×

ควายปลักหลอดแก้วตัวแรกของกรมปศุสัตว์ไทยลืมตาดูโลกแล้ว

10.08.2018
  • LOADING...

มีข่าวน่ายินดีของวงการปศุสัตว์ไทยอีกครั้ง เมื่อสามารถให้กำเนิดลูกกระบือปลักจากแม่กระบือที่อุ้มท้องตัวอ่อนจากการย้ายฝากตัวอ่อนที่แช่แข็งไว้นานถึง 12 ปี โดยตัวอ่อนกระบือปลักนี้ผลิตด้วยวิธีปฏิสนธินอกร่างกาย (In Vitro Fertilization: IVF) เรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่าตัวอ่อนหลอดแก้ว นับเป็นลูกกระบือปลักตัวแรกของกรมปศุสัตว์ที่เกิดจากตัวอ่อนหลอดแก้ว

 

ทั้งนี้ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้รับรายงานจากสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ว่ามีลูกกระบือปลักเกิดผลการเกิดลูกกระบือปลักจากตัวอ่อนที่แช่แข็งไว้นานถึง 12 ปี เป็นการยืนยันถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีชีวภาพทางระบบสืบพันธุ์ สามารถนำมาใช้ในงานอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมสัตว์ได้เป็นอย่างดี อันเป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของกรมปศุสัตว์

 

กรมปศุสัตว์ โดยสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีทางระบบสืบพันธุ์เพื่อช่วยผลิตสัตว์พันธุ์ดี อนุรักษ์ เก็บรักษาพันธุกรรม และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพมาตลอดกว่า 20 ปี มีลูกโคนม โคชน และโคขาวลำพูนที่เกิดจากตัวอ่อนหลอดแก้วก่อนหน้านี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยผลงานได้เผยแพร่ไปสู่สาธารณะเป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานทดลองผลิตตัวอ่อนกระบือปลักด้วยวิธีปฏิสนธินอกร่างกายได้เริ่มมาเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว ระหว่างปี 2547-2548 ได้แช่แข็งตัวอ่อนไว้จำนวนหนึ่ง และตัวอ่อนแช่แข็งถูกเก็บรักษาไว้ภายใต้ไนโตรเจนเหลวตลอดมานับแต่นั้น

 

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จครั้งนี้เกิดจากการทำงานแบบบูรณาการระหว่างศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพการย้ายฝากตัวอ่อนและเซลล์สืบพันธุ์สัตว์ จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้กำกับของสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ และศูนย์วิจัยและพัฒนากระบือ จังหวัดสุรินทร์ โดยเมื่อปี 2560 ได้มีการบูรณาการทำงานระหว่างสองหน่วยงานดังกล่าว จึงมีการเตรียมกระบือตัวรับ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนากระบือ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อรับฝากตัวอ่อนแช่แข็ง และฝากตัวอ่อนเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 โดยฝากไป 2 ตัว ตัวละ 1 ตัวอ่อน แม่กระบือท้อง 1 ตัว และคลอดลูกเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ตัวอ่อนกระบือปลักที่ย้ายฝากและติดตั้งท้องเป็นตัวอ่อนเกิดจากการปฏิสนธินอกร่างกายที่แช่แข็งเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2548 รวมเวลาที่ตัวอ่อนถูกแช่แข็งเก็บไว้นาน 12 ปี พ่อพันธุ์น้ำเชื้อกระบือปลัก หมายเลข SB2/36 ตรวจสอบความเป็นแม่ลูกด้วยเทคนิคดีเอ็นเอ พบว่าไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม จึงสรุปได้ว่าเป็นลูกเกิดจากการฝากตัวอ่อน

 

สรุปข้อมูลลูกเกิด: เกิดจากตัวอ่อนหลอดแก้วแช่แข็งนาน 12 ปี พ่อพันธุ์เป็นน้ำเชื้อแช่แข็งกระบือปลัก หมายเลข SB2/36 วันเกิด 23 กรกฎาคม 2561 เวลา 09.19 น. เพศเมีย แม่กระบืออุ้มท้องหมายเลข SRB 7/57 ท้องนาน 341 วัน น้ำหนักแรกเกิด 35 กก. ส่วนสูง 71 ซม. ลำตัวยาว 64 ซม. รอบอก 73 ซม.

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising