×

โรงไฟฟ้าไทยแห่ลงทุนนอก จับตาเวียดนามเนื้อหอม หลังดีมานด์การใช้พลังงานพุ่ง

18.09.2022
  • LOADING...
โรงไฟฟ้า

ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 การลงทุนใหม่ในธุรกิจพลังงานทดแทนทั่วโลกพุ่งสูงถึง 2.26 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อนหน้า นับเป็นสถิติใหม่เมื่อเทียบกับช่วงเวลาครึ่งปีแรกในอดีตที่ผ่านมา อิงจากข้อมูลของ BloombergNEF 

 

โดยเงินลงทุนหลักจากประมาณ 2.06 แสนล้านดอลลาร์ เป็นการลงทุนโดยการซื้อสินทรัพย์ที่มีอยู่เดิมและการติดตั้งโซลาร์ในพื้นที่ขนาดเล็ก ขณะที่การลงทุนโครงการใหม่ของบริษัทมหาชนอยู่ที่ 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลง 65% จากปีก่อน ขณะที่การลงทุนของ Venture Capital และ Private Equity อยู่ที่ 9.6 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 63% จากปีก่อน 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ประเทศจีนยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการลงทุนด้านพลังงานทดแทน ด้วยมูลค่า 9.8 หมื่นล้านดอลลาร์ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 128% จากปีก่อน ตามมาด้วยสหรัฐฯ มูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ และญี่ปุ่น 5 พันล้านดอลลาร์ 

 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในส่วนของพลังงานทดแทนในประเทศไทยกลับยังไม่คึกคักเท่าไรนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ภาครัฐยังไม่เปิดให้มีการประมูลใบอนุญาตใหม่ออกมา ทำให้ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทที่ลงทุนโรงไฟฟ้าของไทยพยายามมองหาโอกาสในต่างประเทศกันมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม หรือแม้แต่อินเดียที่สนับสนุนด้านพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง

 

จากกระแสข่าวล่าสุดมีการคาดการณ์กันว่า ช่วงปลายปีนี้มีโอกาสที่รัฐบาลไทยและเวียดนามจะเปิดให้มีการประมูลใบอนุญาตขายไฟฟ้าล็อตใหม่อีกครั้ง 

 

ธีร์ธนัตถ์ จินดารัตน์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า หากมองโอกาสในมุมเปรียบเทียบระหว่างไทยกับเวียดนาม เชื่อว่าผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าคงจะให้ความสำคัญกับเวียดนาม 

 

“เวียดนามเป็นเค้กก้อนใหญ่กว่าไทยค่อนข้างมาก ในไทยเหมือนผ่านช่วงที่ดีที่สุดไปแล้ว ตอนนี้เป็นเหมือนการต่อเติม สำหรับการเปิดรับไฟฟ้ารอบใหม่ของเวียดนามน่าจะอยู่ที่ราว 3 หมื่นเมกะวัตต์ สูงกว่าไทยที่น่าจะเปิดรับราว 1 หมื่นเมกะวัตต์”

 

อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังมีความเสี่ยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรัฐบาลเวียดนามเองก็เข้าใจดีว่าจำเป็นจะต้องลงทุนเพิ่ม เช่น เรื่องของสายส่ง และการให้เงินอุดหนุน 

 

“ในไทยคงไม่ได้บูมเหมือนช่วงก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่เราเริ่มจากศูนย์ ขณะที่ค่าไฟฟ้าเองก็คงไม่สูงเท่าในอดีต เนื่องจากไม่มีค่า Adder อีกแล้ว ขณะที่ความต้องการไฟฟ้าของไทยน่าเหลืออีกราว 2-3 หมื่นเมกะวัตต์ ขณะที่เวียดนามน่าจะยังต้องการอีก 3-4 หมื่นเมกะวัตต์”

 

สำหรับการเปิดประมูลใบอนุญาตขายไฟฟ้ารอบใหม่ของไทยเชื่อว่าแต่ละบริษัทอาจจะได้แค่หลักร้อยเมกะวัตต์ และสิ่งที่สำคัญในปัจจุบันคือเรื่องของต้นทุน หากไม่สามารถบริหารจัดการได้ดี ก็ยากที่จะทำกำไรได้ดีเหมือนในอดีต ฉะนั้นเราจึงเห็นการจับมือการระหว่างบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญและเงินทุนมากขึ้น อย่างกรณีของ GULF และ GUNKUL 

 

“ความน่าสนใจของธุรกิจโรงไฟฟ้า หากมองแค่ในไทยคงจะไม่ได้น่าดึงดูดอีกแล้ว ถ้าเป็นการมองโอกาสในไทยและเวียดนามก็คงน่าสนใจมากขึ้น แต่ถ้าจะให้ดีคงต้องมองภาพหลังจากนี้เป็น Global Scale จะยิ่งทำให้น่าดึงดูดมากขึ้นอีก” 

 

ด้าน ณัชพล โรจนโรวรรณ นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ไม่ใช่แค่ต่างชาติที่เลือกไปเวียดนาม แต่บริษัทไทยก็กำลังแห่ไปลงทุนที่เวียดนามด้วยเช่นกัน ปัจจุบันจะเห็นว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยสูงกว่าความต้องการใช้ จึงไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ทำให้แต่ละบริษัทพยายามออกไปต่างประเทศ

 

หากเปรียบเทียบเฉพาะไทยกับเวียดนามในขณะนี้ บริษัทส่วนมากอาจเลือกใส่เงินลงทุนไปที่เวียดนามมากกว่า เพราะเวียดนามยังมีความต้องการไฟฟ้าที่สูงกว่า จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของประเทศ

 

สำหรับโอกาสของการลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า ความน่าสนใจจะอยู่ที่กลุ่มพลังงานทดแทนมากกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานหลัก เนื่องจากฐานเดิมที่ยังไม่ใหญ่นัก ทำให้การได้โครงการใหม่เข้ามาเพิ่มอีก 100 เมกะวัตต์ อาจคิดเป็น 20-30% ของกำลังการผลิตทั้งหมด

 

นอกจากนี้กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหลักอาจถูกกดดันในระยะสั้นจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามทิศทางของราคาพลังงานโลก ในขณะที่รายได้จากการขายไฟฟ้าบางส่วนให้กับเอกชน เช่น ลูกค้านิคมอุตสาหกรรม ไม่สามารถปรับขึ้นเพื่อชดเชยกับต้นทุนได้ทั้งหมด 

 

ในมุมของ ยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF กล่าวว่า ด้วยเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็น 30% ภายในปี 2030 ทำให้งบลงทุน 5 ปีที่ 1.2 แสนล้านบาท จะเป็นส่วนของพลังงานทดแทนราว 60% 

 

“ในภาพใหญ่เรายังคงมองหาธุรกิจก๊าซธรรมชาติในต่างประเทศ แต่ต้องเป็นโรงก๊าซใหม่และปล่อยคาร์บอนน้อย ซึ่งเรามองว่าก๊าซธรรมชาติจะเป็นพลังงานสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมาย Net Zero ของโลก” 

 

สำหรับโอกาสของการลงทุนในพลังงานทดแทน บริษัทมีความพร้อมสำหรับโอกาสทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศในแต่ละภูมิภาค ขณะเดียวกันบริษัทก็มีเป้าหมายที่จะลดสัดส่วนการปล่อยคาร์บอน 25% ต่อการผลิตไฟฟ้า 1 หน่วย ภายในปี 2030 ด้วยเช่นกัน 

 

แม้ในแง่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยจะต่ำกว่าความสามารถในการผลิต แต่ในมุมของ อมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เชื่อว่าประเทศไทยยังพอมีโอกาสอยู่บ้างสำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะรูปแบบของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่จะปรับไปเป็นไฮบริด 

 

“ประเทศไทยยังมีจุดแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐานและความก้าวหน้าของการพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้า หลังจากนี้คงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐว่าจะ Aggressive แค่ไหน ส่วนโควตาไฟฟ้าที่หยุดชะงักไป เพราะก่อนหน้านี้เราเริ่มมีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในระบบสูงมาก” 

 

ปัญหาหนึ่งของพลังงานทดแทนก่อนหน้านี้คือเรื่องของความเสถียร ซึ่งปริมาณที่เพิ่มขึ้นของพลังงานทดแทนก่อนหน้านี้อาจทำให้สายส่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาได้ ฉะนั้นแล้วโอกาสของโรงไฟฟ้าในอนาคตจะเป็นลักษณะของไฮบริดที่ผสมผสานแบตเตอรี่เข้าไปร่วมกักเก็บไฟฟ้า และช่วยให้การจ่ายไฟฟ้าเสถียรมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ที่เดิมสามารถทำงานได้เพียง 5-6 ชั่วโมงต่อวัน 

 

“หากมีโอกาสในประเทศอีกครั้ง EA จะกลับมารุกธุรกิจพลังงานแน่นอน ปัจจุบันเรายังมองโอกาสทุกที่ ส่วนการไปต่างประเทศ หากมีพาร์ตเนอร์ที่พาเราไปได้ก็พร้อมจะไป ส่วนที่ผ่านมา EA ไม่ได้ออกไปต่างประเทศ เพราะความเสี่ยงไม่คุ้มกับผลตอบแทน เช่น เรื่องของสายส่งบางประเทศ และข้อกฎหมาย ประกอบกับมีโปรเจกต์เรื่องแบตเตอรี่เข้ามาแทน” 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising