อัตราเงินเฟ้อไทยชะลอตัวเหลือ 0.35% ในเดือนสิงหาคม กระทรวงพาณิชย์เชื่อ CPI จะกลับเข้าเป้าหมายของ ธปท. ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ คงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2567 อยู่ระหว่าง 0.0-1.0% (ค่ากลาง 0.5%)
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย (Headline CPI) เดือนสิงหาคม 2567 สูงขึ้นในอัตราชะลอตัวที่ 0.35%YoY ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 0.83% และนับว่าเป็นระดับต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์และตลาดประเมินไว้ที่ราว 0.4% ทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม) ของปี 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้น 0.15%AoA
ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อทั่วไปเมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้น 0.62%YoY เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนกรกฎาคม 2567 ที่สูงขึ้น 0.52%YoY
พูนพงษ์กล่าวอีกว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคมมาจาก
- การสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสดและผลไม้สด เนื่องจากสถานการณ์ฝนตกหนักและอุทกภัยในบางพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง รวมถึงข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และอาหารสำเร็จรูป เช่น กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง และอาหารตามสั่ง ราคาปรับสูงขึ้นเช่นกัน
– สินค้ากลุ่มพลังงาน (แก๊สโซฮอล์และค่ากระแสไฟฟ้า) ราคาปรับลดลง สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
เปิดแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกันยายน 2567
พูนพงษ์กล่าวว่า เงินเฟ้อทั่วไปในเดือนหน้ามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2567 เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
- (ผลกระทบจากอุทกภัยทำให้ราคาผักสดและผลไม้สดปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากแหล่งเพาะปลูกในบางพื้นที่ได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้น
- สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลกระทบให้เกิดความไม่แน่นอนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งทางเรือปรับตัวเพิ่มขึ้น
ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง ได้แก่
- ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้าตามมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ
- ฐานราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกในปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับสูง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบดูไบในปัจจุบันมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ หรืออาจจะลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะขยายตัวระดับต่ำ
- การลดราคาสินค้าและการแข่งขันในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกในประเทศ และการค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ทำให้สินค้าจำนวนมากปรับลดราคาอย่างต่อเนื่อง
มองเงินเฟ้อไทยจ่อกลับเข้ากรอบแบงก์ชาติไตรมาสที่ 4 ของปีนี้
พูนพงษ์ระบุอีกว่า สนค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 1.5% หรือจะกลับเข้าสู่กรอบเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3% พร้อมทั้งมองว่าดิจิทัลวอลเล็ตไม่น่าจะเพิ่มความเสี่ยงเงินเฟ้อ เนื่องจากน่าจะเป็นการเพิ่มกำลังซื้อมากกว่าการเพิ่มต้นทุนของราคาสินค้า
โดยปัจจัยหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้ากรอบในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มาจากราคาน้ำมันดีเซล เนื่องจากย้อนกลับไปเมื่อไตรมาสที่ 4 ของปีก่อน รัฐบาลประกาศตรึงราคาดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร ต่างจากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 33 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปี 2567 อยู่ระหว่าง 0.0-1.0% (ค่ากลาง 0.5%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง