เรียกได้ว่าสะเทือนการค้าไปทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศนโยบายใหม่ด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยตั้งชื่อวันนี้ว่าเป็น ‘Liberation Day’ หรือวันประกาศอิสรภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
โดยการเก็บภาษีหรือมีมาตรการกีดกันทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรมนั้น ทรัมป์เรียกเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ทุกประเทศ ซึ่งหากดูรายประเทศ ทรัมป์เก็บภาษีพื้นฐาน 10% สำหรับสินค้าทั้งหมดที่นำเข้าสหรัฐฯ และบวกเพิ่มสำหรับอีกหลายสิบชาติ รวมถึงคู่ค้าหลักของอเมริกาบางประเทศ
ขณะที่ 8 อันดับชาติอาเซียนถือว่าอยู่ในอัตราสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และสหรัฐฯ มองว่าเหตุผลที่ขึ้นภาษีไทย 36% (รวม 37%) เพราะไทยตั้งกำแพงทางการค้า (รวมทั้งมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี) กับสหรัฐฯ สูงถึง 72% ทรัมป์จึงตอบโต้สูงกว่าภาษีพื้นฐานเดิมถึง 3 เท่า ทั้งนี้ คำประกาศนี้จะเริ่มบังคับใช้วันที่ 5 เมษายน 2025 และมีผลวันที่ 9 เมษายน 2025
ขณะที่ วันนี้ (3 เมษายน) สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ไทยถูกกำหนดภาษีในอัตรา 37% แต่จากข้อมูลอัตราภาษี Reciprocal Tariff ของไทยตาม Chart ที่ทำเนียบขาวเผยแพร่ใน X ระบุว่า อัตราอยู่ที่ 36% ทว่า ข้อมูลตาม Annex I ของ Executive Order (EO) ระบุอัตราภาษี Reciprocal Tariff ของไทย ดังนั้นจึงรวมแล้วจะอยู่ที่ 37%
โดยอาจส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ เครื่องโทรศัพท์รวมถึงสมาร์ทโฟนอื่นๆ, ยางรถยนต์ , เซมิคอนดักเตอร์ ,หม้อแปลงไฟฟ้า
รายชื่อประเทศและดินแดนคู่ค้าที่สหรัฐฯ จัดเก็บภาษีสูงสุด ได้แก่
จีน 34%
สหภาพยุโรป 20%
เกาหลีใต้ 25%
อินเดีย 26%
ไต้หวัน 32%
ญี่ปุ่น 24%
สวิตเซอร์แลนด์ 31%
สหราชอาณาจักร 10%
แอฟริกาใต้ 30%
บังกลาเทศ 37%
ศรีลังกา 44%
มาดากัสการ์ 47%
ขณะที่หากดู 8 อันดับชาติอาเซียนถือว่าเก็บในอัตราสูง โดยประเทศที่ถูกจัดเก็บภาษีสูงสุดในอาเซียนคือ กัมพูชา 49% ตามด้วย สปป.ลาว 48%, เวียดนาม 46%, เมียนมา 44%, อินโดนีเซีย 32%, ไทย 36%, มาเลเซีย 24% และฟิลิปปินส์ 17%
ทรัมป์ขึ้นภาษีกระทบเศรษฐกิจไทยแค่ไหนเมื่อดูจากสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากที่สุด พบว่า
- อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน คิดเป็น 32%
- เครื่องใช้ไฟฟ้า คิดเป็น 24.7%
- ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง คิดเป็น 4.3%
- ยานยนต์และชิ้นส่วน คิดเป็น 4.3%
- เครื่องประดับ คิดเป็น 3.6%
- พลาสติกและผลิตภัณฑ์จากพลาสติก คิดเป็น 2.6%
- ผลิตภัณฑ์เหล็กหรือเหล็กกล้าคิดเป็น 2.1%
- เครื่องมือวัดความแม่นยำ คิดเป็น 1.8%
- เฟอร์นิเจอร์ คิดเป็น 1.8%
- เนื้อสัตว์และสัตว์น้ำ คิดเป็น 1.7%
ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเอกชน หอการค้าและสภาอุตสาหกรรม ได้ประเมินว่า หากสหรัฐฯ เพิ่มภาษีให้เท่ากับไทย คาดว่าจะทำให้ไทยเสียหาย 7-8 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 2.4-2.7 แสนล้านบาท โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบหนัก เช่น ข้าว กุ้งแปรรูป ยางล้อรถยนต์ และชิ้นส่วนรถยนต์ และกังวลว่า อนาคตสินค้าจีนจะทะลักเข้ามาอีก มากไปกว่านั้น คือจะเกิดการสวมสิทธิ์ส่งออก