×

เศรษฐกิจไทยขาลง แต่ทำไมนักวิเคราะห์ 3 แบงก์มอง กนง. คงดอกเบี้ยฯ ที่ 0.50% ตลอดทั้งปี

25.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • การประชุมครั้งล่าสุด กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะยังชะลอตัว ปรับคาดการณ์ GDP ปี 2563 หดตัวแรงขึ้น 8.1% 
  • กรุงไทย-กรุงศรีฯ-ไทยพาณิชย์ มองปี 2563 กนง. จะคงดอกเบี้ยอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดทั้งปี 2563 เพราะ Policy Space มีจำกัด และต้องรอดูภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2/63 ที่น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้

เศรษฐกิจไทยปี 2563 ยังส่อเค้าชะลอตัวต่อเนื่อง ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่งปรับประมาณการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2563 ว่าจะหดตัวแรงขึ้น โดยหดตัวถึง 8.1% จากก่อนหน้านี้ที่คาดการณ์ว่าจะหดตัว 5.3%

ภายใต้เศรษฐกิจชะลอตัวแบบนี้ หลายฝ่ายเลยจับตามองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะหั่นดอกเบี้ยนโยบายลงอีกหรือไม่ โดยเมื่อวานนี้ (24 มิถุนายน) กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี หลังจากที่ลดดอกเบี้ยฯ มาแล้ว 3 ครั้งจากต้นปี 2563 ที่ผ่านมา

– การประชุม กนง. ครั้งที่ 1/63 (5 กุมภาพันธ์) มีมติลดดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปี (จาก 1.25% เหลือ 1.00%) 

– การประชุมนัดพิเศษ (20 มีนาคม) มีมติลดดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปี (จาก 1.00% เหลือ 0.75%) 

– การประชุม กนง. ครั้งที่ 3/63 (20 พฤษภาคม) มีมติลดดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปี (จาก 0.75% เหลือ 0.50%)

 

ทำไม กนง. ไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายอีก

 

พิมฉัตร เอกฉันท์ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า การประชุม กนง. ครั้งนี้ และตลอดปี 2563 นี้คาดว่า กนง. จะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก โดยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับปัจจุบันที่ 0.50% ต่อปี ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์แล้ว ขณะที่ดอกเบี้ยที่แท้จริง (ดอกเบี้ยนโยบาย-อัตราเงินเฟ้อ) ยังเพิ่มสูงขึ้นเพราะเงินเฟ้อที่ติดลบ ดังนั้นปัจจุบันต้นทุนทางการเงินถือว่าเพิ่มขึ้น กระทบต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจอยู่แล้ว

นอกจากนี้ Policy Space (ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน) ยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด เพราะตั้งแต่วิกฤตโควิด-19 รุนแรงขึ้น ธปท. เคลื่อนไหวเร็วกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา โดยการลดอัตราดอกเบี้ยมา 3 ครั้งตั้งแต่ต้นปีนี้ ซึ่งการลดดอกเบี้ยถือว่ากดดันรายได้หลักของธนาคารพาณิชย์ (รายได้หลักคือรายได้ดอกเบี้ย) ธนาคารพาณิชย์ยังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากปัจจัยอื่นๆ เช่น ความจำเป็นในการปล่อยกู้มากขึ้น (ตามคำสั่งของภาครัฐ) 

 

ดังนั้นหลังจากนี้น่าจะเห็น กนง. ออกมาตรการด้านอื่นๆ เพิ่มเติม น่าจะเห็นนโยบายเชิงอุปทานมากขึ้นส่งเสริมการจ้างงาน เพราะเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเศรษฐกิจและธุรกิจที่แย่ลง ขณะเดียวกันต้องติดตามเม็ดเงินกู้ 4 แสนล้านบาทที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมองว่าโครงการที่เสนอมาส่วนใหญ่ไม่ต่างจากโครงการที่หน่วยงานต่างๆ เคยทำมาแล้ว และอาจไม่กระตุ้นเศรษฐกิจในวิกฤตนี้เท่าที่ควร

 

EIC – กรุงศรี มอง กนง. คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ตลอดทั้งปี 2563 เผยบาทแข็งค่าขึ้น

 

ศูนย์วิจัย เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดการณ์ว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยจะรอประเมินแนวโน้มและสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังจากไตรมาส 2 ที่คาดว่าเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ และภาวะการเงินเริ่มผ่อนคลายลงในบางมิติ

 

ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/63  EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ ตามสถานการณ์โควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัย และเริ่มมีการเปิดเมืองในหลายประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป 

 

ขณะที่กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองในทางเดียวกันว่า ตลอดทั้งปีนี้ กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% และจะมีการพิจารณาการใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมถ้ามีเหตุจำเป็น  

 

โดยผลการประชุม กนง. ครั้งล่าสุด (24 มิถุนายน) หลังประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่ตลาดคาดไว้ ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาที่ระดับ 30.82 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีมานี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงราว 3% เพราะผลกระทบจากโควิด-19 และภาวะเงินทุนไหลออก 

 

สุดท้ายเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัวไปอีกพักใหญ่ โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 2/63 นี้ที่หลายฝ่ายมองว่าจะเป็นจุดต่ำสุดของทั้งปี โดยธนาคารกรุงไทย มองว่า GDP ไทยปีนี้ จะติดลบกว่า 8% และหากมีการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ก็มีโอกาสที่ GDP ไทยจะติดลบ 12% เป็นผลจากการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน ขณะเดียวกันการจ้างงานก็อาจต่ำลงด้วย 

 

อย่างไรก็ตามหลังจากนี้สิ่งที่ต้องจับตามองคือ หนี้เสีย (NPLs) รวมถึงหนี้ครัวเรือนของไทยจะเพิ่มขึ้นไปถึงระดับไหน จะใกล้ระดับ 80% ที่หลายฝ่ายกังวลหรือไม่ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 คงออกมาให้เห็นกัน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising