×

หนี้ท่วมไทย…ปัญหาอยู่ที่ใคร? ‘บ้าน-รถยนต์’ ถูกยึด แบงก์ปฏิเสธสินเชื่อสูงขึ้น 50% เพราะคนผ่อนต่อไม่ไหว

22.02.2024
  • LOADING...

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เผยอัตราการปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์พุ่งสูง 50% เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ส่งผลให้รถยนต์ถูกยึดเพราะผู้ซื้อผ่อนไม่ไหว ยอดขายในประเทศลดฮวบ 30-40%

 

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์ทั้งหมดในเดือนมกราคม 2567 ทั้งสิ้น 142,102 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2566 ที่ 12.46% จากยอดผลิตจำหน่ายในประเทศลดลง 33.62%

 

นอกจากนี้การผลิตรถยนต์นั่งเพื่อจำหน่ายในประเทศก็ลดลง 14.68% จากรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าที่มียอดจดทะเบียนเดือนมกราคม 2567 จำนวน 13,314 คัน ส่งผลให้คาดการณ์การผลิตรวมของปี 2567 อาจต้องลดลงจากเป้าหมายเดิม 2 ล้านคัน มาอยู่ที่ 1.9 ล้านคัน

 

“การส่งออกเรายังทำได้ดี แต่ตลาดในประเทศขณะนี้ถือว่าน่าห่วง เพราะอัตราการปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์ (The Auto Loan Rejection Rate) ของไทยพุ่ง 50% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักๆ มาจากสถาบันการเงินและไฟแนนซ์ที่ปล่อยเงินสินเชื่อเพื่อรถยนต์ยังมีความกังวลหนี้เสีย (NPL)

 

“รถยนต์จำนวนมากถูกยึดเพราะผู้ซื้อไม่สามารถผ่อนชำระงวดได้ ด้วยสภาพคล่องทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง”

 

นอกจากนี้ ส.อ.ท. ยังได้สอบถามไปยังเต็นท์รถมือสองว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร แม้ว่ายังไม่มีข้อมูลสรุปที่ชัดเจน แต่หากดูจำนวนรถที่เข้าสู่การประมูลเพิ่มถึง 200,000-300,000 คัน จากเมื่อปลายปีที่แล้ว และยังคงเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่อง จากปกติสถานการณ์การยึดรถเข้าสู่การประมูลเฉลี่ยที่ประมาณ 180,000 คันต่อปี สะท้อนให้เห็นลูกหนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มสูงขึ้น รถถูกยึดสูงขึ้น เนื่องจากลูกหนี้ผ่อนไม่ไหวจริงๆ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นส่งผลให้ภาพรวมยอดขายในประเทศลดลงถึง 30-40% โดยเฉพาะรถกระบะเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลงถึง 50.89%

 

“รถกระบะที่เติบโตในไทยมาโดยตลอดกลับมียอดขายแค่ 14,864 คัน ลดลงถึง 43.47% เพราะหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก คนไม่มีกำลังซื้อ”

 

อีกทั้งรถ PPV ก็มียอดขายลดลง 43.86% เพราะยังไม่มีรุ่นใหม่ออกมา ประกอบกับมีรถ SUV แบบ Hybrid ออกใหม่ในราคาจับต้องได้มาเอาส่วนแบ่งตลาดไป รวมไปถึงยอดขายรถบรรทุกก็ลดลง 32.01% จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้าออกไปหลายเดือน ทำให้การลงทุน การใช้จ่าย และการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลล่าช้าไป ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวในระดับต่ำมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2566 อีกด้วย

 

“คงต้องรอดูยอดเดือนนี้อีกครั้ง แต่ด้วยความกังวลเรื่องที่รัฐบาลกำหนดเงื่อนไขให้การพิจารณาปล่อยสินเชื่อของแบงก์ต้องพิจารณาการปล่อยสินเชื่อบนความรับผิดชอบ ผู้ซื้อจะต้องมีฐานะการเงิน รายได้ มาตรการนี้กำลังส่งผลกระทบทั้งยอดขายรถยนต์และภาคอสังหาริมทรัพย์” สุรพงษ์กล่าว

 

แนะรัฐบาลเพิ่มรายได้ ลุ้น Fed ลดดอกเบี้ยช่วงกลางปี

 

กรณีของหนี้น่าเป็นห่วงมาก รัฐบาลต้องเร่งรัดการเพิ่มรายได้ประชาชน และคาดหวังว่าช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 จะสามารถกระตุ้นยอดขายรถยนต์ได้เพิ่มขึ้น จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะสามารถช่วยให้ภาระการผ่อนชำระหนี้ลดลง คนมีกำลังซื้อ

 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็อาจต้องปรับลดดอกเบี้ยลงไปด้วย เพราะในอีกแง่ก็จะส่งผลให้การผลิตและการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลก็เริ่มส่งเสริมมาตรการสนับสนุนใหม่ๆ ออกมา เช่น รถบัส EV

 

คาดยอดจดทะเบียน EV ปีนี้แตะ 100,000 คัน

 

เนื่องจากกระแสการซื้อยานยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภคในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก โดยคาดว่าในปีนี้จะมีการจดทะเบียนเพิ่ม 50,000-100,000 คัน ตามอัตราการผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้า 1:1 ที่มีจำนวน 80,000-90,000 คัน

 

ขณะที่สรุปยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV ล่าสุด มีจำนวนทั้งสิ้น 147,743 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 301.75%

 

“ไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนา สามารถส่งเสริม EV ได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นตัวเลขที่สูงมากหากเทียบกับหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้ว” สุรพงษ์กล่าว

 

 

รายงานข่าวระบุว่า ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) สรุปสัดส่วนหนี้เสียของไทย (NPL) ยังคงน่าห่วง เมื่อเจาะเป็นรายกลุ่มหนี้พบว่ากลุ่มสินเชื่อที่น่ากังวลที่สุดคือสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งอยู่ที่ 230,000 ล้านบาท คิดเป็น 23% ของ NPL ทั้งหมด

 

“หนี้เสียในสินเชื่อรถยนต์เร่งตัวขึ้นเร็วมาก โดยเพิ่มถึง 28% และนำไปสู่การยึดรถ การนำรถไปคืน และการนำรถเข้าลานประมูลเพิ่มขึ้น”

 

ดังนั้นหากดูประมาณการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังที่ระบุว่า เศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.9% ด้วยสัดส่วนหนี้ที่อยู่ในสินเชื่อส่วนบุคคล, บ้าน และรถ รวมกัน 3.7% กำลังเป็นกับดักบ่วงใหญ่ของเศรษฐกิจไทย หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เร่งรัดสะสางปัญหา หนี้เหล่านี้…จะค่อยๆ กลืนกินรายได้และ GDP ไทยเข้าไปทุกที

 

ภาพ: Stephen Swintek / Getty Images, Ceydakocaturk / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising