×
SCB Omnibus Fund 2024

‘หุ้นไทย’ ร่วงหนัก 28 จุด รับแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก สะท้อนวิกฤตหมดศรัทธานโยบาย Fed

12.05.2022
  • LOADING...
หุ้นไทย

หุ้นไทยร่วงต่อ 28 จุด นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อถือเงินสด นักวิเคราะห์ประเมินหุ้นไทยซึมยาวรอจุดพลิกผันของนโยบาย Fed ที่จะกลับมาโฟกัสภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากกว่าเงินเฟ้อ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในปลายไตรมาส 3 ปีนี้ 

 

หุ้นไทยวันนี้ (12 พฤษภาคม) ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากวานนี้ ดัชนีปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,584.52 จุด ลดลง 28.82 จุด หรือ 1.79% และหากเทียบตั้งแต่ต้นปีจนปัจจุบัน ดัชนีปรับลดลง 4.4% 

 

โดยสถาบันในประเทศ ขายสุทธิ 1,932.28 ล้านบาท 

บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขายสุทธิ 817.85 ล้านบาท 

นักลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิ 622.86 ล้านบาท 

นักลงทุนในประเทศ ซื้อสุทธิ 3,372.99 ล้านบาท 

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นในปัจจุบันอยู่ในโหมดวิกฤตแห่งความเชื่อมั่น สะท้อนจากราคาสินทรัพย์เสี่ยงทั้งหมดที่ปรับตัวลดลงถ้วนหน้า ทั้งตลาดคริปโตและตลาดหุ้นทั่วโลกและไทย 

 

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาค หุ้นไทย ณ วันนี้ปรับลดลง 4.4% จากต้นปี นับว่าปรับลดลงน้อยกว่าตลาดหุ้นเพื่อนบ้านค่อนข้างมาก โดยตลาดหุ้นในภูมิภาคส่วนมากปรับลดลงมากกว่า 10% จากต้นปี

 

โดยตลาดไม่เชื่อมั่นในนโยบาย Fed ในการจัดการกับเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูง ขณะที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจโดยรวมต่างๆ ยังไม่เอื้อให้นักลงทุนเปิดรับความเสี่ยงในตอนนี้ 

 

“ตอนนี้เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ยอมเทขายสินทรัพย์ทุกสินทรัพย์เพื่อถือเงินสด และสินทรัพย์เดียวที่เงินไหลเข้าก็คือดอลลาร์ ซึ่งผลักดันให้ Dollar Index ปรับขึ้นอย่างมาก” 

 

ณัฐชาตกล่าวว่า วิกฤตนี้จะกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกต่อเนื่องจนกว่าจะได้พบกับจุดเปลี่ยนของตัวแปรทางเศรษฐกิจหรือดัชนีชี้วัดต่างๆ โดยจุดเปลี่ยนที่คาดหวังว่าจะทำให้ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงกลับทิศอีกครั้ง คือ สัญญาณที่เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ซึ่งจะทำให้ผู้กำหนดนโยบายอย่าง Fed ยอมลดจุดยืน หรือเปลี่ยนท่าทีจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากเป็นเข้มงวดลดลง หรือปรับโหมดไปสู่นโยบายการเงินผ่อนคลาย ซึ่งช่วงเวลาที่สัญญาณนี้จะเกิดคือช่วงปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 

 

“ในปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 เงินเฟ้อน่าจะชะลอตัวลงแล้ว ทำให้ Fed สามารถเบี่ยงประเด็นจากที่โฟกัสที่เงินเฟ้อมาโฟกัสที่ประเด็นเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นผ่านพ้นจุดต่ำสุด หรือ Bottom Out ได้” ณัฐชาตกล่าว 

 

ณัฐชาตกล่าวว่า ปัจจุบันสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มมีมากขึ้น จากการที่ตลาดหุ้นปรับลดลง ตลาดคริปโตปรับลดลง รวมถึงบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ เริ่มลดต่ำลง ซึ่งสะท้อนว่านักลงทุนเข้าสู่โหมดกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยจึงเข้ามาถือพันธบัตรระยะยาวมากขึ้นเพื่อล็อกผลตอบแทนระยะยาว  

 

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นจากนี้ เชื่อว่าหุ้นไทยจะซึมต่อเนื่อง ในระยะสั้นอาจจะมีการรีบาวด์ได้ แต่จะไม่ทะลุระดับ 1,640-1,650 จุด กลยุทธ์ลงทุนในช่วงนี้จึงแนะนำถือเงินสดไว้บ้าง พร้อมกับปรับพอร์ตโดยการจัดสรรการลงทุนไปสู่หุ้น Defensive เช่น กลุ่มโรงพยาบาล ค้าปลีกสินค้าจำเป็น และ Utilities 

 

และในกรณีที่ปัจจัยจากต่างประเทศยังกดดันหุ้นไทยต่อเนื่อง สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อ สัญญาณเกิดเศรษฐกิจถดถอยชัดมากขึ้น หุ้นไทยน่าจะปรับฐานลงสู่ระดับ 1,500-1,530 จุด ซี่งเทียบเท่า Forward P/E 15.7 เท่า ซึ่งเป็นจุดที่น่าทยอยสะสมลงทุน 

 

ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตอนนี้ตลาดมีแต่ความกังวลจากแรงกดดันเรื่องนโยบาย Fed เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการเทขายคริปโต จึงเกิดแรงเทขายอย่างหนักเพื่อหันไปถือเงินสดเพิ่มขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยจะไม่ปรับลดลงจนเผชิญกับภาวะวิกฤต (ลดลงมากว่า 30%) เนื่องจากยังมีปัจจัยบวกเรื่องกำไรบริษัทจดทะเบียนมาสนับสนุนอยู่ อีกทั้งหุ้นไทยไม่ได้เฟ้อเกินไป P/E ตลาดไม่ได้สูงมาก ขณะเดียวกัน กระแสเงินทุนก็ไม่ได้ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยมากนัก นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่นักลงทุนสถาบันในประเทศจะกลับเข้าซื้อเมื่อดัชนีอ่อนตัวลงมาบริเวณ 1,550 จุด 

 

ทั้งนี้ ประเมินแนวรับเชิงปัจจัยพื้นฐานอยู่ที่ 1,550 จุด โดยหุ้นกลุ่มน่าสนใจคือหุ้น Value Play เช่น กลุ่มแบงก์ ที่ตอนนี้ไม่ค่อยแพงแล้ว และเชื่อว่าจะได้รับอานิสงส์จากการที่รัฐบาลต้องกู้เงินในประเทศอีก เพื่อเอามากระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาต้นทุนต่างๆ รวมถึงกลุ่มค้าปลีกและหุ้น Defensive เช่น กลุ่มส่งออกอาการ กลุ่มโรงพยาบาล 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising