×

หอการค้าฯ ชี้ขยายล็อกดาวน์-เพิ่มจังหวัดแดงเข้ม ส่อทำเศรษฐกิจเดือน ส.ค. วูบ 3-4 แสนล้านบาท ด้านสภาอุตฯ สั่งโรงงานตรวจเชิงรุก เร่งทำ Bubble and Seal

02.08.2021
  • LOADING...
COVID-19

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ร่วมกันประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากกรณีที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีมติขยายระยะเวลาการใช้มาตรการล็อกดาวน์ออกไป 14 วัน พร้อมปรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จากเดิม 13 จังหวัดเป็น 29 จังหวัด โดยคาดว่าคำสั่งดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจไทยในเดือนสิงหาคมได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 แสนล้านบาท จากที่ก่อนหน้านี้คาดว่าความเสียหายจะอยู่ที่ราว 2-3 แสนล้านบาท

 

“การขยายพื้นที่สีแดงเข้มเพิ่มขึ้นเป็น 29 จังหวัด แม้ว่าจำนวนจังหวัดอาจจะดูไม่มาก แต่เมื่อดูในรายชื่อจะพบว่ามีจังหวัดใหญ่รวมอยู่ด้วย เช่น นครราชสีมา ก่อนหน้านี้เราเคยประเมินว่าพื้นที่สีแดงเข้มเดิม 13 จังหวัด ครอบคลุมจีดีพีประมาณ 50% เมื่อปรับเพิ่มเป็น 29 จังหวัด จะครอบคลุมจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 70% ความเสียหายจึงต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย” สนั่นกล่าว

 

ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้มีความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะตกอยู่ในภาวะใกล้เคียงกับมาเลเซียที่ใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์แล้วแต่ยังควบคุมการระบาดไม่ได้ ซึ่งจะยิ่งทำให้ความเสียหายทางเศรษฐกิจลากยาวออกไป จึงอยากเสนอให้ภาครัฐเร่งดำเนินมาตรการอื่นๆ ควบคุมไปกับการล็อกดาวน์ด้วย เช่น การเร่งกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมโดยเร็ว การจัดทำระบบ Home Isolation ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการเร่งตรวจเชิงรุกที่มากขึ้นเพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อ

 

“ภาคเอกชนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ตอนนี้ภาคเอกชนได้ช่วยภาครัฐจัดหาวัคซีนทางเลือก มีการตรวจเชิงรุกในโรงงานต่างๆ ด้วย Antigen Test Kit รวมถึงใช้มาตรการ Bubble and Seal เพื่อคัดกรองและป้องกันการแพร่ระบาดที่จะส่งผลกระทบต่อการผลิต โดยทำการแบ่งคนเป็นกลุ่มย่อยๆ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แต่ละกลุ่มสามารถทำงานร่วมกันโดยป้องกันตนเอง แต่ไม่ให้มีการทำงานหรือทำกิจกรรมข้ามกลุ่ม และไม่ให้พนักงานมีกิจกรรมนอกสถานประกอบการหรือนอกที่พักอาศัย ดังนั้นหากเกิดการติดเชื้อจะทำให้เชื้อแพร่กระจายน้อยลง ทำให้การควบคุมโรคง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โรงงานหรือสถานประกอบการก็ไม่ต้องปิด” สนั่นกล่าว

 

สนั่นกล่าวด้วยว่า ขณะนี้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างเร่งจัดทำคู่มือแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดในโรงงาน และการปฏิบัติตามมาตรการ Bubble and Seal เพื่อแจกจ่ายให้กับสมาชิก นอกจากนี้ยังอยากเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งจัดสรรวัคซีนให้กับภาคการผลิตในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ แรงงาน และเป็นการป้องกันไม่ให้การผลิตสินค้าไทยต้องสะดุดจากการแพร่ระบาด

 

สอท. เร่งทำ Bubble and Seal ป้องภาคการผลิตหยุดชะงัก

 

ขณะที่ สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ประเมินว่า การขยายระยะเวลาการใช้มาตรการล็อกดาวน์ออกไปอีก 14 วัน และปรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จากเดิม 13 จังหวัดเป็น 29 จังหวัด จะทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นจาก 1 แสนล้านบาทต่อเดือนเป็น 1.2-1.5 แสนล้านบาท โดยกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากคือธุรกิจรายย่อย

 

“โดยส่วนตัวมองว่าเราคงคาดหวังจะให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงจากการขยายระยะเวลาล็อกดาวน์อย่างเดียวได้ยาก เพราะปัญหาใหญ่ในตอนนี้คือวัคซีนที่ล่าช้า และการตรวจเชิงรุกที่ยังไม่มากพอ ทำให้เรามีคนป่วยที่ไม่รู้ตัวว่าป่วยแล้วก็แพร่เชื้อต่อไปเรื่อยๆ” สุพันธ์ุกล่าว 

 

ประธาน สอท. กล่าวอีกว่า จากการสำรวจโรงงานต่างๆ ของ สอท. พบว่ามีโรงงานหลายแห่งที่ตรวจพบการติดเชื้อ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ถึงขั้นต้องหยุดการผลิต เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อยังมีสัดส่วนไม่สูงมาก และ 80-90% ของผู้ติดเชื้อก็มีอาการอยู่ในกลุ่มสีเขียว ทำให้เมื่อกักตัวครบ 14 วันก็กลับมาทำงานต่อได้

 

“ตอนนี้ สอท. กำลังเร่งทำเรื่อง Bubble and Seal เพื่อป้องกันไม่ให้การผลิตของเราต้องหยุดชะงัก โดยเราขอให้โรงงานทุกแห่งใช้ Antigen Test Kit ตรวจพนักงานประมาณ 20% ในเบื้องต้น ถ้ามีคนติดเชื้อไม่มากก็ให้แยกกักตัวและรักษาตัวในพื้นที่ที่โรงงานจัดไว้ให้ แต่ถ้ามีจำนวนคนติดเชื้อสูงจะเข้าไปตรวจทั้งโรงงานแล้วให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้ามาดูแล” สุพันธ์ุกล่าว

 

สุพันธ์ุกล่าวอีกว่า ขณะนี้โรงงานต่างๆ มีความจำเป็นต้องใช้ Antigen Test Kit จำนวนมาก และยังต้องจัดหาและเสียค่าใช้จ่ายเอง จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยแบ่งเบา โดยอย่างน้อยที่สุดควรให้เอกชนหักภาษีจากค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้สองเท่า พร้อมกับเร่งจัดหาวัคซีนให้เพื่อการันตีว่าเครื่องยนต์หลักอย่างการส่งออกไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากการผลิตที่ต้องหยุดชะงัก

 

ttb analytics เผยมีโรงงานผลิตกว่า 1,600 แห่ง เผชิญการติดเชื้อโควิด

 

ด้าน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนกรกฎาคม 2564 มีโรงงานผลิตที่ต้องเผชิญกับปัญหาการติดเชื้อโควิดแล้วมากถึง 1,607 โรงงาน โดยเป็นโรงงานขนาดใหญ่ 67% ซึ่งมีแรงงานจำนวนมาก 

 

นอกจากนี้ หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า โรงงานส่วนใหญ่ที่พบปัญหาการติดเชื้อจะกระจุกตัวอยู่ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยางพารา และผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ซึ่งในประเทศไทยมีโรงงานใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมนี้มากถึง 11,637 แห่ง มีแรงงาน 1.96 ล้านคน และมีมูลค่าตลาดต่อปีเท่ากับ 8.87 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนส่งออกกว่า 57% และจากการที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานค่อนข้างมาก เมื่อมีผู้ติดเชื้อจึงมีโอกาสที่จะเกิดการแพร่กระจายสูง ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้มาตรการปิดโรงงานหยุดกระบวนการผลิตชั่วคราวได้ 

 

โดย ttb analytics ประเมินว่า หากมีการปิดคลัสเตอร์โรงงาน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมข้างต้นเป็นเวลา 2 สัปดาห์เพื่อควบคุมการระบาด จะก่อให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 4% ของมูลค่าตลาด และในกรณีที่ภาครัฐต้องมีการล็อกดาวน์โรงงานเพิ่มขึ้นหรือขยายระยะเวลาปิดโรงงานออกไป คาดว่าจะทำให้ปัญหา Supply Disruption ชัดเจนมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการฟื้นเศรษฐกิจไทย

 

ในกรณีเลวร้ายคือ เกิดการระบาดและไม่สามารถควบคุมคลัสเตอร์โรงงานได้ ทำให้กระบวนการผลิตหยุดไปอีก 2 สัปดาห์ จะเกิดความเสียหาย 1.9 แสนล้านบาท และเป็นปัจจัยฉุดการส่งออกทั้งปีโตได้เพียง 6.8%

 

อย่างไรก็ดี นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์ ttb analytics ยังเชื่อว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะยังไม่เลวร้ายจนถึงขั้นติดลบ แต่อาจจะเติบโตได้แบบต่ำๆ ใกล้เคียงระดับ 0% ในกรณีที่ภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดจนส่งผลให้การส่งออกชะลอตัว

 

“ก่อนหน้านี้ ttb analytics ประเมินว่า จีดีพีปีนี้จะโตที่ 0.9% แต่ตอนนั้นยังไม่มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องการระบาดในกลุ่มโรงงานที่ชัดเท่าตอนนี้ เราจึงเริ่มมองว่าโอกาสที่จะโตได้ต่ำกว่า 0.9% ก็เป็นไปได้เหมือนกันแต่คงไม่เลวร้ายถึงขั้นติดลบ” นริศกล่าว

 

นริศกล่าวอีกว่า เพื่อลดการระบาดและลุกลามของคลัสเตอร์โรงงาน ttb analytics เสนอว่าควรมีกระบวนการเร่งตรวจหาและคัดแยกผู้ติดเชื้อออกจากโรงงาน การทำ Bubble and Seal เพื่อควบคุมดูแลรักษาผู้ติดเชื้อในโรงงานไม่ให้แพร่กระจายออกไป และควรมีการเร่งฉีดวัคซีนให้กับแรงงานภาคการผลิตที่มีจำนวนมาก เพื่อให้ภาคการผลิตและส่งออกของไทยยังรักษาอัตราการเติบโตได้ต่อเนื่องในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising