×

เกิดอะไรขึ้น? ปัญหา ‘หนี้’ บ้าน รถยนต์ บัตรเครดิต ยอดปิดโรงงาน สินค้าจีนยังคงทะลัก ฉุดดัชนีอุตสาหกรรมไทยร่วงต่อเนื่องหนักสุดในรอบ 2 ปี

18.07.2024
  • LOADING...
หนี้

เดินทางมาถึงครึ่งปี 2567 ต้องยอมรับว่า ความไม่แน่นอนของภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เศรษฐกิจภายในยังฟื้นตัวช้าเพราะสารพัด หนี้ และสัญญาณการปิดตัวของโรงงาน โดยเฉพาะ SME มีข่าวคราวให้เห็นรายวัน สิ่งเหล่านี้กำลังเป็นประเด็นชวนคนไทยตั้งคำถามกันว่า วันนี้เกิดอะไรขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยกันแน่ วิกฤตแล้วหรือยัง? 

 

ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ระดับ 87.2 ปรับตัวลดลงจาก 88.5 ในเดือนพฤษภาคม 2567 โดยปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนี พบว่า ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 


 

เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้าจากอุปสงค์ในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ฉุดรั้งดัชนีอุตสาหกรรมร่วงต่ำที่สุดในรอบ 24 เดือน เรียกได้ว่าเป็นเวลากว่า 2 ปี เมื่อนับจากเดือนมิถุนายน 2565

 

 

สารพัด ‘หนี้’ บ้าน รถยนต์ บัตรเครดิต ยังคงรุมเร้าไทย

 

จากปัญหาหนี้เสีย (NPL) ที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย รถยนต์ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่งผลให้การบริโภคในประเทศชะลอลง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการ SMEs ประสบปัญหาสภาพคล่อง ขาดเงินหมุนเวียนในกิจการ และเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ 

 

นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเรือขนส่งสินค้ายังเป็นปัญหาต่อเนื่อง ทำให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ

 

จับตาครึ่งปีหลัง ‘ค่าแรง ค่าไฟ ภูมิรัฐศาสตร์’ ทุบซ้ำต้นทุนภาคการผลิต

 

ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 93.4 ปรับตัวลดลงจาก 95.7 ในเดือนพฤษภาคม 2567 ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ (ที่คาดว่าจะมีผลวันที่ 1 ตุลาคม) ซึ่งจะกระทบต้นทุน หนักสุดคือผู้ประกอบการ SMEs บวกกับความไม่แน่นอนของปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและห่วงโซ่การผลิตในตลาดโลก 

 

“ที่สำคัญ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนรอบใหม่ ที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน จะยิ่งทำให้สินค้าจากจีนเข้ามาแข่งขันในไทยเพิ่มขึ้น”

 

เปิด 22 กลุ่มอุตสาหกรรมเสี่ยงวิกฤต สินค้าจีนราคาถูกทุ่มตลาด 

 

โดยเมื่อสำรวจข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ พบว่า 22 กลุ่มอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทย โดยมีสินค้าที่นำเข้าจากจีนที่มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 ถึงเดือนพฤษภาคม 2567 

 

ได้แก่ เครื่องจักรกลโลหการ, เครื่องจักรกลการเกษตร, เหล็ก, อะลูมิเนียม, หล่อโลหะ, พลาสติก, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, เฟอร์นิเจอร์, หัตถกรรมสร้างสรรค์, อาหาร, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, ต่อเรือ ซ่อมเรือ และก่อสร้างงานเหล็ก, เครื่องนุ่งห่ม เทคโนโลยีชีวภาพ, แก้วและกระจก, รองเท้า, เครื่องสำอาง, เคมี, แกรนิตและหินอ่อน, เซรามิก, ปูนซีเมนต์, อัญมณี

 

“หลายๆ ปัจจัยยังคงท้าทายภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก ระหว่างนี้ ส.อ.ท. จึงอยากขอให้รัฐแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงค่าระวางเรือ (Freight) ที่ปรับตัวสูงขึ้นในทุกเส้นทาง เช่น เส้นทางสหรัฐฯ ต้นทุนเพิ่มถึง 107% ออกมาตรการป้องกันสินค้าต่างชาติที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศ ส่งเสริมใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ (Made in Thailand หรือ MiT) เร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐให้ได้ตามเป้าภายในเดือนกันยายน 2567”

 

สายป่านผู้ประกอบการยาวไม่เท่ากัน! 

 

เกรียงไกรกล่าวอีกว่า กรณีแนวโน้มการขึ้นค่าไฟก็เป็นเรื่องของต้นทุนการผลิตในทุกๆ อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบ โดยกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบหนักสุดคืออุตสาหกรรมหนัก ซึ่งประเด็นค่าไฟก็ถูกพูดถึงมาโดยตลอด เพราะจะส่งผลโดยตรงต่อภาคการผลิต

 

“สิ่งที่น่าห่วงคือ เมื่อเรามองดูคู่แข่งที่อยู่ในกลุ่มผู้ผลิตใกล้เคียงกัน ค่าไฟฟ้าของไทยถือว่าสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามอยู่ที่ 2.70 บาทต่อหน่วย อินโดนีเซียอยู่ที่ 3.30 บาทต่อหน่วย ขณะที่ไทยค่าไฟอยู่ที่ 4-5 บาทต่อหน่วย”

 

ที่น่ากังวลอีกประเด็นก็คือ ค่าไฟฟ้ารอบใหม่เดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประเมินแนวทางออกมาถึง 3 แนวทาง 

 

“ไม่ว่าจะเลือกแบบไหนก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ปรับขึ้นหมด และมากสุดถึง 6 บาท ถือว่าสูงมากๆ หากสูงเกินไปไม่เพียงแต่จะกระทบเอกชนไทยเท่านั้น ยังกระทบต่อการตัดสินใจของเอกชนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทยและ FDI ต้นทุนนี้ยิ่งทำให้ขีดความสามารถแข่งขันไทยลดลง จากอดีตเราเคยอยู่อันดับ 3 ของอาเซียน วันนี้ร่วงลงมาอันดับ 6” 

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ ส.อ.ท. และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ก็เห็นตรงกันว่า ค่าไฟราคาเดิมก็สูงมากพออยู่แล้ว รัฐต้องวางมาตรการ ถ้าขึ้นไปมากกว่านี้ ผู้ประกอบการขนาดกลาง รายใหญ่ หรือผู้ประกอบการที่มีกำลังอาจรับสภาพไหว ก็ต้องกัดฟันไปสักระยะหนึ่ง แต่แน่นอนว่ากลุ่มรายเล็กๆ หรือ SME อาจได้รับผลกระทบหนัก อย่าลืมว่าสายป่านที่มีอาจไม่เหมือนกัน 

 

และถ้าต้นทุนสูงเช่นนี้ สุดท้ายผู้ประกอบการต้องหันไปมองหาสินค้านำเข้าที่ถูกกว่า

 

 

แม้โรงงานเปิดใหม่ยังมากกว่าโรงงานที่ปิดตัวไป แต่ช่องว่าง ‘แคบขึ้น’ อย่างมีนัยสำคัญ

 

นอกจากนี้ ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อีกสัญญาณของดัชนีอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องนั้น หากดูข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม แม้จะมีการเปิด-ปิดโรงงานเป็นปกติตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ตัวเลขที่น่าห่วงคือ การเปิด-ปิดโรงงานช่วงปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้วต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ 

 

กล่าวคือ ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มีโรงงานแจ้งปิดกิจการแล้ว 667 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเฉลี่ย 111 โรงต่อเดือน (หรือ 85%YoY) ส่วนโรงงานเปิดกิจการ 1,009 โรง คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 โรงงานที่ปิดต่อโรงงานเปิดใหม่ 1.5 โรง และพนักงานถูกเลิกจ้างไปแล้ว 17,674 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 141.48%YoY

 

ถึงแม้ว่าจำนวนโรงงานที่แจ้งประกอบการใหม่ (1,009 แห่ง) จะยังมากกว่าโรงงานที่เลิกกิจการ แต่ช่องว่างระหว่างโรงงานเปิดใหม่กับโรงงานปิดกิจการแคบขึ้น

 

“จะเห็นได้จากการเทียบชัดๆ เมื่อดูยอด 6 เดือนแรกปี 2566 มีโรงงานปิดกิจการ 358 โรง แต่ปี 2567 มีโรงงานปิดกิจการ 667 โรง”

 

ส่วนเปิดกิจการ 809 โรง คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 โรงงานที่ปิดต่อโรงงานเปิดใหม่ 2.2 โรง 

 

ขณะที่หากพิจารณาจากมูลค่าเงินลงทุนของโรงงานที่เลิกกิจการ 6 เดือนแรก อยู่ที่ 18,091 ล้านบาท ซึ่งลดลง 57%YoY 

 

“สะท้อนให้เห็นว่า โรงงานที่เลิกกิจการที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กหรือ SME สวนทางกับโรงงานที่เปิดกิจการใหม่ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนโรงงานที่เปิดกิจการมากขึ้น” 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากมูลค่าการเปิดโรงงานใหม่ 1,009 แห่ง เพิ่มขึ้น 24%YoY และมีมูลค่าการลงทุนกว่า 174,128 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 177%YoY สอดคล้องกับข้อมูลสถิติการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติ ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มูลค่ากว่า 169,322 ล้านบาท (+16%YoY)

 

อุตสาหกรรมเหล็กทรุดหนัก เอฟเฟกต์โรงงานรถยนต์ปิดตัว และเหล็กจีนยังทะลักไทย

 

ด้าน นาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราการผลิตรวมของอุตสาหกรรมเหล็กไทยเฉลี่ยเหลือเพียง 20% เท่านั้น เรียกได้ว่าลดต่ำลงสุดในรอบ 10 ปี จากเดิมเคยอยู่ที่ระดับ 30-40% 

 

 

เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยชะลอต่อเนื่อง ทั้งการลงทุนภาครัฐ และเมื่อมีการปิดตัวของโรงงานรถยนต์ก็ย่อมกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งได้รับผลกระทบอันดับแรก น่าเป็นห่วงด้วยว่า

 

“ถ้าอุตสาหกรรมยานยนต์ไม่ดี ก็ส่งผลถึงอุตสาหกรรมเหล็กมากยิ่งขึ้น ยอดการใช้ก็ลดลง และแม้ที่ผ่านมาไทยมีการใช้มาตรการตอบโต้ด้วยการทุ่มตลาด แต่ก็ยังคงถูกเหล็กจากประเทศจีนเข้ามาดัมป์ราคา อีกทั้งสงครามการค้าก็ยิ่งทำให้จีนเพิ่มการส่งออกเหล็กอีกถึง 24% และตอนนี้จีนเลือกส่งออกมายังอาเซียนและไทย”

 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการมากขึ้น และสนับสนุนมาตรการตอบโต้ จึงอยากให้อุตสาหกรรมนี้เป็นตัวอย่างของเคสแรกในไทยไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ในกรณีการทุ่มตลาด

 

ภาคการท่องเที่ยวคือความหวัง-ลุ้นรัฐคลอดดิจิทัลวอลเล็ต

 

เกรียงไกรกล่าวทิ้งท้ายว่า ช่วงนี้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศช่วงนอกฤดูกาล (โลว์ซีซัน) และมาตรการฟรีวีซ่าช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ ขณะที่การขยายตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ อาเซียน อินเดีย และจีน ที่เริ่มฟื้นตัว ตลอดจนการอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลดีต่อภาคการส่งออก

 

ท้ายสุด ยังกล่าวถึงกรณีนักท่องเที่ยวชาวเวียดนามที่เสียชีวิตกลางโรงแรมดังเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา เนื่องจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยขณะนี้คือภาคการท่องเที่ยว จะมีผลกระทบอย่างไรหรือไม่ “ไม่ว่าข่าวลักษณะนี้จะออกไปอย่างไรก็ไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ประเทศ หากสามารถตรวจสอบ สรุปได้เร็ว ก็จะส่งผลดี”

 

ส่วนกรณีความคืบหน้าเงินดิจิทัล คงต้องรอความชัดเจน เนื่องจากรัฐบาลคงต้องนำคำท้วงติงจากทุกฝ่ายมาหารืออย่างรอบคอบ แต่คอนเซปต์ของโครงการนี้ ต้องไม่ลืมว่าเป็นโครงการที่อาจกระชากเงินหมุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คงต้องรอหลังจากวันที่ 24 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ว่าจะมีความชัดเจนในทิศทางใด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X