ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2022 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2023 หลายคนมองว่าตลาด หุ้นไทย จะเป็นเหมือน ‘Safe Haven’ หรือหลุมหลบภัยท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่อาจจะต้องเผชิญกับภาวะถดถอยหรือ Recession ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไม่มากก็น้อย
ภาพของดัชนี SET ก็ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น หลังจากที่ดัชนีวิ่งขึ้นจาก 1,600 จุด มาสู่ระดับ 1,690 จุด ภายในเวลา 13 วันทำการ แต่หลังจากนั้นหุ้นไทยเหมือนติดหล่ม ดัชนี SET ทำได้แค่ประคองตัวอยู่ในกรอบ 1,670-1,690 จุด จนถึงสิ้นเดือนมกราคม ก่อนที่นักลงทุนต่างชาติจะกระหน่ำขายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา เกือบ 5 หมื่นล้านบาท จนดัชนี SET ร่วงลงมาเหลือเพียง 1,605 จุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘กอบศักดิ์’ แนะทยอยซื้อหุ้นเทคสหรัฐฯ เชื่อผลตอบแทนในอีก 1-2 ปีข้างหน้าดีกว่าฝากแบงก์
- เปิดพอร์ตพันล้าน ‘เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์’ ถือหุ้นอะไรบ้าง
- หุ้นไทย SET ดิ่ง 90 จุด ใน 3 วัน! โบรกชี้ภาวะ Panic Sell พ่วงแรงขายจาก ‘การบังคับขาย’ แต่ 1,520 จุด อาจไม่ใช่จุดขายแล้ว!
หากเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลก อิงจากข้อมูลของ Investing.com ดัชนี SET ของไทยถือเป็นดัชนีที่ให้ผลตอบแทนย่ำแย่มากที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากดัชนี Bovespa (-5.8%) ของบราซิล และดัชนี BIST 100 (-4.5%) ของตุรกี
ในมุมของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor) มองว่า สาเหตุหลักที่หุ้นไทย Underperform มาจากเรื่องเศรษฐกิจที่โตช้ากว่าที่คิดไว้มาก
“เดิมทีนักลงทุนคาดว่า (เศรษฐกิจ) จะโตดีแน่ เพราะนักท่องเที่ยวกลับมา แต่ตัวเลขส่งออกแย่มาก ทำให้อานิสงส์จากการท่องเที่ยวลดลง”
ดร.นิเวศน์กล่าวต่อว่า หากมองภาพรวมแล้วหุ้นไทยถูกกดดันจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่
- เศรษฐกิจเติบโตช้า
- อัตราดอกเบี้ยไทยอาจต้องปรับขึ้นต่อ เพราะอัตราดอกเบี้ยโลกยังไม่ลง ซึ่งไม่ดีต่อตลาดหุ้น
- ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 4 ออกมาแย่ และแนวโน้มไม่ค่อยดีนัก
- มูลค่าหุ้นค่อนข้างแพง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ขณะที่การเติบโตต่ำ
แม้ก่อนหน้านี้หุ้นไทยอาจได้แรงหนุนจากการเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริงแล้วการเลือกตั้งยังไม่ได้ส่งผลต่อปัจจัยพื้นฐานมากนัก โดยเป็นเชิง Sentiment จากความคาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยอาจดีขึ้น หากผลการเลือกตั้งออกมาตามที่คนส่วนใหญ่คาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นได้ตามที่คาดหวังหรือไม่
“เวลานี้ต้องลงทุนหุ้นถูกอย่างเดียว หวังกับหุ้นเติบโตได้ยาก เงินปันผลสำคัญมากขึ้น ส่วนตัวเน้นหุ้นที่มีปันผลเกิน 5%”
นอกจากนี้ ดร.นิเวศน์กล่าวว่า ส่วนตัวให้ความสำคัญกับปัจจัยมหภาคมากขึ้น จากเมื่อ 10-20 ปีก่อนที่ไม่ให้ความสำคัญ เพราะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตเกือบทุกปี และเมื่อเกิดปัญหาไม่นานก็ผ่านไป แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว อาจต้องดูภาพใหญ่ด้วย
“ส่วนตัวยังให้น้ำหนักกับปัจจัยเฉพาะตัวมากกว่า โดยเน้นเลือกหุ้นที่ดีกว่าตลาด แต่ถ้าสภาพแวดล้อมที่เอื้อ ประกอบกับการเลือกหุ้นถูกตัว จะช่วยให้การเติบโตพุ่งพรวดได้ง่ายกว่า”
ด้าน นพ.พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี นักลงทุน VI กล่าวว่า โดยส่วนตัวให้ความสำคัญกับปัจจัยเฉพาะตัวของหุ้นมากกว่าภาพใหญ่ ทุกสถานการณ์จะมีบริษัทที่ทำได้ดี นักลงทุนควรเพ่งไปยังบริษัทที่มีโอกาสในช่วงนี้และต่อเนื่องไปในอนาคต
“ส่วนตัวมองว่าเราควรใช้เวลาศึกษาให้เข้าใจถึงแนวโน้มการเติบโตของบริษัทและโอกาสของธุรกิจ หากหุ้นที่ดีร่วงลงเพราะความเข้าใจผิดตามภาพรวมตลาด ยิ่งเป็นโอกาสที่ดีมากของนักลงทุนที่จะได้ซื้อหุ้นในราคาถูก”
สำหรับนักลงทุนรายบุคคล โอกาสของการทำกำไรอาจไม่ได้อยู่ที่การทำนายภาพใหญ่ แต่มาจากการมองหาหุ้นที่ดีให้เจอ อย่างบางบริษัทอาจต้องรอถึง 4-5 ปี เพื่อให้ถึงจุดที่กำลังจะเติบโตก้าวกระโดด หลังจากที่ดำเนินกลยุทธ์บางอย่าง หากเราไม่เข้าใจบริษัทอย่างแท้จริง เราจะมองไม่เห็นเลยว่าบริษัทใดกำลังจะดีมาก
“เราต้องมองภาพให้ออกและเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม มองให้ออกว่าใครคือผู้ชนะหรือผู้ที่ได้เปรียบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ท่ามกลางความยุ่งเหยิง ผลตอบแทนของเราจะอยู่ตรงนั้น”
นพ.พงศ์ศักดิ์กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญที่นักลงทุนต้องพัฒนาทุกๆ วันแบ่งเป็น 3 ส่วนสำคัญ คือ
- เร็ว – ฝึกมองให้เห็นและเข้าใจให้ได้ก่อนคนอื่น ไม่เช่นนั้นแล้วหุ้นที่ซื้อได้จะไม่ใช่หุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น
- ลึก – ฝึกมองให้ลึกกว่าคนอื่น การศึกษาบริษัทต้องดูทั้งอุตสาหกรรม รวมถึงบริษัทนอกตลาดที่เป็นคู่แข่งด้วย หรือแม้แต่บริษัทต่างประเทศที่คล้ายกัน ต้องรู้ว่าแต่ละบรรทัดของงบการเงินเป็นอย่างไร คำอธิบายงบว่าอย่างไร
- ระยะยาว – ฝึกมองให้ยาวกว่าคนอื่น หลายครั้งตลอดเวลาการลงทุน เรามักจะเจอช่วงเวลาที่ตลาดแย่เข้ามาแทรกอยู่เสมอ แต่หากแนวโน้มธุรกิจอีก 3-5 ปียังดี เราก็ต้องอยู่กับมัน แต่ต้องเข้าใจโดยไม่ใช้อคติ
“ทั้ง 3 ส่วนนี้ต้องฝึกทุกวัน นักลงทุนไม่ใช่อาชีพที่สบาย ต้องมีแพสชันและใช้ความพยายาม ในตลาดมีเต็มไปด้วยการแข่งขันของคนเก่ง อย่าใช้เวลาในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์
“เราควรถามตัวเองว่าเราพัฒนาความสามารถที่ยั่งยืนของตัวเองได้หรือยัง เราควรใช้เวลาพัฒนาความสามารถยั่งยืนของตัวเองทุกวัน ถ้าหาเจอเราจะเก่งขึ้น และก็ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพราะการเก่งแค่ในอดีตไม่มีความหมาย”
ความเห็นต่อเรื่องภาษีหุ้นของ ‘นักลงทุน VI’
ดร.นิเวศน์มองว่า การยกเลิกเก็บภาษีหุ้นอาจช่วยให้ความกังวลหายไปช่วงสั้น แต่ประเด็นดังกล่าวยังไม่แน่นอน รัฐบาลใหม่ก็อาจจะหยิบยกขึ้นมาอีกได้ แต่แม้จะมีการยกเลิกจริงคงจะไม่ได้ช่วยให้ต่างชาติพลิกกลับมาซื้อหุ้นไทย
“ส่วนตัวมองว่าปีนี้ต่างชาติจะเป็นฝ่ายขาย เพราะดอกเบี้ยไทยกับต่างประเทศห่างกันมากเกินไป”
ส่วน นพ.พงศ์ศักดิ์มองว่า หากการเก็บภาษีหุ้นจะช่วยกระจายรายได้ให้คนส่วนใหญ่อย่างถูกต้องโดยรัฐบาลที่ดี ก็ยินดีที่จะทำ โดยเฉพาะถ้าการเก็บภาษีช่วยให้สังคมดีขึ้น