×

ThaiBMA มองอัตราดอกเบี้ยที่ 2.5% ‘สมเหตุสมผล’ หนุน Fund Flow ไหลกลับประเทศ หลังปี 66 ต่างชาติเทขายบอนด์ไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์

10.01.2024
  • LOADING...

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยประเมินกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Non-resident Net Flows) ในตลาดบอนด์ไทยปีนี้น่าจะดีขึ้น เหตุส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ-ไทยจ่อแคบลง มองอัตราดอกเบี้ยไทยที่ 2.50% ‘สมเหตุสมผล’

 

วันนี้ (10 มกราคม) ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Non-resident Net Flows) ของนักลงทุนต่างชาติในปี 2566 ขายสุทธิตราสารหนี้ไทยติดต่อกันใน 3 ไตรมาสแรกของปี ก่อนจะพลิกกลับเป็นการซื้อสุทธิในไตรมาส 4 ทำให้ทั้งปี 2566 นักลงทุนต่างชาติมียอดการขายสุทธิสะสม 1.46 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นการขายสุทธิระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

 

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Non-resident Net Flows พลิกกลับมาเป็นบวกในไตรมาส 4 คือ ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ (Fed) และไทยที่แคบลง 

 

โดยในปี 2566 ดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ถูกปรับขึ้น 4 ครั้ง รวม 1% สู่ระดับ 5.5% หลังจากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ค่อยๆ ลดลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ถูกปรับขึ้นไป 5 ครั้ง รวม 1.25% สู่ระดับ 2.5% 

 

ดร.สมจินต์ ยังคาดการณ์ด้วยว่า ในปี 2567 ความน่ากังวลเกี่ยวการไหลบ่าออกของกระแสเงินทุนจากต่างชาติน่าจะลดลง โดยส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากคาดการณ์ที่ว่า Fed อาจลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยน่าจะคงอยู่ ณ ระดับปัจจุบันที่ 2.50% ไปอีกระยะหนึ่ง สะท้อนว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% ยังเหมาะสม

 

“นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยที่ระดับ 2.5% จึงสมเหตุสมผล (Make Sense) เนื่องจากหากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และไทยกว้างกว่านี้ อาจส่งผลให้เงินทุนไหลออกได้อีก” ดร.สมจินต์ กล่าว

 

สำหรับการคาดการณ์ Bond Yield ไทย ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่า ในระหว่างปี 2567 Bond Yield ไทย รุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี จะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเฉลี่ย 5-10 bps จากปลายปี 2566 ตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศ จากนั้นคาดว่า Bond Yield 5 ปี และ 10 ปี จะปรับตัวต่ำลงในช่วงปลายปี 2567 มาอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับปลายปี 2566 จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐฯ เป็นสำคัญ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising