×

ประวัติศาสตร์รถไฟไทย รักษาไว้ อย่าให้ตกราง

โดย Heritage Matters
19.08.2023
  • LOADING...
รถไฟไทย

HIGHLIGHTS

  • ประชาชนและภาครัฐในหลายประเทศทั่วโลกล้วนภูมิใจกับมรดกทางสถาปัตยกรรมประเภทสถานีรถไฟในประเทศ พร้อมที่จะสละเวลา เงินทุน และแรงกายเพื่ออนุรักษ์สิ่งปลูกสร้างเก่าแก่เหล่านี้ เพราะเล็งเห็นถึงคุณค่าของความเป็นทรัพย์สินสาธารณะที่ช่วยสร้างเอกลักษณ์
  • ถึงแม้สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้จะมีคุณค่า แต่ รฟท. ไม่มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการอนุรักษ์แหล่งมรดก อีกทั้งยังไม่มีหลักการอนุรักษ์อาคารทรงคุณค่าของตัวเอง ไม่มีนักอนุรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญ และแนวทางปฏิบัติ ไม่มีทะเบียนสิ่งปลูกสร้างโบราณ 
  • การอนุรักษ์อาคารทรงคุณค่าสามารถนำมารวมอยู่ในแผนพัฒนาทางการเงินได้เช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ผลประโยชน์ไปตกอยู่กับกลุ่มทุนใหญ่แต่เพียงผู้เดียว 
  • การอนุรักษ์พื้นที่ทรงคุณค่ามีส่วนในการเพิ่มความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนต่างๆ เป็นแหล่งมรดกที่ช่วยเสริมสร้างความภูมิใจของส่วนรวม พัฒนาการท่องเที่ยว การเรียนรู้ และคุณภาพชีวิต
  •  

 

ประชาชนและภาครัฐในหลายประเทศทั่วโลกล้วนภูมิใจกับมรดกทางสถาปัตยกรรมประเภทสถานีรถไฟในประเทศของตน พร้อมที่จะสละเวลา เงินทุน และแรงกายเพื่ออนุรักษ์สิ่งปลูกสร้างเก่าแก่เหล่านี้ เพราะเล็งเห็นถึงคุณค่าของความเป็นทรัพย์สินสาธารณะที่ช่วยสร้างเอกลักษณ์ ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสถานที่ และสุนทรียภาพ ให้กับชุมชนต่างๆ ถึงขั้นที่ว่าหากทางการคิดวางแผนจะทุบทำลาย ประชาชนก็พร้อมจะออกมาประท้วง

 

เมื่อสถานีเพนซิลเวเนียบนเกาะแมนฮัตตันในนครนิวยอร์กถูกทุบทิ้งเมื่อ พ.ศ. 2506 ได้เกิดเสียงคัดค้านขึ้นในระดับนานาชาติ จนนำไปสู่กระแสอนุรักษ์อาคารทรงคุณค่าทั่วสหรัฐอเมริกา ทำให้นครนิวยอร์กต้องผ่านกฎหมายอนุรักษ์สิ่งปลูกสร้างสำคัญในเวลาต่อมา นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมสถานีแกรนด์เซ็นทรัล ซึ่งเป็นสถานีรถไฟขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่เกือบจะถูกทุบทิ้งเช่นกัน ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ได้ในปัจจุบัน 

 

ต่างกับในประเทศไทย ที่ถึงแม้จะมีประวัติศาสตร์รถไฟมายาวนาน เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2423 และผ่านยุครุ่งเรืองตลอดรัชกาลที่ 5 แต่สถานีที่สวยงามหลายแห่งได้ถูกทำลายลงไปหมดแล้ว ปัจจุบันมีสถานีรถไฟ 446 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งรวมไปถึงสถานีรถไฟหลวงที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

 

ในบรรดาสถานีรถไฟเหล่านี้ หลายแห่งสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2433-2490 โดยสถานีรถไฟ 200-300 แห่ง สามารถนับได้ว่าควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ในฐานะสิ่งปลูกสร้างทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และประวัติศาสตร์ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นอาคารทรงคุณค่าของท้องถิ่น และถือเป็นทรัพย์สินสาธารณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทยดูแลในนามของประชาชน

 

อย่างไรก็ดี ถึงแม้สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้จะมีคุณค่า แต่ รฟท. ไม่มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการอนุรักษ์แหล่งมรดก อีกทั้งยังไม่มีหลักการอนุรักษ์อาคารทรงคุณค่าของตัวเอง ไม่มีนักอนุรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญ และแนวทางปฏิบัติ ไม่มีทะเบียนสิ่งปลูกสร้างโบราณ 

 

นอกจากนี้ในภาพรวม ยังไม่มีข้อมูลสาธารณะ พื้นที่พูดคุย และความร่วมมือจากภาคประชาชน เพื่อจัดการพื้นที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์รถไฟ โดย รฟท. ยังดำเนินการจัดการพื้นที่เหล่านี้เสมือนพื้นที่ในครอบครองของตนเอง

 

ที่แย่ไปกว่านั้น อาคารสถานีรถไฟหลายแห่งกำลังจะถูกทุบทิ้งเพื่อเปิดทางให้กับโครงการรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ ถึงแม้รถไฟทางคู่คือสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมปัจจุบัน แต่อาคารสถานีรถไฟเก่ายังสามารถเปิดทำการได้เหมือนเดิม อาคารบางหลังสามารถชะลอไปไว้ที่อื่นได้เพราะเป็นอาคารไม้ เพียงอาศัยงบประมาณ 1 ล้านบาทต่อสถานี ก็สามารถถอดอาคารเป็นส่วนๆ เพื่อย้ายตำแหน่งที่ตั้งไปประกอบขึ้นใหม่ ดัดแปลงเป็นพื้นที่สาธารณะอะไรก็ได้ อย่างศูนย์กลางชุมชน ห้องประชุม พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด หรือพื้นที่สำหรับการแสดง

 

ในแง่หนึ่งปัจจุบัน รฟท. ก็พร้อมเปิดทางให้หน่วยงานอื่นเข้ามาจัดการพื้นที่ทรงคุณค่าต่างๆ ไม่มีการห้ามให้หน่วยงานท้องถิ่นเข้ามาทำการอนุรักษ์ แต่หน่วยงานเหล่านั้นต้องดำเนินการด้วยตัวเอง เพราะ รฟท. ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณให้ได้ อาคารสถานีรถไฟบางแห่งได้รับการอนุรักษ์ด้วยวิธีนี้ และทำได้ดีจนถึงขั้นได้รางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

กระนั้น หลายท้องถิ่นยังขาดงบประมาณและกลุ่มบุคคลสำหรับโครงการลักษณะนี้โดยเฉพาะ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม รฟท. จึงจำเป็นต้องมีแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์พื้นที่ทรงคุณค่า ต้องมีหลักการ งบประมาณ ผู้เชี่ยวชาญ หลักปฏิบัติเชิงรุก และการร่วมมือกับภาคประชาสังคม 

 

ในอีกห้าปีต่อจากนี้ รฟท. จะใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาทลงทุนในโครงการต่างๆ และหากจัดสรรงบประมาณเพียงสามร้อยล้านบาท เราอาจสามารถรักษาแหล่งทรงคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์รถไฟไว้ได้ ถือเป็นการผดุงคุณภาพชีวิตไว้เพื่อคนรุ่นหลัง

 

นอกจากสถานีรถไฟและแหล่งทรงคุณค่าด้านประวัติศาสตร์รถไฟทั่วประเทศ ในกรุงเทพฯ เอง ยังมีสิ่งปลูกสร้างมรดกรถไฟที่ต้องการการดูแลสองแห่ง หนึ่งในนั้นคือ สถานีรถไฟกรุงเทพ (สถานีรถไฟหัวลำโพง) ซึ่งเปิดทำการใน พ.ศ. 2459 ไม่กี่ปีหลังจากสถานีเพนซิลเวเนีย นครนิวยอร์ก ปัจจุบันอาคารแห่งนี้ยังคงตั้งตระหง่าน แต่การให้บริการเริ่มย้ายไปยังสถานีกลางกรุงเทพฯ แห่งใหม่ โดยปัจจุบัน รฟท. กำลังเสนอโครงการพัฒนาพื้นที่หัวลำโพงเดิมเป็นพื้นที่พาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งอาจนำไปสู่การเข้ามาของอาคารสูงระฟ้าผนังกระจก

 

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จโรงงานมักกะสัน พ.ศ. 2468 

วีดิทัศน์มรดกในการดูแลของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

 

อีกหนึ่งอาคารมรดกรถไฟในกรุงเทพฯ คือโรงงานมักกะสัน เขตราชเทวี สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2453 ประกอบไปด้วยสถานีรถไฟมักกะสัน โรงซ่อมบำรุง โรงงาน โกดัง นิคมบ้านพักรถไฟสำหรับเจ้าหน้าที่ และพื้นที่สีเขียว ทรัพยากรทรงคุณค่าเหล่านี้กำลังถูกคุกคามโดยโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ที่ถึงจะมีการสร้างสวนสาธารณะอยู่ในแผน แต่กลับยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ในเรื่องของอาคารเก่าดั้งเดิม

