×

เกิดอะไรขึ้น ดัชนีชี้วัด ‘ความสุข’ คนไทยทรุดต่ำสุดในรอบ 16 เดือน

12.09.2024
  • LOADING...

หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 56.6 ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ในขณะที่ดัชนีชี้วัด ‘ความสุข’ คนไทย ทรุดต่ำสุดในรอบ 16 เดือน จากความกังวลค่าครองชีพ การหางาน เศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้าเพราะยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนของรัฐบาลใหม่

 

วันนี้ (12 กันยายน) ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนสิงหาคม 2567 อยู่ที่ 56.6 “ปรับตัวลดลงทุกรายการ ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และต่ำสุดในรอบ 13 เดือน”

 

 

เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า เพราะยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น และผู้บริโภคยังคงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางและสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ล้วนเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันต่อการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ดัชนีวัดความสุข เศรษฐกิจ โอกาสหางานทำลดลงต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 50.2, 53.9 และ 65.6 ตามลำดับ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนกรกฎาคม

 

รวมไปถึงผลการสำรวจสภาวการณ์ทางสังคม พบว่า ดัชนีวัดความสุขในการดำรงชีวิตปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ16 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 เป็นต้นมา อยู่ที่ระดับ 61.3 และดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่ในปัจจุบันก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 และดัชนีภาวะค่าครองชีพ ความกังวลปัญหายาเสพติด ก็ลดลงเช่นกัน

 

ทั้งนี้ หากรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในปลายไตรมาสที่ 3 ภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 2.6-2.8% แต่หากไม่มีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียง 2.4-2.6%

 

“กรณีที่รัฐบาลจะแจกเป็นเงินสดให้กับกลุ่มเปราะบาง 14 ล้านคน จะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงปลายปีได้ ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน หากสามารถนำเงินออกมากระตุ้นก่อนสัก 20-30% อาจจะมีเงินสะพัดในระบบราว 3-5 หมื่นล้านบาท”

 

อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ยังมีจุดเปราะบางจากปัจจัย เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ, การจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2 ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นในรูปของเงินสดหรือเงินดิจิทัล รวมสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและภาคเหนือ

 

ขอให้รัฐบาลบริหารจัดการน้ำระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก รวมทั้งกระตุ้นการท่องเที่ยว การส่งออก และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงปลายปีนี้

 

“GDP ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 2.8% หากจะทำให้แตะถึง 3% จะต้องทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังโตได้ถึง 4% โดยปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังได้เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะจะต้องทำให้การส่งออกขยายตัวอย่างมาก มีการกระตุ้นเศรษฐกิจกว่านี้ ท่ามกลางปัจจัยท้าทายที่อาจกระทบนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท” ธนวรรธน์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X