หลังเข้าสู่เดือนเมษายน หุ้นไทยเข้าสู่โหมดพักตัว หลังจากที่ดัชนี SET วิ่งไปแตะระดับ 1,615 จุด ก่อนจะย่อตัวลงมาแตะระดับ 1,570 จุด พร้อมกับมูลค่าการซื้อขายที่เบาบางลงมาอยู่ที่ราว 3.5-4.5 หมื่นล้านบาทต่อวัน
ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (12 เมษายน) ดัชนี SET ติดลบไปมากถึง 16 จุด หลังเปิดตลาดช่วงเช้า กดให้ดัชนีลดลงไปแตะระดับ 1,580 จุด อย่างไรก็ดี จากข้อมูลสถิติของดัชนี SET ผ่าน SETSMART สะท้อนว่า ในช่วง 5 วันทำการแรกหลังจากที่ผ่านวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีแนวโน้มจะเป็นบวก โดย 5 ปีที่ผ่านมา ดัชนี SET มีช่วงที่ปรับตัวขึ้นได้ทุกปี ยกเว้นปี 2563 ที่ไม่มีวันหยุดในช่วงสงกรานต์
- ปี 2565 ดัชนี SET +19 จุด เพิ่มขึ้นจาก 1,674 จุด ไปสูงสุดที่ 1,693 จุด
- ปี 2564 ดัชนี SET +46 จุด เพิ่มขึ้นจาก 1,541 จุด ไปสูงสุดที่ 1,587 จุด
- ปี 2563 ไม่มีวันหยุดสงกรานต์
- ปี 2562 ดัชนี SET +23 จุด เพิ่มขึ้นจาก 1,660 จุด ไปสูงสุดที่ 1,683 จุด
- ปี 2561 ดัชนี SET +38 จุด เพิ่มขึ้นจาก 1,767 จุด ไปสูงสุดที่ 1,805 จุด
ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า หุ้นไทยที่ปรับตัวลงแรงในวันนี้สะท้อนความเสี่ยงจากการลดพอร์ตของนักลงทุนก่อนเข้าสู่วันหยุดยาวไปแล้ว แต่จากสถิติในอดีตของหุ้นไทยช่วงหลังสงกรานต์ดัชนี SET จะกลับมาเป็นบวกได้ จากแรงซื้อของนักลงทุนที่กลับเข้ามาในตลาดอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของดัชนี SET ในช่วงหลังจากนั้นไปจนถึงสิ้นปี หากจะกลับไปสู่ระดับ 1,700-1,800 จุด อาจต้องอาศัยผลการเลือกตั้งที่เอื้อต่อบรรยากาศการลงทุน เช่น มีพรรคที่ชนะแบบเบ็ดเสร็จและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว
“การปรับตัวลงของดัชนี SET ไปแตะระดับ 1,520 จุด เมื่อกลางเดือนมีนาคม น่าจะเป็นจุดต่ำสุดไปแล้ว หากไม่ได้มีปัจจัยเซอร์ไพรส์ด้านลบ เช่น ธนาคารล้ม หรือสงคราม โดยดัชนีที่ต่ำกว่า 1,550 จุด ถือเป็นระดับที่ไม่แพงแล้ว”
ภาดลกล่าวต่อว่า ในช่วงหลังสงกรานต์ไปจนถึงก่อนการเลือกตั้ง คิดเป็นเวลาประมาณ 30 วัน หุ้นไทยจะเข้าสู่ช่วงประกาศผลประกอบการไตรมาสแรก ทำให้ดัชนีน่าจะผันผวนไปตามผลประกอบการของหุ้นแต่ละกลุ่ม ขณะที่นักลงทุนต่างชาติจะยังซื้อสลับขายคล้ายกับช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
“เรายังคงมองเป้าหมายดัชนี SET ปลายปีที่ 1,720 จุด หนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว แต่หากจะไปถึงระดับ 1,800 จุด ผลการเลือกตั้งต้องเป็นใจ”
ขณะที่ความเสี่ยง Recession ในสหรัฐฯ ตอนนี้แนวโน้มค่อนข้างสูง แต่หากเกิดจริงหุ้นไทยอาจจะปรับตัวลดลงในระดับที่น้อยกว่า
ด้าน จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจ และการลงทุนสายงานวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในช่วงก่อนการเลือกตั้งเชื่อว่าหุ้นไทยอาจจะยังไม่สามารถปรับขึ้นไปได้มากนัก ซึ่งเป็นช่วงที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
ส่วนปัจจัยต่างประเทศจะเริ่มจากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่จะประกาศคืนนี้ แม้รอบนี้จะดูดีขึ้นเล็กน้อย แต่โดยรวมยังไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะมีปัจจัยบวกตามมา ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่ช่วงประกาศกำไรบริษัทจดทะเบียน
ทั้งนี้ โอกาสที่หุ้นไทยจะกลับมาสู่ขาขึ้นอีกครั้งอาจต้องรอไปถึงช่วงหลังเดือนมิถุนายน หรือหลังจากที่จัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว และหากจะเห็นดัชนี SET กลับไปสู่ระดับ 1,700-1,800 จุด อาจต้องมีเงื่อนไขสำคัญประมาณ 4 ข้อ ได้แก่
- เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวต่อเนื่อง รัฐบาลใหม่อัดฉีดเงินเข้ามาในระบบ
- นักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นฝ่ายซื้อสุทธิ ซึ่งต้องเห็นเงินบาทกลับมาแข็งค่าสวนทางกับดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง
- หุ้นจีนต้องมีอุปสรรคบางประการ ทำให้ความน่าสนใจลดลง
- สหรัฐฯ กลับมาลดดอกเบี้ย ทำให้ฟันด์โฟลวเริ่มกระจายออกไปสู่ประเทศต่างๆ
“ดัชนี SET ที่ 1,520 จุด น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของรอบนี้ไปแล้ว แต่หากจะไปถึงเป้าหมายดัชนีที่เราวางไว้เดิมที่ระดับ 1,830 จุด เราอาจต้องเห็น Sentiment ดีจริงๆ และเงินบาทแข็งค่าไปถึง 31 บาทต่อดอลลาร์”
บทความที่เกี่ยวข้อง
- หุ้นไทย แย่สุดอันดับ 3 ของโลก! ‘ดร.นิเวศน์’ ชี้ 4 สาเหตุสำคัญ ด้าน ‘หมอพงศ์ศักดิ์’ แนะนักลงทุนค้นหา ‘ความสามารถที่ยั่งยืน’ ของตัวเอง
- นักกลยุทธ์ลงทุน ยก ‘หุ้นจีน-อาเซียน’ สินทรัพย์ลงทุนที่เหมาะสุดยามเกิดภาวะ Soft Landing
- ทำความรู้จัก ‘หมี-กระทิง-พิราบ-เหยี่ยว’ และเหล่าสัตว์อื่นๆ มีความหมายอย่างไรในโลกการเงิน