 

ในช่วงทศวรรษ 2500 โรงงานมักกะสันเป็นโรงงานรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันเครื่องจักรดั้งเดิมหลายชิ้นยังคงอยู่ หากมีแผนพัฒนาที่รอบด้าน พื้นที่โรงงานมักกะสันสามารถกลายเป็นสมบัติทรงคุณค่าของกรุงเทพฯ เป็นพิพิธภัณฑ์หรือสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่อย่างสวนเบญจกิติ

 

ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ตัวผมในฐานะนักวิชาการและประชาชนคนหนึ่ง ได้เริ่มเก็บข้อมูลเรื่องมรดกรถไฟ ลงพื้นที่ รวบรวมเอกสารเก่าของทางการ หนังสือ ภาพถ่าย พิมพ์เขียว ทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อช่วยรักษาพื้นที่ทรงคุณค่า ทั้งกับหน่วยงานท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รัฐ สถาปนิก สื่อ NGOs จนได้ค้นพบว่าเจ้าหน้าที่ของ รฟท. หลายต่อหลายท่าน ล้วนให้ความสนใจกับประวัติศาสตร์รถไฟ เรียกได้ว่าเป็นความหวังหนึ่งที่สำคัญ

 

เมื่อ พ.ศ. 2559 ปรากฏว่ามีสถานีรถไฟมรดก 16 แห่ง ที่เสี่ยงจะถูกทุบ ตัวผมเองได้เป็นเจ้าภาพในการร่างจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกร้องให้รัฐบาลรักษาอาคารเหล่านี้ ด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รัฐ ตัวแทนจากภาคธุรกิจ ทำให้เราสามารถรักษาสถานีรถไฟ 13 แห่งไว้ได้ โดยหนึ่งในนั้นคือสถานีรถไฟหนองแมว อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2472 ปัจจุบันเป็นศูนย์การแพทย์แผนไทย

 

อีกตัวอย่างหนึ่งของสถานีรถไฟที่ได้รับการอนุรักษ์ คืออาคารสถานีสถาปัตยกรรมบาวาเรียที่ บ้านปิน จังหวัดแพร่ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2457 และสถานีแม่พวก จังหวัดแพร่ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2458 ซึ่งเมื่อ พ.ศ. 2558 ได้รับการพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น จนได้รับรางวัลด้านอนุรักษ์เมื่อไม่นานมานี้ ทั้งหมดชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยให้ความสนใจและใส่ใจกับงานด้านอนุรักษ์อย่างจริงจัง

 

ตั้งแต่ รฟท. ได้รับการจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจเมื่อ พ.ศ. 2494 จนถึงปัจจุบัน เกิดมีหนี้สินสะสมกว่าแสนล้านบาท แต่เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นสาธารณประโยชน์ทางด้านการคมนาคม อันมีเป้าประสงค์ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยบริการที่ประชาชนเข้าถึงได้ ค่าบริการจึงต่ำกว่าทุน จนทำให้ รฟท. ต้องกลายมาเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อหารายได้มาประคองระบบด้วยการให้เช่าที่ดินทั่วประเทศ แนวทางนี้จะทำให้ รฟท. มีรายได้หลายหมื่นล้านบาท 

 

แต่การอนุรักษ์อาคารทรงคุณค่าสามารถนำมารวมอยู่ในแผนพัฒนาทางการเงินได้เช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ผลประโยชน์ไปตกอยู่กับกลุ่มทุนใหญ่แต่เพียงผู้เดียว การอนุรักษ์พื้นที่ทรงคุณค่ามีส่วนในการเพิ่มความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนต่างๆ แหล่งมรดกช่วยเสริมสร้างความภูมิใจของส่วนรวม พัฒนาการท่องเที่ยว การเรียนรู้ และคุณภาพชีวิต มรดกรถไฟมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ดีกว่า

 

บทความโดย: รองศาสตราจารย์ปริญญา ชูแก้ว อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 

 

คำอธิบายภาพเปิด: สถานีหัวลำโพง โดย Ryan Tang on Unsplash

บทความนี้ได้รับดัดแปลงเล็กน้อยจากที่ปรากฏเป็นภาษาอังกฤษในคอลัมน์ ‘Heritage Matters’ ของหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566

 

บรรณาธิการ Heritage Matters: ไบรอัน เมอร์เทนส์

แปลเป็นภาษาไทย: พีรพัฒน์ อ่วยสุข

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising