ก่อนหน้านี้สื่อนอกต่างจับตาหาก เศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไปจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยแค่ไหน โครงการเรือธงของพรรคเพื่อไทยอย่างดิจิทัลวอลเล็ต และแลนด์บริดจ์ จะได้ไปต่อหรือไม่?
สืบเนื่องจากกรณี 40 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้ว่าพิชิตขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม เนื่องจากเคยถูกคำสั่งศาลฎีกาคุมขังเป็นเวลา 6 เดือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จับตาดิจิทัลวอลเล็ตเสี่ยงถึงทางตัน หาก ธปท. ไม่ยอมให้บล็อกเชนเชื่อมกับระบบโอนเงินแบงก์พาณิชย์ หวั่นกระทบระบบการเงินประเทศ
- หนี้ครัวเรือนไทยจ่อโตแซง GDP
- ฟองสบู่ราคาบ้าน 1-3 ล้านใกล้แตก? จากหนี้เสีย 1.2 แสนล้าน หลังคนรายได้น้อย-ปานกลางเริ่ม ‘ผ่อนบ้านไม่ไหว’ จากปัญหาค่าครองชีพที่แพงขึ้น
แม้พิชิตได้ลาออกไปแล้ว และเศรษฐา ซึ่งดำรงตำแหน่งมาได้ไม่ถึง 1 ปีเต็มนัก ยืนยันว่าเขาบริสุทธิ์
ล่าสุดวันนี้ (14 สิงหาคม) เมื่อเวลา 15.30 น. ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ถอดถอนความเป็นรัฐมนตรีของเศรษฐา ทำให้สิ้นสุดความเป็น ‘นายกรัฐมนตรี’ ส่งผลให้หลังจากนี้
- นายกฯ พ้นจากตำแหน่ง ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ และไม่สามารถทำหน้าที่ ‘รักษาการนายกฯ’ ได้
- คณะรัฐมนตรี (ครม.) 34 คน พ้นจากตำแหน่ง แต่ยังสามารถทำหน้าที่ ‘ครม. รักษาการ’ ได้
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามเดิมได้
Krystal Tan นักเศรษฐศาสตร์จาก Australia and New Zealand Banking Group กล่าวว่า “หากมองด้านเศรษฐกิจ ความกังวลแรกที่อาจจะเกิดขึ้นคือความเสี่ยงที่จะเกิดการประท้วงและอาจจะส่งผลต่อความล่าช้าของงบประมาณปี 2568”
ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท นั้น “หากพรรคเพื่อไทยไม่สามารถรักษาตำแหน่งนายกฯ ไว้ได้ ก็จะมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะล่าช้าออกไปอีก หรือยกเลิกไปในที่สุด”
สำนักข่าว Bloomberg วิเคราะห์คำวินิจฉัยไว้ 2 ฉากทัศน์ ดังนี้
THE STANDARD WEALTH รวบรวมผลการดำเนินงานของเศรษฐาในเวลาเกือบ 1 ปี หากย้อนเวลาช่วงเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ เศรษฐาจะครบรอบการทำงานเป็นนายกฯ 1 ปีเต็มในเดือนกันยายน 2567 ในมุมของโครงการลงทุนเศรษฐกิจที่เป็นเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลถือว่ายังไม่ถึงฝั่งฝันนัก โดยเศรษฐาหมายมั่นว่าจะดึงดูดการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ หวังผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัวเฉลี่ย 5%
เมื่อประกอบกับที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์ GDP โต 2.7% หลายองค์กรและหน่วยงานเศรษฐกิจต่างก็คาดการณ์ว่า GDP ไทยปีนี้น่าจะขยายตัวเต็มที่ในกรอบ 2.4-2.8% ดูท่าทีน่าจะยังห่างไกล
ย้อนดูโครงการสำคัญของรัฐบาลเศรษฐา มีอะไรบ้าง คืบหน้าถึงไหน
- กระตุ้นเศรษฐกิจ กระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ขยับไทม์ไลน์ออกไปไตรมาส 4/67 คาดว่าจะกระตุ้น GDP 1.2-1.8%
- แลนด์บริดจ์ยังเดินหน้าโรดโชว์จีบนักลงทุน เช่น
- CHEC บริษัทก่อสร้างและสาธารณูปโภคใหญ่ที่สุดของจีน
- กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ ซาอุดีอาระเบีย
- Sultan Ahmed bin Sulayem ประธาน Dubai Port World (DP World) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)
- ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex (คาสิโน) อยู่ระหว่างประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นทุกฝ่าย
- เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อยู่ระหว่างเร่งเครื่อง 4 เมกะโปรเจกต์ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, สนามบินอู่ตะเภา, เมืองการบิน, ท่าเรือมาบตาพุด เป้าหมายดึงดูดเม็ดเงิน 2.2 ล้านล้านบาท
- ตั้งเป้ากระตุ้นการท่องเที่ยวปีนี้ให้ได้ 3.5 ล้านล้านบาท
- อยู่ระหว่างเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนแหล่งก๊าซไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area: OCA)
- ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน คาดหวังไว้ว่าจะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม
เอกชนช็อก! หวั่นการลงทุนหยุดชะงัก
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในมุมของภาคเอกชนก็ได้สะท้อนให้เห็นภาพหลายแล้วว่าวันนี้ไทยมีปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุมเร้า รวมถึงมีความท้าทายมากมายที่เกิดขึ้นในโลก และไทยก็ยังอยู่ในช่วงที่จะต้องรีบเร่งสร้างความเชื่อมั่น สร้างการลงทุนใหม่ๆ เชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ
“ผมคิดว่าช่วงนี้เป็นจังหวะที่สำคัญ และปัจจัยที่เป็นตัวพิจารณาสำหรับนักลงทุนก็คือการเมือง เราต้องมีการเมืองที่มีเสถียรภาพ หรือว่ามีความนิ่งและต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาไม่มีความต่อเนื่องมานาน การเปลี่ยนขั้วพรรคการเมืองตลอดเวลาก็จะทำให้นโยบายที่รัฐบาลเคยขับเคลื่อนนั้นหยุดชะงักไป มันก็ขาดความต่อเนื่อง ซึ่งถ้าผลออกมาว่านายกฯ ได้ไปต่อ ผมคิดว่าก็จะทำให้ระบบในประเทศเดินหน้าต่อได้
“โดยนักลงทุนก็ยังเฝ้ารอลุ้นเหมือนกับทุกๆ คน และคิดว่าทุกคนก็จะโล่งอกแล้วก็จะเดินหน้าต่อ แต่ถ้าผลออกมาว่าถอดถอน ผมก็คิดว่ามันจะมีผลอันดับแรกคือช็อก แล้วก็ชะงัก ซึ่งแต่ละฝ่ายก็จะต้องกลับไปทบทวนว่าการลงทุนจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่” เกรียงไกรกล่าว
เกรียงไกรกล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าตั้งแต่มีคดี ตลอดระยะเวลากว่า 80 วัน ทุกคนก็ชะลอการลงทุนอยู่แล้วและรอดูกันอยู่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ทุกฝ่ายมอนิเตอร์ ติดตามผล แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอุตสาหกรรมจะหยุดหมด เพราะก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของอุตสาหกรรมนั้นๆ ด้วย
ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศ ฝั่งสหรัฐอเมริกา ยุโรป อาจจะให้น้ำหนักในเรื่องนี้มาก เรียกว่าซีเรียสเลยก็ว่าได้ ทำให้มีนักธุรกิจหลายรายต้องการความชัดเจนและพูดคุยสอบถามกับ ส.อ.ท. ตลอดเวลา แต่นักลงทุนทั้งโซนเอเชียเอง อย่างนักลงทุนจากญี่ปุ่นที่ถือว่าเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของไทย และอยู่ในประเทศมา 40-50 ปี ก็อาจจะเริ่มเรียนรู้และสามารถปรับตัวได้
“ตลอดระยะเวลาในช่วงปี 1 ที่ผ่านมา ผมคิดว่าเราต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลในชุดของเศรษฐา เพราะขึ้นมาเป็นรัฐบาลในช่วงที่เกิดความท้าทายของโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า ภูมิรัฐศาสตร์ การที่ต้องเลือกข้าง การย้ายฐานการผลิตจำนวนมากที่ไม่เคยรุนแรงและเข้มข้นขนาดนี้มาก่อน รวมถึงปัญหาสะสมของไทยที่ลึกไปในเชิงโครงสร้างมานาน แต่นายกฯ ก็สามารถเข้ามาทำงาน ปรับตัว และใช้เวลาไม่มาก 3-4 เดือน ก็เริ่มพอเข้าใจในหน้าที่และมีแนวทางแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ ได้” เกรียงไกรกล่าว