ดีแล้ว ราคามันก็ไม่ได้สูงเหมือนในอดีตด้วย 

 

ขิม: ผมเองก็ยังคาดหวังเรื่องของตลาดเกม Console ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะปีหน้า เพราะเป็นที่รู้กันว่ามันจะเปลี่ยนเจเนอเรชันใหม่อย่าง PlayStation 5 ทุกครั้งที่เปลี่ยนเจเนอเรชัน มันจะเกิดการตื่นตัวอะไรบางอย่าง ภาพรวมของเกม Console ในไทย น่าจะมีสัดส่วนที่เยอะขึ้น โดยเฉพาะเจ้าอื่นๆ นอกเหนือจาก PlayStation อย่าง Xbox หรือ Nintendo ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่าเขาจะมาหรือไม่มาลงตลาดนี้จริงจัง แต่เรายังคาดหวังอยู่ 

 

Thailand Game Show 2020+1

 

“อีกอย่างหนึ่งที่น่าลุ้นกว่าเกม AAA และอาจจะเป็นความหวังที่จับต้องได้มากๆ คือเกมประเภทอินดี้ ที่ไม่ได้ใช้ต้นทุนสูงมาก หรือว่าไม่ได้ใช้เวลาทำกันหลายปี แต่มันมีโอกาสโดน มีโอกาสทำรายได้” 

 

นอกจากวงการอีสปอร์ตไทย รวมถึงอาชีพเกมแคสเตอร์และ Influencer ที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น ทางฝั่งผู้พัฒนาเกมไทยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงและเติบโตขึ้นจากเมื่อก่อนอย่างไรบ้าง

 

หนุ่ย: ไม่เติบโตขึ้นในเชิง Develop นับนิ้วได้เลยว่าสตูดิโอมีใครบ้าง ส่วนใหญ่รับจ้างผลิต เป็น Outsourcing Business คือมีโครงเรื่องมา มีคาแรกเตอร์มา แล้วคนไทยก็ทำบางพาร์ต ซึ่งเกมไทยที่ออกไปสู่ Console จริงๆ ก็มีนะ อย่างบริษัท Corecell Technology ผู้พัฒนาเกม AeternoBlade ทั้ง 2 ภาค หรือล่าสุดเกม Timelie จาก Urnique Studio ก็ดีมากๆ 

 

เกมมันไม่ได้ยึดโยงว่าเป็นเกมไทย มันเป็นความสนุกแบบสากล หรือบริษัท Yggdrazil Group ที่ทำเกม Home Sweet Home ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดี เพราะว่าผีไทยมันน่ากลัวมาก ดังนั้นในมุมมองของจำนวนอาจไม่ได้มากขึ้น แต่ในขีดความสามารถของการพัฒนาดีขึ้นครับ 

 

ขิม: ผมคิดใกล้เคียงกับคุณหนุ่ย คิดว่าสิ่งที่มันแตกต่างจากเมื่อก่อน คือเรื่อง Distribution ทั้งแพลตฟอร์มและตลาดที่กว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Steam หรืออะไรก็ตาม มันเปิดโอกาสให้สตูดิโอเล็กๆ หรือระดับกลางๆ ของไทยสามารถมีพื้นที่ในการเผยแพร่ผลงาน หารายได้ มันต่างจากเมื่อก่อนที่ถ้าจะทำเกมพวกนี้ เขาก็ไม่รู้ว่าจะฝากใครขาย เดี๋ยวนี้มีเยอะมาก อันนี้ยังไม่นับแพลตฟอร์มที่เป็นมือถืออย่าง Google Play หรือว่า App Store นะครับ

 

หนุ่ย: เรียกว่าคนเข้าถึงเกมระดับ AAA ของไทยได้มากขึ้น เดิมเราอาจจะยังไปไม่ถึง เนื่องจากมันเป็นเกมสเกลใหญ่มาก ผมเล่าจากยุคผมละกัน ปี 2005 ผมเริ่มทำเกม ต้มยำกุ้ง รวมถึงเกมในช่วงเวลาเดียวกันอย่าง ปักษาวายุ, ก้านกล้วย มันคือเกมจากหนัง มันสามารถยิงตลาดต่างประเทศได้ หลังจากนั้นมันก็ก้าวเข้าสู่ K.I.A. (Killed in Action) ซึ่งเป็นเกมออนไลน์รูปแบบ First Person Shooting ที่ได้สเกลในระดับ AAA แต่วันนั้นมันก็ยังไปไม่ถึงโลก มีกลุ่มคนที่เริ่มรู้จักกันในระดับหนึ่ง คนไทยก็อาจจะยังไม่ได้อุดหนุนมันอย่างเต็มที่ด้วย ยังไม่ได้เล่นกันมากมายเหมือนเกมต่างประเทศ 

 

บ้านเราจะมีปัญหาเรื่อง Lack of Development โดยการที่ของเจ๋งมันมาช้า มันไม่ได้มาพร้อมกันกับของเจ๋งต่างประเทศ ฉะนั้นคนก็อาจจะเทไปเล่นเกมต่างประเทศจนติดแล้ว แล้วอยู่ๆ ของเจ๋งออกมาบ้างมันก็อาจจะไม่ทันกระแส แต่วันนี้ด้วยความที่ Steam เป็นตลาดที่ขายได้ง่าย เกม Console เดี๋ยวนี้ก็ต้อนรับเกมไทยทั่วไป เริ่มวางขายอยู่บนเชลฟ์เกม Console ของต่างประเทศมากขึ้น 

 

แต่ว่าวันนี้ Thailand Game Show เราจัดมาต่อเนื่อง 15 ครั้ง สิ่งที่เราทำได้แน่ๆ แล้วก็คือการยกระดับวงการเกม การชี้ให้สังคมเห็นถึงฐานอาชีพใหม่ๆ ที่มันมีคลุกเคล้าอยู่ในแวดวง แต่ในสเตปถัดไปเรื่องของ Development มันอาจจะใหญ่เกินตัวเรา มันต้องรอความพร้อมของทั้งภาคการลงทุนด้วย ผู้ผลิตด้วย รวมไปถึงผู้ที่พร้อมจะเสพมัน 

 

ขิม: ในส่วนทรัพยากรบุคคลที่ปัจจุบันอยู่ในสายของผู้พัฒนาเกม นอกเหนือจากสตูดิโอ จริงๆ เราก็จะพบว่าตัวสตูดิโอของไทยเอง หรือบุคคลที่เขาอาจจะมีความสามารถ เขาก็เป็นเอาต์ซอร์สให้กับเกมระดับ AAA ของโลกนะ ไม่ว่าจะเป็นสาย Console สาย PC บางคนเป็นเบื้องหลังของผู้สร้าง Final Fantasy XV แต่บางทีเขาอาจจะมี NDA (Non-Disclosure Agreement) หรือว่าเป็นข้อมูลความลับบางอย่างที่เขาเปิดเผยไม่ได้ 

 

ตัวอย่างเกม Timelie

 

 

ตัวอย่างเกม AeternoBlade II

 

 

คิดว่ายังอีกไกลไหมที่เราจะได้เห็นเกมระดับ AAA โดยฝีมือของผู้พัฒนาเกมไทยทั้งหมด

 

หนุ่ย: อีกไกลนะ ถ้าพูดเรื่องการพัฒนา แต่ว่าวันนี้โลกมันแคบลง จากการที่ทุกคนสามารถสื่อสารกันได้ เราอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของเกมระดับ AAA ซึ่งในอดีตเป็นอยู่แล้ว เพียงแต่ในอนาคตอาจจะมีเรื่องของ Co-Production มีชื่อร่วมผลิตด้วย 

 

เพียงแต่ว่าในเชิงของธุรกิจวันนี้ การรับจ้างผลิตมันชัวร์ เหมือนงานรับเหมามา ทำแล้วมีกำไรแน่นอน แต่การจะลงทุนไปด้วย อันนี้มันยังมีความเสี่ยงอยู่ เพราะว่าเกมระดับ AAA เขาใช้เงินเป็นร้อยล้าน ฉะนั้นในมุมมองการทำโปรเจกต์ใหญ่ที่ใช้เวลา 2 ปี หรือ 5 ปีจบ มันจะต้องมีเม็ดเงินที่เข้ามาแล้วบริษัทเหล่านั้นต้องสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าเขาทำแล้วจะได้ผล 

 

เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงเหมือนอุตสาหกรรมรถยนต์ คือลงทุนทำตัวถังแล้วทำอะไรเสร็จแล้ว ต้องมานั่งทำแบรนดิ้ง เกมก็คล้ายๆ กัน เป็นเรื่องความเชื่อมั่น ถ้าเราบอกว่าเกมนี้มาจาก Bandai Namco หรือมาจาก Blizzard เราจะมั่นใจว่ามันดีแน่นอน แต่พอมาจากผู้ผลิตหน้าใหม่ เขาก็จะสงสัยและตั้งคำถาม 

 

ฉะนั้นผมมีความมั่นใจว่าโลกยุคใหม่ มีตลาดที่เปิดอย่างเสรีให้ผู้พัฒนาไทยเข้าไปยืนอยู่ได้ แต่จะใหญ่ได้ไหม อันนี้ต้องใช้การส่งเสริมและสนับสนุน 

 

ขิม: ผมว่าอีกอย่างหนึ่งที่น่าลุ้นกว่าเกม AAA และอาจจะเป็นความหวังที่จับต้องได้มากๆ คือเกมประเภทอินดี้ ที่ไม่ได้ใช้ต้นทุนสูงมาก หรือว่าไม่ได้ใช้เวลาทำกันหลายปี แต่มันมีโอกาสโดน มีโอกาสทำรายได้ 

 

ผมว่าเกม Timelie หรือว่าแม้กระทั่ง Home Sweet Home ก็เป็นกึ่งๆ เกมประเภทนั้นนะ ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทย สตูดิโอเมืองนอกที่เป็นสตูดิโอเล็กๆ จริงๆ เขาก็ทำเกมสเกลแบบนี้เยอะ เพราะว่าการเปิดกว้างของแพลตฟอร์มที่เอาเกมไปวางจำหน่ายในปัจจุบัน มันทำให้เกมเหล่านี้มีโอกาสมากขึ้น มันไม่ใช่แค่เกมระดับ AAA อย่างเดียว 

 

หนุ่ย: เกมบนมือถือเป็นต้น

 

ขิม: ผมยกตัวอย่างเกมที่กำลังได้รับความนิยมตอนนี้อย่าง Among Us ที่กราฟิกก็เป็น 2D ขายแค่คอนเซปต์เกมล้วนๆ มันก็สามารถฮิตได้ ทำรายได้ระดับโลกได้ ซึ่งมันก็ไม่ได้จำเป็นว่ามันจะต้องเป็นเกมระดับ AAA อย่างเดียว 

 

Thailand Game Show 2020+1

 

“สุดท้ายตัวผู้พัฒนาไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนหรือสตูดิโอไหน เขาก็จะต้องพยายามพัฒนาด้านนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะทำยังไงให้เกมที่เป็นลักษณะเนื้อเรื่อง มันมีทางแยกของเนื้อเรื่องที่ทำให้คนรู้สึกว่าฉันดูกับฉันเล่นมันไม่เหมือนกัน”

 

เกม Home Sweet Home ถือเป็นหนึ่งเกมจากฝีมือคนไทยที่โด่งดังมากๆ แต่ผู้คนส่วนใหญ่กลับเลือกที่จะดูผ่านเกมแคสเตอร์หรือสตรีมเมอร์มากกว่าซื้อมาเล่นเอง สิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้ มันจะส่งผลกระทบต่อวงการเกมและผู้พัฒนาการเกมไทยในอนาคตอย่างไรบ้าง 

 

หนุ่ย: จริงๆ ทุกวันนี้เกมใหญ่ๆ ก็เป็นแบบนั้นนะ เด็กมักจะเลือกที่จะดูคนอื่นเล่น นี่คือสาเหตุว่าทำไมถึงมีอาชีพเกมแคสเตอร์เกิดขึ้น ซึ่งผมมองว่ามันเป็นทั้งบวกและลบ บวกก็คืออาชีพของเกมแคสเตอร์ก็มีรายได้จากยอดวิวจำนวนมหาศาลที่คนเข้ามาดูเกมๆ หนึ่งที่ถูกพูดถึงผ่านคนที่เขามีอิทธิพล

 

แต่ว่าถ้าในแง่ของนักพัฒนา มองในมุมโฆษณามันคือการโฆษณาแบบฟรีนะ ที่จะสามารถโฆษณาเกมของเขาออกไปได้ แต่เราก็ต้องไปวัดกันที่จำนวนผู้บริโภคอีกครั้งหนึ่ง เพราะตลาดมันเปลี่ยนทรง 

 

ปัจจุบันช่องทางเกมแคสเตอร์หรือการดูสตรีมเมอร์คือหนึ่งในสื่อที่ช่วยเรื่องการโปรโมตเกม แต่ในส่วนคนซื้อเขาก็ต้องเป็นคนที่ลุ่มหลงและอยากจะสัมผัสด้วยตัวเอง ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าเสมอ ฉะนั้นมองในมุมหนึ่งการที่มีเกมแคสเตอร์หรือสตรีมเมอร์เข้ามา ก็ช่วยทำให้เกมเป็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางมากขึ้น

 

ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นการประหยัดต้นทุนโปรโมตด้วย เพราะว่าการโปรโมตไปล้านคน ไม่ได้แปลว่าจะซื้อล้านคน หลายๆ เกมที่ใช้งบโฆษณาไปแล้วอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าสตรีมเมอร์ดังๆ มาพูดถึง เรียกว่าเป็นน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอย่างหนึ่ง ก็เหมือนศิลปินกับนักข่าว แม้ว่าทุกวันนี้เขาจะมีสื่อของเขาเองที่เขาจะวิ่งไปหาผู้ฟัง แต่ว่าการจะทำให้มันรู้จักเป็นที่ทั่วถึงมันก็ต้องมีคนอื่นมาพูดถึงด้วย 

 

ผมเลยมองเป็นสองมุม การบังคับให้คนซื้อได้มันเป็นเรื่องที่ยากที่สุดอยู่แล้ว แต่ว่าการเผยแพร่ให้ดูมันกลับง่ายกว่า มันอยู่ที่การตัดสินใจของเขาอยู่ดีว่าเขาจะมีภูมิหลังกับมันแค่ไหน เขาเป็นคนซื้อเกมอยู่แล้วรึเปล่า

 

ขิม: อีกส่วนหนึ่งน่าจะอยู่ที่เรื่องของวิธีการพัฒนาเกมด้วย เพราะเกมที่จะโดนผลกระทบจากประเด็นนี้ค่อนข้างเยอะ ส่วนใหญ่จะเป็นเกมเนื้อเรื่องมากกว่าเกมอีสปอร์ต โดยเฉพาะเกมเนื้อเรื่องในลักษณะที่เป็นเส้นตรง ซึ่งผมว่าสุดท้ายตัวผู้พัฒนาไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนหรือสตูดิโอไหน เขาก็จะต้องพยายามพัฒนาด้านนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะทำยังไงให้เกมที่เป็นลักษณะเนื้อเรื่อง มันมีทางแยกของเนื้อเรื่องที่ทำให้คนรู้สึกว่าฉันดูกับฉันเล่นมันไม่เหมือนกัน 

 

Thailand Game Show 2020+1

 

“ผมอยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองเห็น ผมไม่ได้สร้างงานขึ้นเพื่อให้นักเล่นเกมมาอย่างเดียว เราอยากให้พ่อแม่ที่อาจจะต่างเจเนอเรชันจากเขา ได้มาเห็นความกว้างใหญ่ของอุตสาหกรรมนี้ เพราะนี่คือสิ่งที่ลูกของคุณกำลังบริโภคอยู่”

 

ณ เวลานี้วงการเกมไทยได้รับความยอมรับและเติบโตมากขึ้นจากเมื่อก่อนอย่างเห็นได้ชัด ทั้ง 2 คนคิดว่ามีเรื่องอะไรที่น่ากังวลบ้าง หากวงการนี้เริ่มใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ

 

หนุ่ย: ในมุมมองผมนะ ผมจะกังวลมากถ้าวงการนี้มันใหญ่แล้วคุณผู้อ่านยังไม่ไป Thailand Game Show ผมอยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองเห็น ผมไม่ได้สร้างงานขึ้นเพื่อให้นักเล่นเกมมาอย่างเดียว เราอยากให้พ่อแม่ที่อาจจะต่างเจเนอเรชันจากเขา ได้มาเห็นความกว้างใหญ่ของอุตสาหกรรมนี้ 

 

เพราะนี่คือสิ่งที่ลูกของคุณกำลังบริโภคอยู่ อย่างน้อยๆ คุณควรจะรู้เรตของมันสักนิดก็ยังดี เกมนั้นเกมนี้เรตเป็นยังไง เหมาะสมไหม การเปิดตัวเกมใหม่จากค่ายเกมชั้นนำ รวมไปถึงเรื่องพูดจาภาษาเดียวกัน การควบคุมการเล่นเกมมันไม่ใช่การต่อต้านเหมือนโลกอดีต มันเป็นการพูดกันอย่างเข้าใจ 

 

วันนี้ผมจัดงาน ผลประโยชน์ที่ผมได้รับคือผมสามารถสอนลูกได้ถูกว่า วันนี้เขายังเด็กอยู่ ควรจะเล่นแบบไหน ลูกผมเชื่อเรื่องกฎ 13 ปีของ Facebook มากนะ ไม่สมัครก่อน เพราะอะไรก็ตามที่เป็นโซเชียลเน็ตเวิร์ก มีการพูดคุยติดต่อกันก็ต้องมีอายุ 13 ปีขึ้นไป ทุกวันนี้เขาก็เล่นโซเชียล เกมสำหรับเด็ก ซึ่งผมคิดว่าถ้าผู้ปกครองได้มีโอกาสมา Thailand Game Show  มันจะเป็นเรื่องดีมาก คือมาให้เห็นกับลูกนี่ล่ะ จูงมือมาด้วยกันเลย แล้วเราก็มาดูพร้อมกันว่ามันกำลังมีสิ่งนี้เกิดขึ้นอยู่

 

ขิม: ส่วนตัวผมเอง สมมติว่าวงการเกมมันเติบโตขึ้นไปไกลกว่าตอนนี้ ผมว่าความกังวลเดียวที่ผมมี มันจะเป็นเรื่องของความเข้าใจในระหว่างเจเนอเรชัน คือผมมีความรู้สึกว่าอะไรก็ตามที่เป็นของใหม่ บูมขึ้นมาหรือมีการเติบโตที่ก้าวกระโดด แล้วผู้คนในสังคมอาจจะมีช่องว่างของเจเนอเรชันที่เขาไม่เข้าใจ  

 

ส่วนใหญ่มักจะมาด้วยมาตรการในเชิงที่หยุดยั้งมัน มากกว่าที่จะพยายามทำความเข้าใจ ผมว่าอันนี้เป็นความกังวลหลัก ถ้ามันไปถึงจุดที่มีการเติบโตก้าวกระโดด ผมก็อยากจะให้มีการทำความเข้าใจและศึกษามันมากกว่า เพื่อที่จะให้มันไปได้แบบไม่มีพิษไม่มีภัย 

 

หนุ่ย: พูดง่ายๆ หนีไม่ได้ แต่คุณจะเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันกับมันยังไง ซึ่ง Thailand Game Show จะทำให้ภาพนี้ชัดเจนขึ้นครับ

 

มองภาพอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า ทั้ง 2 คนอยากให้งาน Thailand Game Show และวงการเกมไทยเป็นอย่างไร

 

หนุ่ย: ผมก็อยากเห็น Thailand Game Show ที่เปิดประตูเข้าไปแล้วเจอเกมไทยที่มาออกบูธอย่างคับคั่ง วันนี้เราเจอ Publisher ไทยที่นำเกมจากต่างประเทศเข้ามา ในอดีตเกม PangYa หรือเกมอะไรต่างๆ ก็มีผู้พัฒนาไทยทำงานกับทีมเกาหลี แต่มันก็เป็นภาพของเกมเกาหลีถูกไหมครับ 

 

ฉะนั้นในอนาคตอีก 10 ปี มันนานพอที่เราอยากจะหวังว่า Thailand Game Show ใน 2030 จะเป็นงานที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีของเกมไทย ซึ่งเราอยากให้เกิดขึ้นในแบบที่เป็นสากลด้วยนะ ไม่ใช่มีแต่สไตล์เกมไทยลายกนกอย่างเดียว 

 

เราอาจจะมีเกมแบบ Timelie ที่เล่นแล้วให้ความรู้สึกเป็นสากล สนุกในระดับที่ โอ้โห ครีเอทีฟสร้างสรรค์สุดๆ เพราะนี่คืออุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และความครีเอทีฟของผู้พัฒนาเกมไทยก็ไม่แพ้ใครในโลก เพียงแต่ยังไม่ชนะเท่านั้นเอง เราก็อยากให้ชนะด้วยในแง่ของการสร้างการยอมรับ 

 

ขิม: นอกเหนือจากการได้เห็นเกมไทยเข้ามาเต็มฮอลล์แล้ว ความหลากหลายในอุตสาหกรรมเกมก็เป็นอีกหนึ่งความฝันของ Thailand Game Show รวมถึงตัวผมเองด้วย ถ้าเราไปดูงานเกมเมืองนอก ความครบเครื่องของงานมีสูงมาก เขามีแม้กระทั่งบอร์ดเกมอยู่ในอีเวนต์ 

 

เขามีส่วนที่เป็น Game Director, Game Designer, Artist เป็นพาร์ตหนึ่งของงาน ไม่ใช่มีแค่พาร์ตของคนทำเกมกับผู้เล่นหรือ Publisher แต่เขามีมากกว่านั้น เขามีภาคการศึกษา ครบเครื่องมากอยู่ในงานเดียว เป็นงานเกมแห่งชาติจริงๆ ที่ทุกคนควรจะมาสัมผัสทุกมุมของอุตสาหกรรมเกมได้ คุณจะมาหาอาชีพคุณต้องมาได้ คุณจะมาดูเฉยๆ เอาเอนเตอร์เทนก็มาได้ หรือจะมาดูที่เรียนต่อคุณก็ยังได้

 

สามารถติดตามรายละเอียดงาน Thailand Game Show 2020+1: The Real Show Goes On ได้ผ่านทาง

https://www.facebook.com/thailandgameshow/

https://www.thailandgameshow.com/

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

FYI
  • บัตรเข้าชมโซน Stage Show Area ทั้ง 2 วันจะแบ่งการขายบัตรออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ บัตรเข้าชมแบบออฟไลน์และออนไลน์
  • สำหรับบัตรเข้าชมโชว์แบบออฟไลน์ราคา 100 บาทต่อหนึ่งวัน และบัตรแบบออนไลน์ราคา 70 บาทต่อหนึ่งวัน โดยสามารถรับชมผ่านช่องทาง Event Pop Live Streaming สามารถตรวจสอบรายละเอียดและซื้อบัตรเข้าชมงานได้ผ่านทาง https://www.eventpop.me/e/9949/tgs2020
  • สำหรับโซน Game Mart Area จะเปิดให้ทุกคนเข้าชมแบบฟรีๆ โดยสามารถจองคิวเข้างานผ่านแอปพลิเคชัน QueQ กดจองคิวได้ในรัศมี 2 กิโลเมตรจากงาน และจะมีการแจ้งเตือนเมื่อใกล้ถึงคิว เพื่อความสะดวกสบายและลดความแออัดของผู้เข้าร่วมงาน
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising