×

ไทยพบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่ 3 เป็นชาวเยอรมันมาเที่ยวเมื่อ 18 ก.ค. ก่อนมีอาการและตรวจพบเชื้อ

โดย THE STANDARD TEAM
03.08.2022
  • LOADING...
ไทยพบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่ 3

วันนี้ (3 สิงหาคม) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ว่าวันนี้มีการรายงานกรณีโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) มีผลการตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ยืนยันในรายที่ 3 เป็นผู้ป่วยชาย อายุ 25 ปี สัญชาติเยอรมัน เดินทางเข้าไทยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งทางจังหวัดกำลังจะรายงานไทม์ไลน์ผู้ป่วยมาให้กรมควบคุมโรค

 

นพ.โอภาสกล่าวว่า เบื้องต้นผู้ป่วยรายดังกล่าวเมื่อเข้ามาถึงไทยไม่นานก็เริ่มมีอาการ จึงคาดว่าน่าจะติดเชื้อจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ผู้ป่วยให้ประวัติว่าเดินทางมาเที่ยวในไทย เคยไปๆ มาๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด กลุ่มเสี่ยงเพื่อคัดกรองโรคฝีดาษลิง ซึ่งเบื้องต้นผลยังไม่พบผู้ติดเชื้อในผู้สัมผัส แต่ตามแนวทางจะต้องให้สังเกตอาการ 21 วัน โดยสามารถไปไหนมาไหนได้ แต่ต้องระวังการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น

 

“ส่วนความเสี่ยงที่โรคฝีดาษลิงจะกระจายในประเทศไทย จะสังเกตว่า 3 รายเป็นเพศชาย ตรงกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลกที่เปิดเผยว่า ร้อยละ 98 มีประวัติชายรักชาย (Man Sexual with Men) ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของไทย เป็นชายทั้งหมด โดยเป็นต่างชาติ 2 ราย และคนไทย 1 ราย ที่สัมผัสใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ ฉะนั้น ความเสี่ยงคือการสัมผัสใกล้ชิดต่างชาติกับผู้ป่วยฝีดาษลิง” นพ.โอภาสกล่าว

 

นพ.โอภาสกล่าวต่อไปว่า ผู้ป่วยรายที่ 3 เมื่อเข้ามาไม่นานก็เริ่มมีอาการฝีดาษลิง คือ มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต ต่อมาผื่นขึ้นเริ่มจากอวัยวะเพศและไปตามร่างกาย อาการค่อนข้างชัดเจน จึงมาโรงพยาบาล ทั้งนี้ ข้อมูลทั่วโลกพบว่า ผู้ป่วยฝีดาษลิงไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงพยาบาลทุกราย มีเพียงร้อยละ 9 ที่ต้องอยู่โรงพยาบาลเพื่อควบคุมโรค ดังนั้น มาตรการของเราในอนาคต หากผู้ป่วยไม่มีปัญหาสุขภาพก็ให้รักษาตัวที่บ้านได้ (Home Isolation)

 

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องวัคซีนโรคฝีดาษลิง ทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กำลังประสานติดต่อคาดว่าไม่เกินเดือนนี้ ซึ่งคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ 2 กลุ่ม คือ 

 

  1. กลุ่มที่ยังไม่มีประวัติติดเชื้อ แต่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรค เช่น บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ห้องแล็บ 

 

  1. มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยฝีดาษลิง แต่ไม่เกิน 14 วันหลังจากสัมผัสครั้งสุดท้าย คาดว่าป้องกันโรคได้ ด้านยารักษาโรค ขณะนี้ข้อมูลบ่งชี้ว่า สามารถหายเอง อย่างผู้ป่วย 2 รายแรกของไทย อาการดีขึ้นโดยไม่ต้องรับยาต้านไวรัส แต่ยาอาจมีความจำเป็นในกลุ่มผุ้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี หรือร่างกายอ่อนแอ ทั้งนี้ ข้อมูลทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง 20,000 ราย เสียชีวิต 3-4 ราย ซึ่งประวัติมีโรคประจำตัว เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ภาวะแทรกซ้อนสมองอักเสบ ฉะนั้นยาจะมีความจำเป็นเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ทุกรายที่ต้องรับยา

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า 2 รายแรกของไทย ถือว่าการป้องกันโรคปลอดภัยแล้วหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ต้องดูว่าผู้สัมผัสโรคของรายที่ 1 ครบ 21 วัน หลังจากที่สัมผัสกับผู้ป่วยหรือยัง เพราะโรคนี้ระยะฟักตัวยาว ซึ่งการควบคุมโรคจะดีกว่าโรคที่ระยะฟักตัวสั้นอย่างโควิด ที่เวลากระจายก็กระจายเร็ว

 

เมื่อถามถึงเรื่องการบริการวัคซีนฝีดาษลิง นพ.โอภาสกล่าวว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคต้องดูรายเอียด

 

  1. ประสิทธิภาพ 
  2. ความปลอดภัย 
  3. สถานการณ์
  4. ความเป็นไปได้ในการจัดบริการ ซึ่งวัคซีนที่เราสั่งเข้ามาจากข้อมูลพบว่า ผลข้างเคียงน้อยที่สุด แต่ด้วยโรคใหม่เราจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

 

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตามที่ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) เห็นชอบแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคฝีดาษลิง สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ขณะนี้ กรมการแพทย์ได้ประกาศแนวทางดังกล่าว โดยหากพบผู้ป่วยที่สงสัยป่วยโรคฝีดาษลิง ขอให้รับเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล (Admit) เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอน และเพื่อการควบคุมโรคไปในตัว โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่าสามารถตรวจเชื้อได้ใน 24 ชั่วโมง อย่างเร็วที่สุดคือ 3-4 ชั่วโมง

 

“แนวทางรักษา โดยหลักการเป็นโรคที่หายเอง แต่มีการพูดคุยเรื่องยาต้านไวรัสเผื่อไว้ด้วย ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยสงสัยเราจะแอดมิตจนแน่ใจว่าเป็นหรือไม่ จากนั้นจะต้องดูเป็นรายๆ ไป หากเราสามารถป้องกันควบคุมโรคได้ชัดเจน ไม่มีโรคประจำตัวที่น่ากังวล ก็จะกลับไปรักษาที่บ้าน ซึ่งต่างประเทศเขาก็ทำแบบนี้ แต่ทั้งหมดต้องมั่นใจว่าไม่มีอาการแทรกซ้อน และสามารถป้องกันควบคุมโรคได้” นพ.สมศักดิ์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising