×

จับตาส่งออกสินค้าไทย ภาษีทรัมป์มีผลคืนนี้ เอกชนหวังทีมรัฐบาล ‘งัดไพ่’ เจรจา เตือนหากเคลียร์ไม่จบ ไตรมาส 2 เสี่ยงหายนะ

09.04.2025
  • LOADING...
thai-exports-trump-tariff-impact

วันนี้ (9 เม.ย. 2568) เรียกได้ว่าเป็นวันที่ทั่วโลกต่างจับตา เพราะเป็นวันที่มาตรการตอบโต้ภาษีกับประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้ซึ่งไทยโดนไปเต็มๆ 36%

 

ผู้ส่งออกสินค้าไทย สินค้าอาหารที่ส่งออกล่วงหน้าเตรียมถึงท่าเรือสหรัฐฯ นั้นอาจสร้างความปั่นป่วน ทั้งต้นทางและปลายทาง ชาวอเมริกันแบกรับต้นทุนพุ่ง ส.ส่งออกอาหารเตือนเสี่ยงทุบออเดอร์ไตรมาส 2 ชะลอ ขณะที่ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ผู้ส่งออกผลิตและผู้จัดจำหน่ายแบรนด์ ‘มาม่า’ มองรัฐบาลไทยมีไพ่ในมือหลายใบ เชื่อมั่นฝีมือทีมเจรจาต่อรองเพื่อประโยชน์ผลประโยชน์คนไทย

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

วันนี้ (9 เมษายน) ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยคนใหม่ และเป็น ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน) และ ประธานกรรมการบริหารผู้ถือหุ้น High Liner Foods, U.S.A. ผู้ส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ กล่าวว่า จากการหารือภายในกลุ่มผู้ส่งออกไทยในวันนี้ ต่างยอมรับว่ามีความกังวล ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกรณีที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าไทย 36% อย่างมาก

 

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยคนใหม่ และเป็น ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน) และ ประธานกรรมการบริหารผู้ถือหุ้น High Liner Foods, U.S.A. ผู้ส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ)

 

โดยเฉพาะสินค้าที่ได้ซื้อ-ขาย ล่วงหน้าและตกลงราคาไปแล้ว จะยังสามารถส่งมอบได้หรือไม่ หรือภาษีทรัมป์ ที่ประกาศขึ้นภาษีกับสินค้าไทย 36% ครั้งนี้ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ จะเก็บกับผู้นำเข้าไปเลยหรือไม่ ซึ่งหากผู้นำเข้าขึ้นราคาสินค้า ราคาสินค้าก็จะขยับขึ้น ท้ายที่สุด ก็จะส่งผลกระทบไปยังผู้บริโภคของสหรัฐฯ และมีผลต่อกำลังซื้อและคำสั่งซื้อใหม่ไตรมาส 2

 

หอการค้าฝากความหวังรัฐ “เจรจาต่อรอง” ชี้ หากเคลียร์ไม่จบ ส่งออก มิ.ย. วิกฤต

 

แม้มูลค่าความเสียหายในขณะนี้ยังจะไม่สามารถคำนวณออกมาเป็นตัวเลขได้ แต่การเสียโอกาส นั้นมีมากแน่ ซึ่งหากการเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะทำได้เร็ว ผลกระทบที่จะมีต่อการส่งออกของไทยในเดือน เม.ย. หรือ พ.ค. นี้ก็อาจจะไม่มากนัก

 

“แต่หากยังไม่สามารถเจรจากันได้ เชื่อว่าการส่งออกของไทยตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นไป จะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะตอนนี้สินค้าที่จะลงเรือ ก็อิหลักอิเหลื่อ จะขายใหม่ ก็ไม่รู้จะซื้อขายกันอย่างไร นี่คือการเสียโอกาส”

 

ดังนั้น ความน่าเป็นห่วง คือ ถ้าสหรัฐฯ ต่อเวลาให้ถึงเดือน 7 หรือจนกว่าจะเจรจากันจบ ก็โอเค แต่ถ้าเคลียร์ไม่จบ เรื่องใหญ่ เพราะจะส่งไปขายสหรัฐฯ ไม่ได้” พจน์ ย้ำ

 

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามค่ำคืนนี้ และหลังจากวันนี้ที่จะมีผลทันที (9 เมษายน 2568) จำเป็นจะต้องมีการติดตาม ว่าจะมีรายละเอียดและขั้นตอนจะเป็นอย่างไร จะเหมือนการปรับขึ้นภาษีวันที่ 5 เมษายน 2568 ที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะในเงื่อนไขระบุว่า สินค้าดังกล่าวจะต้องส่งมอบ หรือ ถึงสหรัฐฯ ก่อนวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 ถ้าหลังจากนั้นสินค้าจะถูกเก็บภาษีเพิ่มอีก 10%

 

“ดังนั้น การเจรจาต่อรองจึงจำเป็นอย่างมาก ส่วนคำสั่งซื้อใหม่นั้น ชัดเจนว่าจะยังไม่มี เพราะทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่รู้ว่าอัตราภาษีที่ปรับขึ้น จะเป็นภาระของใครที่จะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะฉะนั้น ในช่วงเมษายน-พฤษภาคม ต้องติดตามใกล้ชิด”

 

มอง 5 แผน รัฐมาถูกทางหรือไม่?

 

เมื่อถามว่า มาตรการของภาครัฐ 5 แนวทางนั้นเอกชนเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร 

 

“พอใจในหลักการมาก ซึ่งก็เป็นแนวทางที่เอกชนได้มีการหารือกับภาครัฐตั้งแต่ต้นปี 2568 รวมถึงข้อเสนอต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาตรการด้านสุขอนามัยในสินค้าเกษตร มาตรการทางกฎหมายที่ยังเป็นอุปสรรค เป็นสิ่งที่ภาครัฐจำเป็นจะต้องแก้ไข รวมไปถึงการสวมสิทธิ์ใช้ไทยเป็นแหล่งส่งออก หรือการใช้ถิ่นกำเนิดไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ”

 

ประเด็นนี้น่าห่วงมาก ซึ่งทราบว่ากรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาดูแลและเข้มงวดมากขึ้นใน 49 หมวดสินค้าสำคัญ

 

ส่วนกรณี ความเสียหายประเมินว่าจะมากน้อยแค่ไหนนั้น ตอนนี้ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจน แต่สิ่งที่ชัดคือเราเสียโอกาสที่จะส่งมอบสินค้า สต็อกสินค้าที่ผลิตจะมีโอกาสส่งออกไหม คำสั่งซื้อใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อไร

 

“ตอนนี้ยังไม่มีอะไรนิ่ง แต่ถ้าโจทย์เป็นแบบตอนนี้ ส่งออกเละ อย่าลืมว่า ประเทศอื่นก็เจอปัญหาเหมือนกัน ส่งออกไม่ได้ เศรษฐกิจเสียหาย เรื่องนี้อย่ามองแค่เป็นปัญหาสหรัฐฯ กับไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาโลกและการเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ นั้น ควรอยู่ภายใต้หลักการที่เป็น fair balance” พจน์กล่าว

 

ปี 2568 เตือนภาษีทรัมป์วิกฤตระดับโลก โจทย์หินไทย “ต่างฝ่าย ต่างทำ” ไม่ได้

 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่อยากจะฝากภาครัฐด้านการเจรจากับสหรัฐฯ ขอให้จัด “ทีมไทยแลนด์” ขึ้นมาโดยมีนายกเป็นประธาน ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการวิเคราะห์ สรุปข้อมูล เพื่อเอกภาพ เพราะมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง หลังจากนั้น จึงจัดตั้งเป็นคณะอนุกรรมการย่อย

 

เมื่อถามว่าการแก้ไขปัญหาในตอนนี้ช้าไปหรือไม่ พจน์ มองว่า “ไม่ช้าแต่ก็ไม่เร็ว” และการแบ่งทีมที่ภาครัฐสรุปออกมานั้น ถือว่าดี แต่ก็ยังต้องการให้จัดเป็นคณะเดียว โดยนายกเป็นประธาน

 

“ผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ในรอบนี้เรียกได้ว่าเป็นวิกฤติระดับโลก เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ Demand Chain และ Supply Chain เพี้ยนไปหมด ปี 2568 เรื่องนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่มากของไทย ที่จะต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างฝ่าย ต่างทำไม่ได้”

 

มองสงครามภาษีสหรัฐฯ ทุบยอดสั่งซื้ออาหารสำเร็จรูปไตรมาส 2 ร่วง!

 

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และรองประธานสภาหอการค้าไทย)

 

ด้านวิศิษฐ์ กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า หลังจากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าไทย 36 % และจะมีผลในวันที่ 9 เม.ย. นี้นั้น

 

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นทันที คือสินค้าล็อตวันที่ 9 เมษายน ที่กำลังจะลงเรือส่งไปยังสหรัฐฯ เกิดการหยุดชะงัก ต้องมาวางแผนกันใหม่ว่าควรจะส่งไปหรือไม่ ถ้าส่งไปเสี่ยงหลายอย่าง”

 

สำหรับลูกค้าที่สั่งสินค้าแล้วจ่ายเงินค่าสินค้าแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ลูกค้าที่ยังไม่จ่ายเงิน เมื่อสินค้าถึงปลายทางแล้วต้องร่วมกันหาทางออกร่วมกัน ซึ่งคาดว่าจะได้ รับผลกระทบภาษีทันที 36% ส่วนล็อตที่มีการสั่งซื้อไว้ล่วงหน้า ก็อาจจะมีการชะลอ การนำเข้าเพื่อรอความชัดเจนด้านอัตราภาษี

 

เช่นเดียวกับ กลุ่มธุรกิจอาหารสำเร็จรูปส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ประมาณ 10%

 

“สิ่งที่กำลังโฟกัสกันอยู่ตอนนี้ คือ ติดตามการเจรจาของไทยและสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ดูท่าทีว่าทรัมป์จะมีประกาศเลื่อนระยะการเก็บภาษีออกไปหรือไม่”

 

หวังรัฐบาลเจรจาสำเร็จ หากล่าช้าหวั่นเสียเปรียบคู่แข่ง

 

อีกหนึ่งสิ่งที่น่ากังวล ถ้าประเทศคู่แข่งไทย เริ่มตั้งแต่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย ซึ่งมีสินค้าเหมือนกัน กับไทย ถ้าประเทศเหล่านี้ สามารถเจรจาขอลดภาษีได้ ไทยจะเสียเปรียบทันที ดังนั้น ด้วยทิศทางที่ยังไม่ชัดเจน ทางสมาคมฯ ต้องปรับแผนงานระยะสั้น ในไตรมาส 2 ต้องหาทางระบายสินค้าไปยังตลาดอื่นที่เราทำอยู่แล้ว เช่น อาเซียน จีน ญี่ปุ่น ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน เพราะตลาดอื่นไม่น่ากังวล มีกังวลแค่ตลาดสหรัฐฯ โดยประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายในไตรมาส 2 แน่ๆ

 

“สิ่งที่อยากให้รัฐบาลเร่ง คือต้องหาวิธีไปเจรจาและดูความได้เปรียบเสียเปรียบเรื่องของภาษี และให้เปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบทางการค้า และเนื่องจากไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯ อยู่ ไทยเราจะหันมานำเข้าจากอเมริกา เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ ต้องมองตรงนี้ด้วย” นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ย้ำ

 

มาม่า เผยภาษีป่วนส่งออก รอรัฐบาลไทยงัดไพ่เจรจา

 

ขณะที่ พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ‘มาม่า’ ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปัจจุบัน ‘มาม่า’ มีพอร์ตรายได้จากการส่งออกมีประมาณ 30% โดยส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ถึง 10% ซึ่งตัวเลขส่งออกจะอยู่ยุโรปและเอเชียมากกว่า

 

ตอนนี้จะเห็นว่าคู่แข่งตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เริ่มตั้งแต่ประเทศ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากภาษีเหมือนกันหมด แต่อาจจะมีแค่ญี่ปุ่นที่ได้เปรียบเพราะมีโรงงานผลิตอยู่ในสหรัฐฯ 2 แห่ง ทำให้ สามารถปรับราคาขายต่ำกว่าแบรนด์อื่นที่นำเข้า

 

“ถ้าหากเรือส่งสินค้าถึงปลายทางสหรัฐฯ ถ้าจะโดนอัตราภาษีใหม่ ตัวแทนจำหน่ายก็ต้องตัดสินใจขึ้นราคาล็อตนี้เลย เพื่อป้องกันการขาดทุน และต่อให้ราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะปรับขึ้น 5-10% แต่ยังเป็นสินค้าระดับแมสที่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ เข้าถึงได้ง่าย ด้วยราคาที่ถูกกว่าสินค้ากลุ่มอื่นและมาม่าถือเป็นเอกลักษณ์ ของความเป็นไทย ถ้าประเมินในภาพรวมคาดว่าจะกระทบยอดขายรวมแค่ 2% เท่านั้น”

 

พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)

พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) 

 

อย่างไรก็ตาม จากความเคลื่อนไหวดังกล่าวบริษัทต้องหันไปโฟกัสสร้างยอดขายจากประเทศอื่นๆ ที่ยังมีโอกาสเติบโต เช่น ยุโรป โดยในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้เปิดไลน์ ผลิตสินค้า มาม่า บิ๊กแพค เพื่อรองรับการส่งออกไปเรียบร้อยแล้ว

 

พันธ์ ระบุอีกว่า เรื่องกำแพงภาษีสหรัฐฯ ต้องรอความชัดเจน เบื้องต้นมองว่า “กระทบธุรกิจส่งออกไทยแน่ๆ เนื่องจากมีการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ จำนวนมาก”

 

เมื่อถามว่ามองนโยบายภาษีทรัมป์อย่างไรนั้น ก็คงมี เพราะแต่ละประเทศต่างปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตัวเอง และจากข้อมูลก็เห็นว่าปัจจุบันไทยเกินดุลการค้า กับสหรัฐฯ อยู่จริงๆ โดยการขึ้นภาษีของทรัมป์รอบนี้ขึ้นอยู่ที่ใครจะตีความ ว่าสหรัฐฯ ขึ้นภาษีเปอร์เซ็นต์เท่านี้เขาต้องการจริงๆ หรือไม่

 

“ส่วนตัวมองว่าขึ้นเพราะต้องการต่อรองที่เป็นธรรมมากกว่านี้ ซึ่งมองว่าขณะนี้ หลายๆ ประเทศกำลังจับตารอท่าทีว่าประเทศอื่นๆ จะเข้าไปเจรจากับสหรัฐฯ ในรูปแบบไหนบ้าง”

 

ทั้งนี้ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ รัฐบาลรับฟังข้อเสนอของภาคเอกชนมาโดยตลอด ซึ่งเรื่องแบบนี้พูดเสียงดังไม่ได้ เพราะอาจจะทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศอื่น

 

อย่างไรก็ตาม วันที่ 8 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา เรามีโอกาสเข้าไปร่วมประชุมร่วมกับ ภาครัฐที่หอการค้าไทย

 

“เราเชื่อว่ารัฐบาลไทยมีไพ่ในมือหลายใบและมีความเชี่ยวชาญในการเจรจา ทำให้เห็นว่านโยบายต้องชัดเจนก่อนไปต่อรองจะลดภาษีในด้านไหนบ้างถึงจะสร้างประโยชน์ให้กับคนไทยเราเอง หรือถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มองไปที่ปรับเงื่อนไขทางการค้าทั้งแผงและรัฐบาลต้องอธิบายให้ประชาชนรับรู้ด้วย” พันธ์ กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising