×

ทำไมการผลิตไฟฟ้า ‘พลังงานแสงอาทิตย์’ ของชาวบ้านจึงไม่ไปถึงไหน

19.11.2024
  • LOADING...
พลังงานแสงอาทิตย์

​ลองจินตนาการดูว่าหากรัฐบาลส่งเสริมอย่างจริงจังให้อาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่ติด Solar Rooftop หรือผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาไว้ใช้เอง และหากผลิตไฟฟ้าเหลือช่วงกลางวันก็สามารถขายคืนให้การไฟฟ้าได้ อะไรจะเกิดขึ้น

 

  1. เราจะมีไฟฟ้าใช้จากแหล่งพลังงานที่สะอาด ลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน ไม่ต้องลงทุนหลายพันล้านบาทสร้างโรงผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่อีกหลายแห่ง รวมถึงการไปซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนของประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขงมหาศาล

 

  1. ค่า Ft (Fuel Adjustment Charge (at the given time)) ลดลง ค่า Ft ซึ่งเป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนหรือประเทศเพื่อนบ้านที่แต่ละบ้านต้องจ่ายเพิ่มขึ้นตลอด อาจจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

  1. ทุกวันนี้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ต่ำลงเรื่อยๆ ตามเทคโนโลยีใหม่ๆ และกำลังต่ำกว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลและพลังน้ำจากเขื่อน

 

  1. เป็นการลดการผูกขาดพลังงานไฟฟ้าของรายใหญ่ให้ลดลงและกระจายไปสู่ประชาชนให้มีส่วนในการผลิตไฟฟ้า

 

ในต่างประเทศ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เติบโตอย่างรวดเร็ว จีนแซงหน้าประเทศอื่นๆ มากในด้านการขยายพลังงานแสงอาทิตย์ โดยขณะนี้มีกำลังการผลิตติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์รวม 609,921 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้ผลิตมาจาก Solar Rooftop 225,000 เมกะวัตต์ ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา 139,205 เมกะวัตต์ ญี่ปุ่น 87,068 เมกะวัตต์ เยอรมนี 81,739 เมกะวัตต์ และอินเดีย 73,109 เมกะวัตต์

 

ที่น่าประหลาดใจคือประเทศเวียดนามกลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แบบก้าวกระโดดขึ้นมาอันดับ 13 ของโลก ด้วยกำลังการผลิต 17,077 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้ผลิตมาจาก Solar Rooftop เป็นประวัติการณ์ที่ 9,000 เมกะวัตต์

 

หันกลับมาที่ประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2565 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 53,336 เมกะวัตต์ ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นโซลาร์เซลล์ 3,135 เมกะวัตต์ เกือบทั้งหมดเป็นโรงผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ และมาจากโครงการโซลาร์บนหลังคาชาวบ้าน Solar Rooftop แค่ 11 เมกะวัตต์

 

​ทำไมการผลิตไฟฟ้า Solar Rooftop ในประเทศไทยถึงต่ำเตี้ยได้ขนาดนี้ อาจจะด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ

 

​1. รัฐบาลยังไม่ยอมใช้ระบบ NET METERING คือระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ตามจริงจากการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์หักลบกับไฟที่ใช้จากการไฟฟ้า ซึ่งผู้ใช้ไฟจะจ่ายค่าไฟตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่หักลบกันแล้ว อาทิ บ้านหลังนี้ใช้ไฟฟ้า 5,000 หน่วย แต่ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ 2,000 หน่วย ใช้ไฟฟ้าจากข้างนอก 3,000 หน่วย พอหักลบกันแล้วเจ้าของบ้านจะจ่ายค่าไฟเดือนละ 3,000 หน่วย

 

​ปัจจุบันการคิดค่าไฟของประเทศไทยยังเป็นแบบ Bill Metering คือการคิดแยกระหว่างค่าซื้อไฟจากการไฟฟ้ากับค่าขายไฟคืนการไฟฟ้า แล้วจึงนำเงินค่าขายไฟคืนมาหักลบกัน เช่น ปกติใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 5,000 หน่วย ผลิตไฟจากโซลาร์เซลล์ได้ 2,000 หน่วย นำมาใช้ในบ้านเพียง 1,500 หน่วย อีก 500 หน่วยขายคืนการไฟฟ้าในเรต 2.20 บาทต่อหน่วย เป็นเงิน 1,100 บาท และในเวลาที่โซลาร์เซลล์ผลิตไฟไม่ได้ เช่น เวลากลางคืน เราก็ใช้ไฟจากการไฟฟ้า 3,500 หน่วย คิดเป็นเงิน 13,965 บาท ลบจากที่ขายไฟคืนการไฟฟ้า 1,100 บาท เป็นเงิน 12,865 บาท ซึ่งเป็นวิธีที่จ่ายเงินค่าไฟมากกว่าแบบ NET METERING

 

​หลายภาคส่วนจึงสนับสนุนให้ประเทศไทยใช้ระบบการคิดค่าไฟแบบ NET METERING เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก และอีกหลายประเทศ แม้แต่พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลก็พูดหาเสียงไว้ว่าจะสนับสนุน NET METERING แต่ปัจจุบันก็ยังเหมือนเดิม

 

  1. ราคารับซื้อไฟฟ้าคืนจากทางการราคาต่ำ คือรับซื้อจากชาวบ้านหน่วยละ 2.20 บาท ขณะที่คิดราคาค่าไฟฟ้าจากชาวบ้านหน่วยละ 4 บาท และระยะเวลารับซื้อคืนก็สั้นเพียง 10 ปี แต่ถ้าเป็นโรงผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มให้เวลาถึง 25 ปี

 

  1. มีกฎระเบียบยุ่งยากมากในการขออนุญาตติดตั้ง Solar Rooftop บนหลังคา

 

  1. ไม่มีมาตรการทางการเงินสนับสนุน อาทิ แหล่งเงินกู้ เพราะแม้ว่าราคาของแผงโซลาร์จะลดลงมาก แต่ก็ยังสูงอยู่ในสายตาของคนทั่วไป

 

แต่ในขณะเดียวกัน ที่เมืองนอกประสบความสำเร็จในการให้ประชาชนผลิต Solar Rooftop เพราะรัฐบาลมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวและสนใจในเรื่องนี้ ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การสนับสนุนด้านนโยบายและกฎระเบียบ กลไกทางการเงินที่หลากหลายและตรงเป้าหมาย โมเดลธุรกิจที่เป็นนวัตกรรม และการสนับสนุนจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่นำไปสู่การลดต้นทุนของแผงเซลล์แสงอาทิตย์

 

ตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ เปิดให้ประชาชนร่วมผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองภายในครัวเรือนหรือกิจการต่างๆ โดยให้เจ้าของบ้านติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ เพื่อให้ประชาชนเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าเอง

 

​ประเทศเกาหลีใต้ ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองและสามารถขายไฟฟ้าส่วนเกินให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่นได้

 

ประเทศเบลเยียม เจ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ใกล้เคียงโดยตรง แม้ว่าจะเป็นลูกค้าของการไฟฟ้าแล้วก็ตาม

 

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP) ตั้งเป้าว่าในปี พ.ศ. 2580 จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ 16% หรือประมาณ 8,000 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะมาจากการประมูลของบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเดิมๆ มากกว่าการกระจายการผลิตไฟฟ้าไปสู่ครัวเรือน

 

ตราบใดก็ตามที่รัฐบาลไม่เห็นประโยชน์ของประชาชนมาก่อนเรื่องอื่น เราจะไม่มีทางเห็นรัฐบาลผลักดันส่งเสริมการผลิต Solar Rooftop ในระดับครัวเรือนนอกจากลมปากคำสัญญาก่อนหาเสียงเลือกตั้ง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X