×

กูรูชี้เงินเฟ้อเดือน พ.ค. พุ่งกระฉูดเกินคาด หวั่นวิกฤตอาหารทำสถานการณ์ลากยาว

06.06.2022
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

นักเศรษฐศาสตร์มองเงินเฟ้อไทยเดือนพฤษภาคมสูงกระฉูดเกินคาด ห่วงเริ่มกระจายไปยังหลากหลายสินค้ามากขึ้น จับตาวิกฤตอาหารยิ่งกดดันสถานการณ์เงินเฟ้อพุ่งแรงลากยาว พร้อมประเมินหากครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยดีขึ้นจากการเปิดประเทศ อาจได้เห็น กนง. ขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าคาด

 

ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยที่กระทรวงพาณิชย์แถลงออกมานับเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการคาดการณ์ของ ‘นักเศรษฐศาสตร์’ ในหลายๆ สำนัก โดยที่ส่วนใหญ่ประเมินว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวในระดับ 6% แต่ตัวเลขจริงที่ออกมาพบว่าขยายตัวถึง 7.1% เป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานก็ขยายตัวต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยอยู่ที่ 2.28% สะท้อนว่าเงินเฟ้อเริ่มกระจายตัวในวงกว้างมากขึ้น

 

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปที่ออกมาขยายตัว 7.1% ถือว่าสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้พอสมควร แต่ประเด็นที่ต้องจับตาระยะต่อไปคือ ตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานที่เริ่มเห็นการขยับขึ้นต่อเนื่องแบบมีโมเมนตัม ซึ่งสะท้อนว่าเงินเฟ้อเริ่มกระจายไปยังสินค้าในหลายๆ ประเภทมากขึ้นแล้ว

 

“สิ่งที่เราควรต้องตามดูต่อคือ เงินเฟ้อพื้นฐาน เพราะเดือนล่าสุดขยับขึ้นมาอยู่ที่ 2.28% จากเดือนก่อนหน้าที่ 2% กรณีนี้นับเป็นการแสดงอาการว่าราคาพลังงานและอาหารสดเริ่มกระจายไปในตะกร้าหลักมากขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย”

 

จับตา กนง. อาจปรับดอกเบี้ยขึ้นเร็วกว่าคาด

อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ยังคงมาจากด้านซัพพลายเป็นหลัก ในส่วนของฝั่งดีมานด์มีบ้าง แต่ไม่มากเท่ากับฝั่งซัพพลาย ดังนั้นการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในครั้งนี้ จึงเชื่อว่า กนง. จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่เดิม แต่ต้องจับตาดูสัญญาณของ กนง. ที่มีต่อตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดว่ามีมุมมองอย่างไร 

 

นริศกล่าวว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าหากเงินเฟ้อยังเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง อาจได้เห็น กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ไม่แน่ว่าอาจเริ่มเห็นการปรับขึ้นในช่วงปลายปีนี้เลยก็เป็นได้

 

“ช่วงนี้เป็นจังหวะที่การทำนโยบายการเงินจะค่อนข้างยาก เพราะไม่ชัดเจนว่าดอกเบี้ยถ้าขึ้นแล้วจะคุมเงินเฟ้ออยู่หรือไม่ ถ้าเงินเฟ้อมาจากฝั่งซัพพลาย ดอกเบี้ยที่ขึ้นก็คงไม่ตอบโจทย์ และยังมีคำถามอีกว่า การขยับขึ้นดอกเบี้ยท่ามกลางครัวเรือนและ SMEs ที่ยังมีภาระหนี้ที่สูง กลุ่มนี้จะแบกรับไหวหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่ กนง. ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี”

 

เงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมโตกระฉูด ห่วงวิกฤตอาหารทำสถานการณ์ลากยาว

ด้าน อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปที่ออกมาเรียกว่าโตกระฉูดไปกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก ยิ่งถ้าดูตัวเลขการขยายตัวแบบเดือนต่อเดือน (MoM) ซึ่งสูงถึง 1.4% บ่งชี้ว่ายังไม่เห็นสัญญาณการชะลอตัวลงของเงินเฟ้อเลย 

 

สิ่งที่ต้องจับตาในระยะต่อไปคือ แรงขับเคลื่อนเงินเฟ้ออาจขยับจากด้านราคาพลังงานมาอยู่ที่ราคาอาหาร โดยเฉพาะเวลานี้ทั่วโลกกำลังเกิดวิกฤตการขาดแคลนอาหาร ซึ่งเรากังวลว่าปัจจัยนี้จะทำให้เงินเฟ้อในระยะข้างหน้าทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง

 

“ตอนนี้เริ่มเป็นห่วงว่า ต่อให้ราคาพลังงานจะพีคและเริ่มย่อตัวลง แต่ราคาอาหารที่สูงขึ้นต่อเนื่องจะเป็นตัวที่เข้ามาขับเคลื่อนเงินเฟ้อแทน ทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อยังจะรุนแรงต่อเนื่อง”

 

อย่างไรก็ตามสถานการณ์เงินเฟ้อไทยไม่เหมือนกับสหรัฐฯ เพราะส่วนใหญ่ยังมาจากฝั่งของซัพพลาย ไม่ได้มาจากด้านดีมานด์ แต่ทั้งนี้คงต้องติดตามดูสถานการณ์ช่วงครึ่งปีหลัง ถ้าไทยเปิดประเทศ มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น เศรษฐกิจเริ่มกลับมาดี ทำให้เงินเฟ้อจากฝั่งดีมานด์เริ่มฟื้นตัวชัดเจน ก็จะเป็นแรงกดดันให้ กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้เร็วกว่าที่คาดเช่นกัน

 

อมรเทพกล่าวว่า เดิมเราคาดว่าอาจเริ่มเห็น กนง. ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาส 3 และขยับขึ้นจริงในไตรมาส 4 แต่เงินเฟ้อที่สูงกว่าคาด แม้จะมาจากฝั่งซัพพลาย แต่ในระยะข้างหน้าเราเชื่อว่าจะมีฝั่งของดีมานด์เข้ามาเพิ่มด้วย ดังนั้นในการประชุม กนง. วันที่ 8 มิถุนายนนี้ แม้ที่ประชุมจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม แต่ก็อาจจะเริ่มเห็นการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้าก็เป็นได้

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X