‘กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท’ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำของไทย เผยว่า ซัพพลายเออร์ท้องถิ่นและผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นยังมีเวลาอย่างน้อย 4 ปีในการปรับตัวรับมือกับการมาของคู่แข่งจากจีนที่กำลังจุดสงครามราคารถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย ด้วยแรงจูงใจจากนโยบายภาษีนำเข้า 0%
แม้ว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยหลายรายกังวลว่าจะสูญเสียธุรกิจ เนื่องจากแบรนด์จีนสามารถนำเข้าชิ้นส่วนจากจีนได้ในราคาที่ถูกกว่า และผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นก็กำลังลดกำลังการผลิตหรือปิดโรงงานในไทย เช่นเดียวกับที่ Honda Motor จะทำในปีหน้า
แต่ไทยซัมมิทกลับต้านกระแสนี้ได้ โดยได้รับสัญญาจากแบรนด์จีนหลายรายที่เข้ามาลงทุนในไทย รวมถึง BYD และ Changan Automobile
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- KKP เผย 3 อุตสาหกรรมถูกจีนแย่งตลาดหนักสุด ‘ยานยนต์ เหล็ก ปิโตรเคมี’…
- 2 ปี คลื่น ‘EV จีน’ ซัดยานยนต์ไทยลามห่วงโซ่อุปทาน ‘เจ็บ’ แค่ไหน?
- ชมคลิป: ‘ยุบ-ย้ายโรงงาน’ สัญญาณเตือน ‘ยานยนต์ไทย’ ผลกระทบในยุคเปลี่ยนผ่าน
ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานอาวุโสของกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asia ว่า ด้วยโรงงานใน 7 ประเทศทั่วโลก รวมถึงจีน ทำให้บริษัทสามารถเข้าถึงลูกค้าชาวจีนได้ง่ายขึ้น และเชื่อว่าซัพพลายเออร์ไทยยังมีเวลาอีก 4-8 ปีในการเตรียมความพร้อมรับมือกับการแข่งขันจากซัพพลายเออร์จีน
รองประธานอาวุโสของกลุ่มบริษัทไทยซัมมิทเน้นย้ำว่า บริษัทชิ้นส่วนรถยนต์ไทยไม่สามารถรอให้รัฐบาลเข้ามาปกป้องจากการแข่งขันจากต่างประเทศ (โดยเฉพาะจากจีน) ได้ แต่ต้องปรับตัวและพัฒนาตัวเองเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป
ไทยซัมมิทก่อตั้งขึ้นในปี 1977 โดย พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ นักธุรกิจเชื้อสายจีน เพื่อผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ให้กับผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นลูกค้าหลักของบริษัท แม้ว่าส่วนแบ่งตลาดของบริษัทจากแดนซามูไรในไทยจะลดลงก็ตาม
ชนาพรรณกล่าวว่า การลงทุนในอนาคตของบริษัทจะมุ่งเน้นไปที่ต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่ของบริษัทสามารถผลิตได้ง่ายขึ้นในท้องถิ่น และเศรษฐกิจไทยก็มีแนวโน้มที่ไม่สดใส โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า การผลิตรถยนต์ในปีนี้จะลดลงเหลือ 1.7 ล้านคัน จาก 2 ล้านคันในเดือนมกราคม
ภายใต้โครงการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลไทย ผู้ผลิตรถยนต์จีนจะต้องผลิตรถยนต์ในประเทศไทยในจำนวนเท่ากับที่นำเข้ามาในช่วงที่โรงงานของพวกเขายังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งจะทำให้มีรถยนต์รุ่นต่างๆ มากขึ้น และราคาอาจลดลง ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตชิ้นส่วนจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และกำไรต่อหน่วยอาจลดลง เนื่องจากต้นทุนคงที่ยังคงเท่าเดิม แต่ต้องกระจายไปยังรถยนต์หลายรุ่นมากขึ้น
ถึงกระนั้น ชนาพรรณมองว่าผู้ผลิตญี่ปุ่นและซัพพลายเออร์ไทยยังสามารถอยู่รอดได้จากความต้องการรถจักรยานยนต์และรถยนต์ไฮบริดที่ยังคงแข็งแกร่ง โดยยอดขายรถยนต์ไฮบริดในไทยเติบโตขึ้น 66% ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2024 ซึ่งเร็วกว่าการเติบโตของยอดขายรถยนต์ EV มาก
ชนาพรรณยืนยันว่า ไทยซัมมิทจะยังคงเป็น ‘ธุรกิจครอบครัว’ (Family Business) ในอนาคตอันใกล้ โดยความพยายามในการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก่อนหน้านี้ถูกยกเลิกไป เนื่องจากความวุ่นวายทางการเมืองและการประท้วงครั้งใหญ่ที่ฉุดตลาดลง
“เรารู้ว่าถ้าเราต้องการจดทะเบียนก็มีโอกาสมากมายที่จะจดทะเบียนนอกประเทศไทย แต่ถ้าคุณต้องการจดทะเบียนก็ต้องมีเหตุผลที่ดี หลายคนจดทะเบียนเพราะพวกเขาต้องการเงินทุนเพิ่มเติม ซึ่งเราไม่ต้องการ” ชนาพรรณกล่าว
อ้างอิง: