ตลาด Digital Health ในไทยถูกประเมินว่า จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 11.17% ในช่วงปี 2022-2026 จนมีมูลค่า 1.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท ทำให้ ‘Garmin’ ไม่รอช้าส่ง ‘Garmin Health’ รุกจับลูกค้าองค์กร
“ตลาดไทยมีศักยภาพในหลายๆ ด้าน ในช่วง 5 ปีมานี้รายได้เติบโตมากถึง 217%” สค็อปเพน ลิน Assistant General Manager of Garmin Asia กล่าว โดยไม่ขอเปิดเผยว่าไทยสร้างรายได้ให้กับ Garmin ในลำดับที่เท่าไรในเอเชีย
นอกจากเรื่องเทคโนโลยี GPS การติดตามกิจกรรม และการออกกำลังกาย สค็อปเพนบอกว่าการติดตามสุขภาพก็เป็นอีกเรื่องที่ Garmin ให้ความสำคัญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
และจากการสังเกตการณ์พฤติกรรมการดูแลสุขภาพของคนไทยอย่างต่อเนื่องด้วย Garmin Connect ทำให้สังเกตเห็นเทรนด์พฤติกรรมการดูแลสุขภาพเชิงรุกของคนไทยอยู่ในระดับต่ำ โดยอ้างอิงจากตัวชี้วัดสำคัญ 3 ตัว ได้แก่
- อัตราการเผาผลาญแคลอรี่ (Resting Calories) ที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีอัตราการเผาผลาญแคลอรี่เฉลี่ยน้อยที่สุดในเอเชีย
- อัตราระดับความเข้มข้นในการออกกำลังกายต่อสัปดาห์ (Intensity Minute) เฉลี่ยน้อยที่สุดในเอเชียรองจากอินเดีย โดยผู้หญิงมีการออกกำลังกายแบบนี้เพียง 24 นาทีต่อสัปดาห์
- มีอัตราการเผาผลาญแคลอรี่ระหว่างทำกิจกรรม (Active Calories) เฉลี่ยต่ำที่สุดในเอเชีย
จากข้อมูลดังกล่าว ประกอบกับการที่คนไทยหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ตลาด Digital Health ที่กำลังเติบโต ไทยก็กำลังเดินหน้าเข้าสู่การเป็น Medical Hub ในอาเซียน Garmin จึงมองเห็นโอกาส เปิดตัว Garmin Health
สำหรับ Garmin Health เป็นยูนิตหนึ่งที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2014 โดยได้นำเสนอธุรกิจโซลูชันด้านดิจิทัลเฮลท์ (Digital Health Solutions) ผ่านนวัตกรรม เทคโนโลยีที่สวมใส่ได้ (Wearable) ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับหลากหลายอุตสาหกรรม โดยไทยถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่รุกธุรกิจนี้
“เราตั้งเป้าขยายกลุ่มพาร์ตเนอร์ไปยังหลากหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการดูแลสุขภาพเชิงรุก ซึ่งไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจ ผู้บริโภคพร้อมที่จะทดลองเทรนด์ใหม่ๆ” สค็อปเพนกล่าว พร้อมยกตัวอย่างว่า ธุรกิจประกันสามารถนำข้อมูลจาก Garmin Health ไปเป็นส่วนหนึ่งของการคำนวณเบี้ยประกันได้
การเลือกทำตลาดในประเทศไทยคราวนี้ถือเป็นยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญของ Garmin ที่เลือกเจาะกลุ่มผู้บริโภคในประเทศที่ติดอันดับขนาดเศรษฐกิจใหญ่ของอาเซียน และมีอัตราการเติบโตของตลาดอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งของแบรนด์ Garmin ในระดับภูมิภาค
ปัจจุบัน Garmin ดำเนินกิจการใน 5 ประเภทธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจการบิน, ยานยนต์, การเดินทะเล, ฟิตเนส และกิจกรรมกลางแจ้ง โดยฐานลูกค้าหลักๆ ในไทยเป็นกลุ่มที่ชอบวิ่งเป็นหลัก ขณะเดียวกัน Garmin เห็นกลุ่มที่ชอบดำน้ำ ปีนเขา และปั่นจักรยานมาเป็นลูกค้ามากขึ้น ผ่านการซื้อนาฬิกาวิ่งอัจฉริยะ นาฬิกามัลติสปอร์ต ไมล์จักรยาน พาวเวอร์มิเตอร์ และอุปกรณ์ติดตามสุขภาพ เป็นต้น
ภาพ: Framesira / Shutterstock
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP