×

เปิดผลสำรวจสุขภาพสื่อไทยปี 67 พบ ‘งานหนัก-เครียดสูงทวีคูณ-ไร้วันหยุด-โรคเพียบ’ ห่วงปี 68 ฟองสบู่สื่อออนไลน์ใกล้แตก

โดย THE STANDARD TEAM
20.12.2024
  • LOADING...
สื่อออนไลน์

วานนี้ (19 ธันวาคม) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) จัดการประชุม ‘ความเสี่ยงและสุขภาวะสื่อมวลชนไทย ปี 2567’ เพื่อนำเสนอผลการสำรวจสถานการณ์สุขภาวะของสื่อมวลชน และวางแนวทางการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในปี 2568 

 

วิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน สสส. กล่าวว่า การทำงานของสื่อในปีนี้มีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการปลดออกเลิกจ้างจำนวนมาก ภาพรวมการทำงานของสื่อมวลชนไทยเต็มไปด้วยความยากลำบาก ข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2567 แม้จะจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย แต่หากยังไม่มีงานใหม่ก็จะสร้างปัญหาในอนาคตต่อไป 

 

ขณะเดียวกัน สื่อออนไลน์มีรายได้หลักมาจากผู้สนับสนุนหรือสปอนเซอร์ ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากทุกสื่อต้องแข่งขันกันหาผู้สนับสนุน และสายป่านต้นทุนของแต่ละสื่อไม่เท่ากัน ไม่ต่างจากสื่อกระแสหลักและสื่อทีวีดิจิทัลที่ล้มหายไปอีกมาก

 

“ในอนาคตอันใกล้ภาวะฟองสบู่ของวงการสื่อออนไลน์กำลังจะแตก เพราะปริมาณมากเกินจนล้นตลาด สื่อที่ยังอยู่ก็ปรับลดขนาดองค์กร ทำให้คนทำงานสื่อต้องทำงานหนักขึ้น ค่าล่วงเวลาไม่ได้ เบี้ยเลี้ยงไม่มี วันหยุดก็น้อยจนเกิดความเครียด แทบไม่มีเวลาพักผ่อน สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อสุขภาพของสื่อมวลชนอย่างมาก” วิเชษฐ์กล่าว

 

วิเชษฐ์กล่าวต่อว่า สสส. ในฐานะองค์กรสื่อด้านสุขภาพ วิเคราะห์ปัจจัยที่จะส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งเป็นห่วงโซ่ที่จะกระทบต่อการทำงานของสื่อ เช่น ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. …. และกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 

 

“นอกจากปัญหาด้านสุขภาพส่วนตัวของตนเองแล้วยังต้องรับมือกับปัญหาทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานที่จะต้องเผชิญกับความเครียดมากขึ้นเป็นทวีคูณตามความคาดหวังของประชาชนที่อยากให้สื่อเป็นกระจกสะท้อนสังคม และชี้แนะทิศทางสังคมให้ถูกต้อง” วิเชษฐ์กล่าว

 

ด้าน รศ. ดร.ณัฐนันท์ ศิริเจริญ เลขาธิการมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ เปิดเผยผลการสำรวจสถานการณ์ปัญหาสุขภาวะของสื่อมวลชนไทย ปี 2567 โดยสอบถามกลุ่มตัวอย่างสื่อมวลชนประเภทหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 372 คน แบ่งเป็นเพศชาย 61% เพศหญิง 38% และเพศทางเลือก 1% 

 

คำถามแรก สื่อมวลชนทำงานหนักมากน้อยแค่ไหน พบว่าส่วนใหญ่ 44.09% ทำงาน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน แต่จำนวน 19.35% ไม่มีความแน่นอนในชั่วโมงทำงาน ขณะที่ 13.98% ทำงาน 9-10 ชั่วโมงต่อวัน และที่มากกว่านั้นมีสื่อมวลชน 8.60% ต้องทำงานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน สรุปว่าเกินครึ่งทำงานหนักมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง นอกจากนั้นยังพบว่าส่วนใหญ่ 41.94% ไม่มีวันหยุดที่แน่นอน 31.18% หยุด 2 วันต่อสัปดาห์ 10.75% หยุด 1 วันต่อสัปดาห์ และ 8.60% ไม่มีวันหยุดเลย

 

รศ. ดร.ณัฐนันท์ กล่าวต่อว่า คำถามเรื่องโรคประจำตัว ส่วนใหญ่ 56.99% ไม่มีโรคประจำตัว 43.01% มีโรคประจำตัว คนที่มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูงและเบาหวานในสัดส่วนที่พอๆ กัน คือ 24.14% โดยภาพรวม 77.58% เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) 

 

ถัดมาเป็นปัญหาความเครียดจากการทำงาน พบว่าสื่อมวลชนส่วนใหญ่ 41.13% มีความเครียดสูงกว่าปกติเล็กน้อย รองลงมา 23.39% มีความเครียดปานกลาง ตามมาด้วยปกติ ไม่เครียด 18.28% และสุดท้ายเครียดมาก 5.38% 

 

เมื่อดูโดยภาพรวมมีความเครียดสูงถึง 69.9% ส่วนพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพสื่อมวลชนส่วนใหญ่ 83.60% ไม่สูบบุหรี่ ส่วนอีก 16.40% ยังสูบบุหรี่อยู่ สำหรับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนใหญ่ 96.77% ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีเพียง 3.23% เท่านั้นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ขณะที่พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์พบว่า 43.01% ยังดื่มแอลกอฮอล์อยู่ ส่วนอีก 48.12% ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ 

 

นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องการพนันและการพนันออนไลน์ พบว่าสื่อมวลชนส่วนใหญ่ 65.59% เคยเล่นการพนัน ส่วนอีก 34.41% ไม่เคยเล่นการพนัน

 

“การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อทำให้สื่อมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงในการทำงานและต้องทำงานหนักขึ้น วันหยุดต่อสัปดาห์ลดน้อยลง ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ สื่อมวลชนมีโรคประจำตัวเพิ่มขึ้น 16.01% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 โรคประจำตัวที่เป็นกันมากที่สุดคือ ความดันโลหิตสูงและเบาหวาน การเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีปริมาณที่สูงขึ้น และยังพบว่าส่วนใหญ่มีความเครียดจากการทำงานสูงมาก” รศ. ดร.ณัฐนันท์ กล่าว

 

รศ. ดร.ณัฐนันท์ กล่าวอีกว่า ส่วนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ มีการสูบบุหรี่น้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ลดลงไป 7.13% และพบว่าสื่อมวลชนที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566 เช่นเดียวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าดื่มลดลง 8.99% เมื่อเทียบกับปี 2566 

 

ด้านสื่อมวลชนร่วมเสนอแนะว่า ปัจจุบันมีสื่อมวลชนที่ประสบปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของสื่อหันมาทำสื่อออนไลน์มากขึ้น แต่สื่อเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลด้านสวัสดิภาพและสวัสดิการ จึงอยากให้สมาคมวิชาชีพสื่อเข้ามาดูแล พร้อมเสนอให้ตั้งกองทุนเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising