×
SCB Omnibus Fund 2024

บอนด์ยีลด์ไทยแนวโน้มขาขึ้น จับตาเอกชนเร่งออกหุ้นกู้ล็อกต้นทุนการเงิน คาดยอดทั้งปีทะลุ 1 ล้านล้านบาท

12.01.2022
  • LOADING...
บอนด์ยีลด์ไทย

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย คาดว่าปี 2565 ยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวจะเกิน 1 ล้านล้านบาทเป็นปีที่ 3 จากการที่ภาคเอกชนมีการลงทุนเพิ่มในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว ขณะที่ทิศทางดอกเบี้ยของไทยยังไม่สูง อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินลงทุนต่างชาติปีนี้จะเป็นการไหลออก เนื่องจากบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้น

 

ธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า สมาคมคาดการณ์ยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวในปี 2565 จะทะลุ 1 ล้านล้านบาทเป็นปีที่ 3 เนื่องจากเชื่อว่าบริษัทเอกชนไทยจะยังมีความต้องการลงทุนทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ยังไม่อยู่ในระดับสูง และสภาพคล่องในระบบการเงินที่ยังมีอยู่มาก 

 

ขณะเดียวกัน คาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) รัฐบาลไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในทุกรุ่นอายุ โดยรุ่นอายุ 2 ปี คาดว่าจะขยับตัวสูงขึ้นราว 0.1% มาเคลื่อนไหวอยู่ที่บริเวณ 0.75% ณ สิ้นปี 2565 ส่วนรุ่นอายุ 5 และ 10 ปี คาดว่าจะขยับตัวสูงขึ้นประมาณ 0.5-0.6% มาอยู่ที่ 1.7-1.8% และ 2.3-2.5% ตามลำดับ 

 

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจัยด้านเศรฐกิจต่างๆ ได้แก่ แนวโน้มเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น การแพร่ระบาดของโควิด และทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวในระดับต่ำจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยังกลับมาได้ไม่เต็มที่ 

 

ธาดากล่าวว่า ภาพรวมเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติในปี 2565 จะเป็นทิศทางการทยอยไหลออก เนื่องจาก Yield Curve สหรัฐฯ ปรับขึ้นแรง ขณะที่ในประเทศไทยนั้น ภาพของเงินเฟ้อยังเห็นไม่ชัด เพราะมีนโยบายตรึงราคาในหลายสินค้า จึงคาดว่า Yield Curve ไทยปรับขึ้นน้อยกว่า ทำให้ส่วนต่างน้อยลง และอาจจะเห็นเงินทุนไหลออกในปีนี้

 

“ปีที่แล้วเป็นภาพเงินต่างชาติไหลเข้า เนื่องจากเงินเฟ้อในประเทศไทยต่ำ ยีลด์ยังสูง  เงินบาทอ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมา จึงได้เห็นเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้า แต่ปีนี้น่าจะกลับข้างกัน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ก็ยังเห็นเงินไหลเข้าอยู่” 

 

ทั้งนี้ การที่เงินต่างชาติไหลออกนั้น ไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวลสำหรับตลาดตราสารหนี้ไทย และไม่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจไทยแต่อย่างใด โดยมองว่า แม้เงินต่างชาติจะไหลออก แต่บอนด์ยีลด์ไทยคงปรับตัวขึ้นได้ไม่มาก เพราะมีเงินออมระยะยาวที่พร้อมจะเข้าซื้ออยู่ตลอดเวลา 

 

ส่วนกรณีการดำเนินนโยบาย QT ของ Fed ที่เริ่มจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการลดขนาดงบดุลนั้น ประเมินว่ากระทบกับสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นมากกว่า 

 

สำหรับภาพรวมตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2564 มีเหตุการณ์สำคัญสรุปได้ ดังนี้ 

 

  1. มูลค่าการออกหุ้นกู้ระยะยาวทะลุ 1 ล้านล้านบาทเป็นปีที่ 2 โดยมียอดการออกที่ 1,034,572 ล้านบาท สูงขึ้น 50% จากปีก่อนหน้า เป็นการเพิ่มขึ้นจากทั้งกลุ่ม Investment Grade และ High Yield โดยหุ้นกู้ที่ออกในกลุ่ม High Yield ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้มีประกันที่กว่า 53% เป็นการค้ำประกันโดยนิติบุคคลอื่น

 

  1. การออกตราสารหนี้ประเภทใหม่ที่เรียกว่า ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond: SLB) ที่ผู้ออกจะกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ต้องการบรรลุผลสำเร็จ และเชื่อมโยงความสำเร็จกับการจ่ายอัตราดอกเบี้ย โดยในปีที่ผ่านมามีผู้ออก 2 ราย คือ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือ TU มูลค่ารวม 11,000 ล้านบาท และ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส หรือ IVL มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท 

 

  1. ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืน (ESG Bond) มีมูลค่าการออกในปี 2564 ที่ 152,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% จากปีที่แล้ว (ไม่รวมการออก SLB Bond) ทำให้มูลค่าคงค้างของ ESG Bond ณ สิ้นปี 2564 ขยายตัวขึ้นกว่า 2 เท่าจากสิ้นปีก่อนหน้า สะท้อนว่าทั้งผู้ออกและนักลงทุนมีความตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง

 

  1. การออกตราสารหนี้อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนระยะข้ามคืน (Thai Overnight Repurchase Rate: THOR) ที่พัฒนาขึ้นเพื่อนำมาทดแทนอัตราดอกเบี้ย THBFIX ที่จะยุติการเผยแพร่ในปี 2566 มีธนาคารแห่งประเทศไทยและบริษัทเอกชน 5 รายเป็นผู้ออก โดย ณ สิ้นปี 2564 ตราสารหนี้อ้างอิง THOR มี มูลค่าคงค้างรวม 306,448 ล้านบาท

 

  1. บมจ.ปตท.สผ. หรือ PTTEP ออกหุ้นกู้ภาคเอกชนโดยใช้เทคโนโลยี Blockchain เสนอขายต่อนักลงทุนทั่วไปเป็นครั้งแรกในเอเชีย มูลค่า 6,000 ล้านบาท และกระทรวงการคลังได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ‘วอลเล็ต สบม.’ จำนวน 4 รุ่น มูลค่ารวม 25,000 ล้านบาท โดยจนถึงปัจจุบันกระทรวงการคลังออกพันธบัตรออมทรัพย์บนวอลเล็ต สบม. ทั้งหมด 6 รุ่น รวมมูลค่า 30,200 ล้านบาท   

 

  1. เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 การถือครองตราสารหนี้ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.03 ล้านล้านบาท โดยในปี 2564 มีการถือครองเพิ่มขึ้นสุทธิ 144,330 ล้านบาท แบ่งเป็น ในตราสารหนี้ระยะยาว 141,064 ล้านบาท และในตราสารหนี้ระยะสั้น 3,266 ล้านบาท โดย ณ สิ้นปี 2564 นักลงทุนต่างชาติมียอดการถือครองตราสารหนี้ไทยที่ 1.02 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.8% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทย

 

  1. ณ สิ้นปี 2564 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Bond Yield) อายุ 2 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.27% จาก 0.39% เมื่อสิ้นปี 2563 มาอยู่ที่ 0.66% รุ่นอายุ 5 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.68% จาก 0.61% มาอยู่ที่ 1.29% และรุ่นอายุ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.61% จาก 1.28% มาอยู่ที่ 1.90%

 

  1. ส่วนชดเชยความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Spread) ในปี 2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกอันดับเครดิต ขณะที่ในปี 2564 ปรับตัวลดลงทุกอันดับเครดิต ทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หุ้นกู้อันดับเครดิตตั้งแต่ AA ขึ้นไปมี Credit Spread อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าก่อนเกิดโควิดเมื่อปลายปี 2562 แต่หุ้นกู้อันดับเครดิตตั้งแต่ A ลงไปยังมี Credit Spread อยู่ในระดับที่สูงกว่าก่อนเกิดโควิด 

 

และเมื่อนำไปรวมกับ Bond Yield อายุ 5 ปี สามารถสรุปได้ว่าต้นทุนการออกหุ้นกู้ของผู้ออกอันดับเครดิต AAA และ AA อยู่ในระดับใกล้เคียงกับก่อนเกิดโควิด ในขณะที่ผู้ออกที่มีอันดับเครดิต A, BBB+, BBB และ BBB- ยังมีต้นทุนสูงกว่าก่อนเกิดโควิดในระดับ 0.25%, 0.76%, 0.34% และ 0.12% ตามลำดับ 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising