×

4 ปมร้อน ‘นิรโทษกรรม-ทักษิณ-รธน.-สว.’ มองฉากการเมืองไทยปี 2567

27.12.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • พฤษภาคม 2567 สว. จะสิ้นสุดอำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี สมการการเมืองก็จะเปลี่ยนกลับมาเป็นการเลือกนายกฯ ในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น 
  • ทักษิณ ชื่อนี้มีอิทธิพลทางการเมืองไทยมากว่า 2 ทศวรรษ หลังการกลับมายังประเทศไทย และพักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ น่าจับตาว่าการพ้นโทษของทักษิณจะส่งผลต่อทิศทางการเมืองอย่างไร
  • นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเศรษฐาคือการแก้ไขความเห็นต่างเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 โดยการตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อจัดทำประชามติ เปิดทางไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สำเร็จโดยการร่างของ สสร. ภายในอายุของรัฐบาล
  • เมื่อกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งเป็นของแสลงการเมืองไทยถูกโยนกลับมาเข้ามาสู่สภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง น่าสนใจว่าฉากสุดท้ายของกฎหมายนิรโทษกรรมรอบนี้จะลงเอยอย่างไร

1. สมการการเมืองเปลี่ยน สว. หมดอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี

 

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

 

จากคำถามพ่วงประชามติปี 2559 สู่มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ 2560 หลังได้รับเสียงข้างมากจากประชาชนเห็นชอบคำถามพ่วงดังกล่าว สมการการเมืองจึงเปลี่ยนจากการลงมติให้ความเห็นชอบผู้ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ จากสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ซึ่งมีทั้งหมด 500 เสียง ได้รับคะแนนกึ่งหนึ่งก็ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ แล้ว

 

ทว่าผลจากคำถามพ่วงดังกล่าว การขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ‘รัฐสภา’ นั่นคือการรวมสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 250 เสียงที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) อีก 500 เสียง และจะได้รับความเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาคือ 376 เสียงขึ้นไป

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไหว้ขอบคุณสมาชิกรัฐสภาและสื่อมวลชน หลังได้รับเสียงให้ความเห็นชอบในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ถึงกึ่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566

 

ทำให้การเลือกนายกฯ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป 2 ครั้งที่ผ่านมาคือ ปี 2562 และ 2566 ผู้ที่ได้รับความเห็นชอบเป็นนายกฯ ไม่ได้มาจากพรรคที่ชนะเลือกตั้งได้ สส. มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ทั้ง 2 ครั้ง

 

แต่บทเฉพาะกาลดังกล่าวกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 หรือ 5 ปี นับแต่วันที่ สว. ได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2562 หลัง กกต. รับรองผลการเลือกตั้งทั่วไป 2562 ไม่กี่วัน ถือเป็นวันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

ดังนั้นสมการการเมืองก็จะเปลี่ยนกลับมาเป็นการเลือกนายกฯ ในสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 500 เสียง กึ่งหนึ่งคือ 250 เสียง พรรคที่ได้จำนวนที่นั่งมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎรก็จะกลับมามีโอกาสได้จัดตั้งรัฐบาลและครองเก้าอี้นายกฯ โดยไม่ต้องพึ่งพาเสียงจาก สว.

 

 

การเปลี่ยนผ่านจากยุค สว. ร่วมให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ มาสู่ยุคที่ สส. เป็นผู้ให้ความเห็นชอบเพียงสภาเดียว ถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญทางประชาธิปไตยที่เปลี่ยนผ่านจากผลพวงของการรัฐประหารกลับเข้าสู่การเมืองปกติที่ควรจะเป็น

 

 

2. ‘ทักษิณพ้นโทษ’ อนาคตทักษิณ-พรรคเพื่อไทย-การเมืองไทย

 

หลังการเดินทางกลับไทยของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และนับถึงวันนี้ถือว่าเข้าสู่เรือนจำมากว่า 4 เดือนแล้ว แต่ในทางข้อเท็จจริง ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมาทักษิณไม่เคยได้นอนเรือนจำ เพราะพักรักษาตัวจากอาการป่วยที่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ

 

ทักษิณ ชื่อนี้มีอิทธิพลทางการเมืองไทยมากว่า 2 ทศวรรษอย่างปฏิเสธไม่ได้ ตั้งแต่ช่วงของการเป็นนายกฯ ถูกรัฐประหารต้องไปอยู่ต่างประเทศ และกลับมาไทยอีกครั้ง ไม่ว่าจะช่วงเวลาใดชื่อของเขาไม่เคยหายไปจากการเมืองไทย

 

ทว่าการกลับมาไทยของทักษิณถือเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายจับตา โดยเฉพาะเรื่องระเบียบการคุมขังนอกเรือนจำที่บางคนอาจมองว่านี่คือการ ‘เอื้อ’ ให้ทักษิณได้ถูกคุมขังนอกเรือนจำเมื่อเข้าเงื่อนไขระเบียบดังกล่าว

 

แพทองธาร ชินวัตร กล่าววิสัยทัศน์หลังรับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566

 

มองข้ามฉากไปถึงวันที่ทักษิณพ้นโทษ ตามที่ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ ชื่อของทักษิณคงกลับมามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเวลานี้ที่ลูกสาวของเขา แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยอย่างเต็มตัว ซึ่งน่าจะเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่น่าจับตาของสถานการณ์การเมืองว่าจะขยับไปในทิศทางใด เพราะแม้ชื่อนี้จะได้รับความนิยมมากแค่ไหนในคนกลุ่มหนึ่ง แต่อีกกลุ่มหนึ่งก็ต่อต้านเขาสุดกำลังเช่นเดียวกันในห้วงเวลาที่ผ่านมา

 

ภูมิธรรม เวชยชัย ประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 

 

3. รัฐธรรมนูญใหม่มีจริงหรือถ่วงเวลา

 

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. ซึ่งก่อรัฐประหารเมื่อปี 2557 ถูกมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ ‘สืบทอดอำนาจ’ ฝังมนตร์สะกดการเมืองไทยอย่างน้อยที่สุดคือ 4 ปีหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เรายังมีนายกรัฐฯ คนเดิม

 

ทว่าไม่ใช่ไม่มีความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะร่องรอยเหล่านั้นปรากฏให้เห็นตลอดสมัยของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมา ทั้งความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญตัดอำนาจ สว. ร่วมเลือกนายกฯ, แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อกอำนาจให้ท้องถิ่น, การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และอีกหลายความพยายามในหลายครั้งจากหลายกลุ่ม แต่ทั้งหมดไม่เคยสำเร็จ

 

ความสำเร็จครั้งเดียวของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 คือการแก้ไขเรื่องระบบเลือกตั้ง จากระบบบัตร 1 ใบ ‘จัดสรรปันส่วนผสม’ มาเป็นระบบที่เราคุ้นเคยคือ บัตร 2 ใบ เลือก สส. เขต และเลือก สส. ปาร์ตี้ลิสต์

 

รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ประกาศว่าเรื่องการแก้ไขความเห็นต่างของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล จึงได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยมีภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่การกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าว

 

คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เข้ารับฟังความเห็นจากชัยธวัช ตุลาธน เกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้พรรคก้าวไกลจะไม่ได้ร่วมในคณะกรรมการฯ ชุดนี้

 

ภาพรวมคือต้องมีการทำประชามติเพื่อสอบถามความเห็นประชาชนว่าต้องการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยรูปแบบใด อย่างไร ซึ่งหากประชาชนเห็นด้วยที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยการร่างของ สสร. ก็จะต้องมาแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องและทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนตั้ง สสร. ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ทั้งเลือกตั้งหรือสรรหา และเมื่อ สสร. ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น ก็จะต้องให้ไปทำประชามติเพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชนอีกครั้งก่อนประกาศใช้

 

กระบวนการเหล่านี้ภูมิธรรมยืนยันว่าจะเสร็จทันภายในอายุของรัฐบาลนี้อย่างแน่นอน ซึ่งหากนับถึงวันนี้ล่วงเลยมากว่าหลายเดือน ช่วงที่ผ่านมาถูกใช้ไปกับการรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ และเวลาหลังจากนี้คือการเดินหน้าสู่การทำประชามติครั้งแรกว่าจะเป็นช่วงเวลาใด เพราะนั่นหมายถึงเส้นทางของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เริ่มต้นอย่างเป็นทางการแล้ว

 

บัตรออกคะแนนเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เพื่อให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงประชามติ ก่อนประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

 

แต่กว่าจะถึงวันที่ประชาชนจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ จะต้องเข้าคูหาอีกอย่างน้อย 4 ครั้งคือ การให้ความเห็นชอบว่าต้องการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่, ให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพื่อเปิดทางให้มี สสร., เลือกตั้ง สสร. และปิดท้ายด้วยการให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญที่ร่างโดย สสร.

 

เส้นทางที่ยังไม่เห็นปลายทางนี้ยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะช่วงเวลาต่างๆ ยังคงขยับเข้า-ออกได้อย่างต่อเนื่อง สถานการณ์แทรกซ้อน หรืออุบัติเหตุทางการเมือง เหล่านี้อาจเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ความฝันของประชาชนที่อยากมีรัฐธรรมนูญใหม่เป็นอันต้องล่าช้าไปอีก

 

สุเทพ เทือกสุบรรณ และอดีตแกนนำ กปปส.​ ที่มีส่วนร่วมในการประท้วงคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมในปี 2556-2557 ขณะกำลังเดินทางมาฟังคำพิพากษาคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564

 

4. ‘นิรโทษกรรม’ ลงเอยอย่างไร

 

นิรโทษกรรมกลายเป็นของแสลงทางการเมือง เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นนำพาการเมืองมาถึงวันนี้ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จากการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับที่เรียกกันว่า ‘เหมาเข่ง’ ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในปี 2556 ทำให้ต้องเผชิญการประท้วงขับไล่อย่างหนัก ปิดฉากด้วยการรัฐประหารปี 2557

 

นิรโทษกรรมถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังพรรคก้าวไกลเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับคดีของผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองนับแต่การชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อปี 2549 จนกระทั่งการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ยกเว้นการกระทำที่ถึงแก่ชีวิต และการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกินกว่าเหตุ โดยให้คณะกรรมการชุดหนึ่งพิจารณาว่าผู้ใดจะเข้าเงื่อนไขการนิรโทษกรรมหรือไม่ และให้ครอบคลุมคดีที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

 

ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำทีมยื่นร่างกฎหมายนิรโทษกรรมต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำไปบรรจุในระเบียบวาระการประชุมต่อไป เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566

 

ทันทีที่โจทย์การนิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกลถูกโยนออกมา เริ่มมีปฏิกิริยาจากพรรคอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง บางส่วนเห็นด้วย แต่ควรงดเว้นการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือบางส่วนก็มองว่าไม่ควรจะให้มีการนิรโทษกรรมเกิดขึ้น

 

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย เคยระบุว่า อยากให้เพื่อนพี่น้อง สส. ของพรรคเพื่อไทยและทุกฝ่ายร่วมผลักดันการนิรโทษกรรม คืนชีวิตให้คนหนุ่มสาวได้กลับมามีชีวิตในแบบที่ควรจะเป็น มากกว่าที่จองจำอยู่แบบนี้

 

แม้ว่าวันนี้โจทย์นิรโทษกรรมจะยังเป็นประเด็นหลักและประเด็นร้อนในทางการเมือง แต่เมื่อกฎหมายฉบับนี้ถึงวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เชื่อได้ว่าการถกเถียงเรื่องนิรโทษกรรมจะกลายเป็นประเด็นหลักในการถกเถียงหลักในสังคมไทยอีกครั้ง และต้องจับตาว่าในที่สุดการนิรโทษกรรมครั้งนี้จะลงเอยอย่างไร

 

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย กล่าวถึงการนิรโทษกรรมบนเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising