×
SCB Omnibus Fund 2024

บทสรุป ‘หุ้นไทย’ ปี 65 ต่างชาติซื้อ 2 แสนล้าน แต่ SET ยังไม่ไปไหน

30.12.2022
  • LOADING...

ดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทยปิดตลาดวันทำการสุดท้ายของปี 2565 ที่ระดับ 1,668.66 จุด เพิ่มขึ้น 0.66% แม้จะเป็นการปิดปีด้วยการยืนอยู่ในแดนบวก แต่หากมองย้อนกลับไปตลอดทั้งปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าดัชนี SET เคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปีก่อนอยู่เป็นส่วนใหญ่ ก่อนจะเร่งเครื่องในช่วง 8 วันสุดท้าย บวกขึ้นมาถึง 64 จุด 

 

สำหรับการเดินทางของหุ้นไทยตลอดทั้งปี 2565 นี่คือบทสรุปของปีที่อาจจะไม่ได้ดีมากนัก แต่ก็ยังถือว่าดีกว่าอีกหลายตลาด อย่างที่เรามักจะได้ยินกันอยู่บ่อยครั้งว่า ‘ปีนี้หุ้นไทย Outperform’ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


หุ้นไทยบวก 8 วันรวดส่งท้ายปี 

ดัชนี SET ปิดบวกจากวันก่อนหน้า 8 วันติดต่อกัน จากระดับ 1,604.44 จุด ขึ้นมาปิดที่ 1,668.66 จุด ทำให้หุ้นไทยที่ดูเหมือนว่าจะปิดลบในปีนี้ พลิกกลับมายืนในแดนบวกได้ในช่วงโค้งสุดท้าย และยังเป็นการทำจุดสูงสุดใหม่นับแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา 

 

ตลอดทั้งปี 2565 มีเพียงช่วงเวลาเดียวที่ตลาดหุ้นไทยสามารถปิดบวกติดต่อกันได้มากเท่านี้ คือระหว่างวันที่ 28 มกราคม – 9 กุมภาพันธ์ ที่ดัชนีปิดบวกติดต่อกันถึง 9 วันทำการ เพิ่มขึ้นราว 70 จุด จนดัชนีวิ่งทะลุ 1,700 จุด 

 

แต่สิ่งที่แตกต่างออกไประหว่าง 2 ช่วงเวลาดังกล่าวคือ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยที่ลดลงจากประมาณ 7.8 หมื่นล้านบาทต่อวัน มาเหลือเพียง 4.5 หมื่นล้านบาทต่อวัน 

 

หากมองภาพหุ้นตลอดทั้งปีนี้ จุดพีคจะอยู่ในช่วงไตรมาสแรกที่ดัชนีวิ่งไปถึง 1,718 จุด ก่อนจะเผชิญกับขาลงในไตรมาส 2 และผันผวนหนักในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 

 

ต่างชาติ ‘ซื้อสุทธิ’ 2 แสนล้านบาท 

ตลอด 4 ปีก่อนหน้านี้ (2561-2564) นักลงทุนต่างชาติเป็นฝ่ายขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยมาโดยตลอด แต่ปีนี้ต่างชาติกลับมาเป็นฝ่ายซื้อสุทธิถึง 2 แสนล้านบาท สวนทางกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิออกมา 1.5 แสนล้านบาท ส่วนนักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 4.2 หมื่นล้านบาท 

 

ข้อมูลที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ การมีส่วนร่วมของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากประมาณ 31% เมื่อปี 2561 มาเป็น 47% ในปีนี้ โดยมูลค่าการเทรดเพิ่มขึ้นจากกว่า 3 ล้านล้านบาท มาเป็นกว่า 8 ล้านล้านบาท ขณะที่รายย่อยซึ่งเคยเป็นนักลงทุนกลุ่มหลักในสัดส่วน 45% ลดลงมาเหลือ 35% พร้อมด้วยมูลค่าการเทรดที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากกว่า 5 ล้านล้านบาท มาเป็น 6 ล้านล้านบาท

 

‘อิเล็กทรอนิกส์-ท่องเที่ยว’ คือผู้ชนะของปีนี้

หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) เป็นกลุ่มที่ร้อนแรงที่สุดของหุ้นไทยในปีนี้ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 40% นำโดยหุ้นของ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA ที่เพิ่มขึ้น 75% รองลงมาคือหุ้นของ บมจ.ทีมพรีซิชั่น หรือ TEAM และ บมจ.เอสวีไอ หรือ SVI ที่ราคาวิ่งขึ้นมา 60% และ 24% ตามลำดับ 

 

สำหรับกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในปีนี้ถือเป็นกลุ่มที่กำไรเติบโตได้ค่อนข้างโดดเด่น บริษัทอย่าง DELTA, SVI, TEAM สามารถทำกำไร 9 เดือน ได้มากกว่าหรือเกือบจะเท่ากับปี 2564 ทั้งปี 

 

ขณะที่กลุ่มท่องเที่ยว (TOURISM) เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 36% นำโดยหุ้นของ บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา หรือ CENTEL ที่เพิ่มขึ้น 60% รองลงมาคือ บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป หรือ ERW เพิ่มขึ้น 50% และ บมจ.โอเอชทีแอล หรือ OHTL เพิ่มขึ้น 43%

 

นอกจากนี้ กลุ่มหุ้นอื่นที่ปรับตัวขึ้นได้ค่อนข้างเด่นในปีนี้ ได้แก่ กลุ่มการแพทย์ (HELTH) เพิ่มขึ้น 27% บริการเฉพาะกิจ (PROF) เพิ่มขึ้น 19% กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (PROP) เพิ่มขึ้น 14% และกลุ่มขนส่ง (TRANS) เพิ่มขึ้น 13%

 

ส่วนกลุ่มหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ที่ปรับตัวขึ้นโดดเด่นในปีนี้ ได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (PROPCON) เพิ่มขึ้น 61% และกลุ่มเทคโนโลยี (TECH) เพิ่มขึ้น 33% 

 

‘สินค้าอุตสาหกรรม’ หมดเสน่ห์

ในมุมกลับกันสำหรับกลุ่มหุ้นที่ร่วงแรงที่สุดของปีนี้ คือ กลุ่มของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ (PERSON) ลดลง 51% นำโดยหุ้นอย่าง บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT ที่ราคาลดลงถึง 66% และ บมจ.โนวา ออร์แกนิค หรือ NV ลดลง 63% โดยหุ้นอย่าง STGT และ NV เคยเป็นผู้ได้อานิสงส์จากการแพร่ระบาดของโควิด ก่อนที่อานิสงส์ดังกล่าวจะค่อยๆ หดหายไป 

 

อีกกลุ่มที่ร่วงลงแรงคือกลุ่มวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร (IMM) ลดลง 40% นำโดยหุ้นของ บมจ.กุลธรเคอร์บี้ หรือ KKC และ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK ที่ราคาลดลงไป 69% และ 49% ตามลำดับ นอกจากนี้ กลุ่มหุ้นอื่นๆ ที่ลดลงแรง ได้แก่ กลุ่มเหล็ก (STEEL) ลดลง 23% กลุ่มสินค้าเกษตร (AGRI) ลดลง 20% กลุ่มสื่อ (MEDIA) ลดลง 19% 

 

ส่วนกลุ่มหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ที่ลดลงแรงที่สุด คือ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (CONSUMP) ลดลง 37% รองลงมาคือกลุ่มการเงิน (FINCIAL) ลดลง 25% 

 

‘CPH-INSURE-TEAMG’ ท็อป 3 หุ้นร้อนแรงสุดแห่งปี

บมจ.คาสเซ่อร์พีค โฮลดิ้งส์ หรือ CPH ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทำกำไร 9 เดือนไปได้ 250 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนทั้งปีที่ทำได้ 18 ล้านบาท ทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นอย่างร้อนแรงถึง 711% 

 

ในขณะที่ บมจ.อินทรประกันภัย หรือ INSURE กำไร 9 เดือน ทำได้ 742 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีก่อนทั้งปีที่ทำได้ 14 ล้านบาท หนุนให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้น 519% ในขณะที่ บมจ.ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ หรือ TEAM แม้กำไร 9 เดือนจะลดลงมาเหลือ 66 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ได้ 73 ล้านบาท แต่ด้วยแรงศรัทธาของนักลงทุนทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นร้อนแรงเป็นอันดับ 3 ถึง 324% 

 

ส่วนหุ้นที่ดิ่งลงหนักที่สุดในปีนี้ 3 อันดับแรก ได้แก่ บมจ.เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ หรือ WAVE ลดลง 89% บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ALL ลดลง 87% และ บมจ.พีพี ไพร์ม หรือ PPPM ลดลง 81% 

 

โบรกมองปีหน้าพีคไตรมาสแรก ลุ้น SET ทะลุ 1,700 จุด

“หุ้นไทยปีหน้าจะเป็น U-Shape คล้ายกับปีนี้ คือไตรมาสแรกจะดีที่สุดของปี ไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ปรับฐาน ก่อนจะฟื้นตัวกลับในไตรมาส 4” ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวถึงหุ้นไทยในปีหน้า 

 

ช่วงไตรมาสแรกตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมอาจยังผสมผสานดีและแย่สลับกันไป ขณะเดียวกันอาจจะเห็นปัจจัยหนุนจากนโยบายเศรษฐกิจใหม่ของสหรัฐฯ หลังเปลี่ยนขั้วสภาล่าง รวมทั้งการเลือกตั้งในประเทศ

 

แต่เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 3 จะเริ่มเห็นตัวเลขเศรษฐกิจแย่ลง รวมไปถึงเรื่องของการถอนสภาพคล่อง ลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ปัจจุบันยังทำได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 

 

ประกอบกับปัจจัยในประเทศในเรื่องของภาษี Transaction Tax ซึ่งจะทำให้ปริมาณการซื้อขายในตลาดลดลง และยิ่งทำให้ตลาดผันผวนสูงขึ้น (ขึ้นแรงและลงแรง เนื่องจากปริมาณการซื้อขายที่เบาบางลง) 

 

“ตอนนี้ตลาดคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยกลางปีหน้า ซึ่งเรามองว่ายากมาก เพราะเงินเฟ้อจะยังไม่ลงมาใกล้เป้าหมาย การขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้อาจจะค้างอยู่ด้านบนหลังหยุดขึ้น ทำให้ตลาดอาจจะผิดหวังจากทั้งตัวเลขเศรษฐกิจ และผิดหวังกับนโยบาย” 

 

ส่วนไตรมาส 4 แม้ตัวเลขเศรษฐกิจอาจจะแย่ลงอีก แต่จะเป็นสิ่งที่ตลาดตอบรับไปแล้ว และอาจเริ่มเห็นการส่งสัญญาณเปลี่ยนโทนนโยบายมาผ่อนคลายมากขึ้น 

 

สำหรับกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจคือ กลุ่มที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศ โดยอาจผสมผสานด้วยกลุ่มสาธารณูปโภคและ REITs รวมทั้งกลุ่มบริหารหนี้ 

 

ด้าน สรพล วีระเมธีกุล หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย มองว่า ช่วงไตรมาส 1 ของปีหน้า ดัชนี SET มีโอกาสจะวิ่งขึ้นไปเกิน 1,700 จุด จาก 3 เหตุผลหลัก ได้แก่

 

  1. เศรษฐกิจไทยได้ประโยชน์โดยตรงจากการฟื้นตัวของจีน ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคในประเทศและการส่งออก เรามองว่าไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่ได้อานิสงส์มากที่สุดจากการฟื้นตัวของจีน 

 

  1. ไทยไม่มีปัญหาเงินเฟ้ออย่างประเทศฝั่งตะวันตก ทำให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะต่ำกว่า ช่วยให้ความน่าสนใจของการลงทุนอิงจาก Earning Yield Gap อยู่ที่ราว 3.5-4% เทียบกับจีนที่ 6% ขณะที่ยุโรปและสหรัฐฯ ต่ำกว่า 2.5% 

 

  1. การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจในฝั่งสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัว ทำให้การลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) จะน่าสนใจมากขึ้นต่อให้พื้นฐานอาจจะยังไม่ฟื้น 

 

ทั้งนี้ การเลือกหุ้นเพื่อลงทุนในปีหน้าควรเน้นไปที่ 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ เงินปันผล (Dividend) อิงกับเศรษฐกิจในประเทศ (Domestic) และหุ้นเชิงรับ (Defensive)

 

5 โบรกประเมินเป้าหมายดัชนี SET ปี 2566

 

  • บล.ทรีนีตี้ – ประเมินเป้าหมาย 1,640 จุด สูงสุด 1,760 จุด ในไตรมาสแรก
  • บล.กสิกรไทย – ประเมินเป้าหมาย 1,760 จุด โดยมีโอกาสจะทะลุ 1,700 จุด ในไตรมาสแรก
  • บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) – ประเมินเป้าหมาย 1,720 จุด ระหว่างปีเชื่อว่าจุดต่ำสุดจะไม่ต่ำกว่า 1,550 จุด และอาจเห็นดัชนีแตะ 1,800 จุด จากแรงหนุนช่วงการเลือกตั้ง
  • บล.บัวหลวง – ประเมินเป้าหมาย 1,820 จุด
  • บล.โนมูระ พัฒนสิน – ประเมินเป้าหมาย 1,800 จุด
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising