×

3 ปีรัฐประหาร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ถูกฟ้องพุ่ง 179 คน อีสานมากสุด แฉถูกคุกคามทางเพศ-ดิสเครดิต

30.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • สถานการณ์หลังจากเกิดรัฐประหารตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน สถิติของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชนที่ต่อสู้เรื่องที่ดิน ฐานทรัพยากร และความไม่ชอบธรรมอื่นๆ ถูกฟ้องร้องและดำเนินคดีจำนวนมากถึง 179 คน
  • สำหรับสถิติที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชน ถูกลอบสังหาร ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบันพบว่ามีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกลอบสังหารไปแล้ว 5 คน
  • “นายกฯ ได้โปรดฟังชาวบ้านบ้าง อย่าฟังแต่นายทุน เสียงชาวบ้านคนเดียวนายกฯ ยังต้องฟัง นี่ชาวบ้านเป็นร้อยเป็นพันคน นายกฯ ยิ่งจะต้องฟัง” เสียงจาก รอกีเย๊าะ สะมะแอ เครือข่ายฅนรักษ์เมืองเทพา จังหวัดสงขลา

 

เนื่องในวันที่  29 พฤศจิกายนของทุกปีถูกกำหนดให้เป็นวันผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสากล และในปี 2561 จะครบรอบ 20 ปีของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (UN Declaration on Human Rights Defenders) เพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงผลงานการต่อสู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ


องค์กร Protection International ร่วมกับสถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ได้จัดโครงการ CFLI – ‘Her Life, Her Diary’ จัดทำ Side by Side WHRDs 2018 Diary สมุดบันทึกความหวังและความฝันของ 20 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ขึ้น


โดยในสมุดบันทึกจะประกอบไปด้วยเรื่องราวจากความเป็นส่วนตัวถึงการเมือง เส้นทางต่อสู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน ความหวังและความฝันที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิของผู้หญิง ชุมชน สังคมในประเทศไทย นอกจากนี้ยังต้องการให้ตระหนักถึงความท้าทายที่ผู้หญิงในประเทศไทยจะต้องเจอเวลาลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมในสังคมด้วย

 

 

สถานการณ์สิทธิมนุษยชน เมื่อผู้หญิงลุกขึ้นสู้ หลายคนมี ‘ชีวิตติดศาล’

ปรานม สมวงศ์ แห่งองค์กร Protection international ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนเล่าว่า อยากให้เรื่องราวการต่อสู้ เรียกร้องความเป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่มีคุณค่า มีความหมาย ถูกเผยแพร่ให้ทุกคนได้เห็น ได้ยิน ได้รับรู้เรื่องราวของพวกเธอ เพื่อที่จะได้เห็นว่าผู้หญิงที่ทำงานทุกวัน ผู้หญิงที่เป็นแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงสังคม ชุมชน มีความฝัน ความหวังอย่างไร จึงได้จัดทำเป็นไดอะรีที่บันทึกเรื่องราวของนักปกป้องสิทธิหญิงเหล่านี้เอาไว้ และอยากให้ทุกคนได้บันทึกเรื่องราวของตัวเองลงในไดอะรีเล่มนี้ด้วย ซึ่งสิ่งที่ได้บันทึกเอาไว้ วันหนึ่งจะกลายเป็นความทรงจำและอาจจะมีประโยชน์ต่อสาธารณะได้


และยังกล่าวถึงสถานการณ์ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ในปีที่ผ่านมาว่า การคุกคามทางกายภาพ เช่น การสังหาร การบังคับให้สูญหายถือว่ายังน้อยกว่าผู้ชาย แต่ผู้หญิงจะได้รับผลกระทบจากคนใกล้ตัวถูกคุกคาม ถูกสังหาร ถูกบังคับให้สูญหาย จนนำไปสู่การต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม เช่น การที่สามีถูกบังคับให้สูญหาย


นอกจากนี้ 3-4 ปีที่ผ่านมาหลังการรัฐประหาร ผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ปกป้องในประเด็นสาธารณะไม่ได้รับการยอมรับ ถูกโจมตี ถูกกลั่นแกล้ง ด้วยการฟ้องร้องคดีความ ทำให้ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ กลายเป็นอาชญากร ผู้หญิงหลายคนจึงมี ‘ชีวิตติดศาล’ ซึ่งในหนึ่งคนโดนคดีมากกว่า 5 คดี


“พวกเธอเหล่านี้ได้รับความเหนื่อยยากมาก เพราะต้องดูแลครอบครัว หาเงินมาใช้ในการประกันตัว สู้คดี ไหนจะต้องเดินหน้าต่อสู้อีก สิ่งสำคัญคือเราต้องให้เวลาที่จะฟังผู้หญิงเหล่านี้ อยากให้สังคมได้รับรู้ถึงการต่อสู้ปกป้องสิทธิของพวกเธอ”

 

 

เผยตัวเลข 3 ปีรัฐประหาร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ถูกฟ้อง 179 คน

ขณะเดียวกัน เมื่อไปดูสถิติของผู้หญิงที่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่ พ.ศ. 2541-2557 (รอบ 16 ปี) ปรานมเปิดเผยว่ามีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ระดับชุมชนที่ต่อสู้เรื่องที่ดิน ฐานทรัพยากร และความไม่ชอบธรรมอื่นๆ ถูกฟ้องร้องและดำเนินคดีจำนวนอย่างน้อย 63 คน แบ่งเป็นความผิดฐานบุกรุกจำนวน 7 คน ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทจำนวน 30 คน, ถูกฟ้องร้องความผิดฐานบุกรุกและความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์จำนวน 8 คน, ถูกฟ้องร้องให้มีความผิดฐานละเมิด ขับไล่ และเรียกค่าสินไหมทดแทนจำนวน 18 คน โดยในจำนวนของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ที่ถูกฟ้องร้องทั้งหมดในทุกคดีแบ่งเป็นภาคใต้ 38 คน ภาคอีสาน 24 คน และภาคเหนือ 1 คน


ขณะที่สถานการณ์หลังจากเกิดรัฐประหารตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน สถิติของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ระดับชุมชนที่ต่อสู้เรื่องที่ดิน ฐานทรัพยากร และความไม่ชอบธรรมอื่นๆ ถูกฟ้องร้องและดำเนินคดีจำนวนมากถึง 179  คน อันดับหนึ่งคือความผิดฐานบุกรุกที่ดินป่าไม้ 82 คน รองลงมาคือความผิดตาม พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นมากถึง 28 คน, การฟ้องร้องความผิดฐานละเมิด ขับไล่ และเรียกค่าสินไหมทดแทน 17 คน, ความผิดฐานหมิ่นประมาท 12 คน, ความผิดฐานสร้างสิ่งกีดขวางทางสาธารณะ 12 คน, ความผิดฐานขัดคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมเกินกว่า 5 คน จำนวน 13 คน, ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ 8 คน, ถูกฟ้องร้องฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น 3 คน ทั้งๆ ที่พวกเธอแค่ไปยื่นหนังสือและติดตามการประชุมของ อบต., ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จำนวน 2 คน และถูกเชื่อมโยงเกี่ยวกับคดียาเสพติด 2 คน

 

 

จากสถิติข้างต้นจะเห็นถึงความแตกต่างอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือการฟ้องคดีกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ในช่วงก่อนที่จะมีการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 จะเน้นเป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน โดยที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ได้หารือร่วมกับรัฐบาลต่างๆ และสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้ลดการจับกุม ลดการถูกดำเนินคดี เพราะหากมีการดำเนินคดี ทางคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาจะส่งหนังสือเพื่อชะลอให้การแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จก่อน จึงทำให้คดีดังกล่าวลดลง


แต่สถิติการฟ้องร้องผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ กลับเพิ่มจำนวนมากขึ้นหลังจากที่มีการรัฐประหาร และมีการประกาศคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 ที่เกี่ยวข้องกับการทวงคืนผืนป่า ทำให้มีการปราบปรามผู้หญิงนักป้องสิทธิฯ มากกว่าเดิมในเรื่องที่ดินป่าไม้


ทั้งนี้ในช่วงหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ข้อหาที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือความผิดฐานบุกรุก ที่รวมทั้งการบุกรุกป่าไม้ ที่ดิน ที่สาธารณประโยชน์ และเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ ความผิดตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558, ความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น ตามมาตรา 309 ประมวลกฎหมายอาญา การฟ้องร้องความผิดฐานละเมิด ขับไล่ และเรียกค่าสินไหมทดแทนเพิ่มมากขึ้น


นอกจากนี้เมื่อรวมจำนวนสถิติของการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ แล้วจะพบว่า ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ในภาคอีสานจะถูกดำเนินคดีมากที่สุดถึง 119 คน รองลงมาคือภาคเหนือจำนวน 38 คน ภาคใต้จำนวน 11 คน และภาคกลางจำนวน 11 คน


สำหรับสถิติที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ระดับชุมชนถูกลอบสังหารตั้งแต่ พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ที่ถูกลอบสังหารไปแล้ว 5 คน

 

 

7 สถานการณ์ที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ถูกคุกคาม

ส่วนสถานการณ์ของการถูกคุกคามส่วนใหญ่ที่ได้รับการแจ้งจะมีขั้นตอนของการคุกคามต่างๆ ดังนี้   

 

1. การโทรศัพท์ข่มขู่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ โดยเฉพาะคนในครอบครัว

 

2. การบุกมาหาถึงบ้าน หรือการบุกเข้าหาครอบครัวของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ และการเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลาจากหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ ซึ่งจะทำให้เพื่อนบ้านและครอบครัวของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ เกิดความตกใจและหวาดกลัว และผู้หญิงถูกมองว่าเป็นผู้กระทำผิด

 

3. หากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ เป็นผู้ที่มีตำแหน่งทางราชการ ก็จะคอยสอดส่องและมีการร้องเรียนเรื่องวินัยว่าใช้เวลาราชการมาทำงานเรื่องการเคลื่อนไหว ใช้ตำแหน่งในการกดดัน

 

4. มีการดักฟังทางโทรศัพท์ การติดตามความเคลื่อนไหว การตามไปยังสถานที่ต่างๆ  

 

5. ใช้กระบวนการทางกฎหมายฟ้องร้องเพื่อยุติการเคลื่อนไหว  

 

6. หากพื้นที่ขัดแย้งมีผลประโยชน์จำนวนมาก นายทุนจะเสนอเงินหรือเสนอตำแหน่งในการทำงานให้กับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ และหากมีการปฏิเสธก็จะเริ่มใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหว เมื่อมีการฟ้องร้องก็จะใช้กระบวนการต่อรองเจรจาว่าจะมีการถอนฟ้องคดี หากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ทำตามข้อเรียกร้อง  

 

7. เมื่อมีการข่มขู่คุกคามทุกรูปแบบแล้วไม่สามารถยุติการเคลื่อนไหวของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ได้ ก็จะมาสู่กระบวนการคุกคามขั้นตอนสุดท้ายคือการลอบสังหารผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ

 

 

แฉผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ถูกคุกคามทางเพศ หวังลดทอนศักดิ์ศรี-ดิสเครดิต

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวบนเวทีถึงสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงที่ลุกขึ้นปกป้องว่า ส่วนตัวในฐานะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนกลายมาเป็นนักปกป้องสิทธิ ยอมรับว่าช่วงเวลานั้นถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก เนื่องจากไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน และมีภาระหลายอย่างที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งการเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อคืนศักดิ์ศรี และยังต้องดูแลครอบครัว ดูแลสภาพจิตใจของลูกๆ ท่ามกลางบรรยากาศของความหวาดกลัว บรรยากาศของความไม่ปลอดภัย และการคุกคาม ซึ่งตอนนั้นมีคำถามกับตัวเองว่าเราจะผ่านไปได้อย่างไร


“รัฐไม่เคยเข้ามาช่วยอำนวยความยุติธรรม เลือดตาแทบกระเด็นที่จะนำพาครอบครัวให้เดินต่อไปได้ ทุกวันนี้ยังคิดว่าจนเราตายไปแล้วก็ไม่ได้ความเป็นธรรม แต่เราก็ยังมีความหวัง การสูญเสียที่เกิดขึ้นทำให้ชีวิตเราไม่มีวันเป็นแบบเดิม ไม่มีวันที่จะได้ใช้ชีวิตปกติ บางทีต้องไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม เขาก็หนีหน้าเราหมด รู้สึกถูกลดทอนศักดิ์ศรี ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนอยากพบ บางทีต้องไปดักรอที่หน้าลิฟต์ ถามตัวเองว่าทำไมเราต้องทำถึงขนาดนี้ ทั้งที่เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องอำนวยความยุติธรรมให้”

 

 

อังคณากล่าวว่า ที่ผ่านมา กสม. ได้รับคำร้องจากนักปกป้องสิทธิฯ จำนวนมากในการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม โดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิฯ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบางคนอาจมองว่าชาวบ้านในภูมิภาคนี้อาจเป็นคนที่เห็นต่างจากรัฐ ชอบคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ จึงเกิดเป็นความหวาดระแวง และนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหาหรือจับกุม


โดยการจับกุมดำเนินคดีชาวบ้านนั้นไม่ใช่แค่เพียงคดีเดียว แต่ชาวบ้านมักถูกจับในหลายข้อหา หลายคดี เมื่อชาวบ้านใช้เงินส่วนตัวประกันตัวเองในคดีที่ 1 ไปแล้ว ถามว่าในคดีที่ 2 ที่ 3 จะนำทรัพย์สินส่วนไหนมาประกันตัวได้อีก ซึ่งการเข้าถึงกองทุนนั้น ผู้พิจารณาคือระดับจังหวัด แต่ทางจังหวัดจะอ้างว่ากลุ่มคนเหล่านี้กระทำผิดชัดเจน เช่น ผิด พ.ร.บ. ชุมนุมฯ โดยที่ไม่พิจารณาว่าที่ชาวบ้านต้องออกมาคัดค้าน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตัวเอง แต่เพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ เพื่อรักษาทรัพยากรให้คนรุ่นต่อๆ ไป


“พบว่าส่วนมากกลุ่มทุนหรือรัฐบาลมักจะฟ้องร้องคนที่ออกมาคัดค้านโครงการ โดยบริษัทมักบอกว่าฟ้องไปก่อนแล้วค่อยไปเจรจาในชั้นศาล แต่เวลามีการเจรจาในชั้นศาล ชาวบ้านมักจะเสียเปรียบ เพราะในการเจรจา ชาวบ้านมักไม่รู้กฎหมาย อาจทำให้เสียเปรียบ อีกทั้งเมื่อถูกฟ้องจะทำให้ชาวบ้านไม่สามารถแสดงความคิดเห็น หรือไม่สามารถพูดถึงปัญหาผลกระทบของโครงการนั้นๆ ได้อีก


“ในความเป็นผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ พวกเธอต้องดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัว พร้อมๆ กัน พวกเธอยังต้องเผชิญกับการคุกคามซ้ำซ้อนด้วยการถูกล่วงละเมิดเพราะความเป็นหญิง”


อังคณาระบุด้วยว่า อยากให้รัฐใส่ใจในเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเมื่อเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐต้องไม่ปกป้องเจ้าหน้าที่ที่ทำผิด

 

อัศนีย์ รอดผล

 

ฟังเสียงผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ชีวิตที่ต้องต่อสู้

อัศนีย์ รอดผล ตัวแทนชุมชนน้ำแดง สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ กล่าวว่า พ.ศ. 2559 มีเอกชนเข้ามาอ้างสิทธิและตัดปาล์มในแปลงที่ชาวบ้านชุมชนน้ำแดงพัฒนา ตำบลคลองน้อย อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปลูกไว้ในพื้นที่ทิ้งร้างและดำเนินคดีกับเกษตรกรทั้งทางอาญาและแพ่งหลายคดี หนึ่งในนั้นคือกรณีที่ตำรวจ สภ. ชัยบุรี จับกุมเกษตรกรชุมชนน้ำแดงพัฒนาตามหมายจับจำนวน 15 คน ทั้งหมดถูกเรียกหลักทรัพย์ในการปล่อยตัวชั่วคราวสูงถึงคนละ 6 แสนบาท


“ตอนนี้เกษตรกรถูกจับกุมในข้อหาซ่องโจร บุกรุก และทำให้เสียทรัพย์ ใน 15 คนมีผู้หญิงติดไปด้วยอีก 2 คน คนหนึ่งมีลูกที่ยังเล็กอยู่ อีกคนหนึ่งก็อายุ 60 กว่าแล้ว ตอนนั้นเราไปขอกองทุนในการประกันตัวที่กองทุนยุติธรรม จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ถูกบ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด เหมือนกับแกล้งกัน ชาวบ้านจึงหยิบยืม กู้เงินญาติพี่น้องเพื่อมาประกันตัว ซึ่งบางคนถูกคุมขังยาวนานถึง 48 วัน เพราะไม่สามารถหาเงินมาประกันตัวได้”

 

 

ชุทิมา ชื่นหัวใจ สมาชิกกลุ่มรักษ์บ้านแหง กล่าวว่า แกนนำกลุ่มถูกนายทหารระดับสูงเชิญไปพบ โดยอ้างว่าจะได้พบกับผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 ซึ่งแกนนำก็ไม่ปฏิเสธ เพราะคาดหวังว่าจะให้ข้อเท็จจริงในการให้สัมปทานครั้งนี้ แต่พอไปถึงได้เจอนายทหารคนหนึ่ง เขาบอกว่าได้รับอำนาจเต็มจาก ผบ.มทบ.32 ซึ่งจะมาพูดคุยกับเราแทน ทางกลุ่มจึงปฏิเสธไป เพราะเคยพบเจ้าหน้าที่ทหารคนนี้แล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่ประทับใจ เนื่องจากบอกว่าที่หมู่บ้านมีแต่ป่าเสื่อมโทรม มีแต่ป่าไผ่ หน่อไม้จะหาที่ไหนกินก็ได้ แต่ถ้ามีเหมืองก็จะมีการสร้างงานในพื้นที่


“นายทหารคนนั้นเขาไม่อนุญาต สั่งให้ สห. ปิดห้องขังพวกเราอยู่ในนั้น และสั่งห้ามใช้เครื่องมือสื่อสารทุกชนิด ไม่เช่นนั้นจะยึด จากนั้นเขาก็ให้พวกเรานั่งฟังเขาพูด 4 ชั่วโมง ถามว่าทำไมเราไม่คุยดีๆ กับบริษัท อย่าเอาแต่ปิดเหมือง เพราะหาทางออกให้ไม่ได้ นอกจากนี้นายทหารคนดังกล่าวยังนำรูปถ่ายของเธอและกลุ่มคนรักษ์บ้านแหงมาแสดง พร้อมระบุว่าทางกลุ่มได้ฝ่าฝืน พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ทั้งที่เราไม่ได้ไปชุมนุม แต่ไปเตรียมเอกสารเรื่องคดีที่ถูกฟ้องร้องในศาล เขาก็ยังมาพูดจากดดันต่างๆ นานาจนกระทั่งปล่อยตัว”


ชุทิมากล่าวว่า ทุกวันนี้สมาชิกกลุ่มรักษ์บ้านแหงก็ยังคงต่อสู้อยู่ โดยมีความหวังคือไม่ให้มีการทำเหมืองที่นี่ และเพื่อที่วิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่จะได้กลับไปมีความสุขความสงบเช่นเดิม

 

 

รอกีเย๊าะ สะมะแอ เครือข่ายฅนรักษ์เมืองเทพา จังหวัดสงขลา กล่าวว่า การประกาศตัวที่จะต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ของตนเองทำให้ตกเป็นเป้าของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ จนวันหนึ่งปลัดอำเภอเทพาในนามของผู้ว่าราชการจังหวัดถึงกับเดินทางไปพบตนที่บ้านเพื่อสอบถามเหตุผลที่เธอต้องคัดค้านโครงการนี้


“โรงไฟฟ้าแห่งนี้ต้องเผาถ่านหินตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้ถ่านหินถึงวันละ 23 ล้านกิโลกรัม และจะปล่อยควันจากการเผาไหม้ผ่านปล่องควันที่สูงกว่า 200 เมตร ซึ่งมลพิษเหล่านี้สามารถอยู่ในอากาศได้นานถึง 10 วัน โดยผลกระทบเหล่านี้จะกินพื้นที่ไปถึง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย”                

รอกีเย๊าะยังกล่าวถึงเหตุปะทะระหว่างเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กับฝ่ายความมั่นคง ระหว่างการดักรอยื่นหนังสือคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดสงขลา จนทำให้แกนนำถูกจับกุมตัวและแจ้งข้อกล่าวหารวม 16 คน รวมถึงเยาวชนหนึ่งคนว่าอยากจะสะท้อนให้ไปถึงนายกฯ ว่าที่ผ่านมานายกฯ ไม่เคยฟังเสียงชาวบ้านเลย โครงการดังกล่าวมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก แต่นายกฯ ไม่เคยรู้ว่าความเดือดร้อนที่พวกเราจะต้องเจอมีอะไรบ้าง


“นายกฯ ได้โปรดฟังชาวบ้านบ้าง อย่าฟังแต่นายทุน เสียงชาวบ้านคนเดียวนายกฯ ยังต้องฟัง นี่ชาวบ้านเป็นร้อยเป็นพันคน นายกฯ ยิ่งจะต้องฟัง เหตุการณ์ที่เกิดกับพี่น้องเราสะเทือนใจมาก ชาวบ้านธรรมดาๆ ถึงกับต้องเอาทหารตำรวจมาเป็นกองร้อย พูดง่ายๆ ไม่สมศักดิ์ศรีนายกฯ เลย พวกเราไม่ใช่ฆาตกร ไม่ใช่ผู้ร้ายข้ามแดน เป็นแค่ชาวบ้านธรรมดาที่อยากบอกเล่าความทุกข์ยากของเราให้นายกฯ ฟัง”

 

 

3 ข้อเรียกร้อง ขอรัฐมีมาตรการชัดเจนคุ้มครอง ปกป้อง ดูแล

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ทั้งหมดที่เข้าร่วมงานและองค์กร Protection international ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐมีมาตรการที่ชัดเจนในการคุ้มครอง ปกป้อง ดูแลผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ซึ่งแถลงการณ์ระบุว่า   

 

1. รัฐต้องยุติวัฒนธรรมทำผิดแล้วลอยนวลพ้นผิด การเลือกปฏิบัติและการใช้หลักนิติธรรมเป็นข้ออ้างในการจัดการกับประชาชน และการปฏิเสธไม่ให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรม รวมถึงต้องมีกระบวนการทบทวนอย่างโปร่งใสในกรณีที่มีการใช้คดีเป็นเครื่องมือในการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ


2. รัฐและสาธารณชนต้องยอมรับและตระหนักถึงคุณค่าของบทบาทที่สำคัญของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ และต้องมีหลักประกันว่าจะมีการปกป้องคุ้มครองและสนับสนุนอย่างเต็มเพื่อเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิความปลอดภัยและความมั่นคงในชีวิตของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ


3. รัฐต้องยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคที่ร้ายแรงต่อการทำงานของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ มาตรา 44, คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และคำสั่งและกฎหมายอื่นๆ โดยเฉพาะการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะและเสรีภาพในการแสดงออก การจำกัดสิทธิที่สำคัญเหล่านั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดกับสิ่งที่รัฐบอกว่าปรารถนาให้มีส่วนร่วมจากประชาชน

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising