×

ตรวจเช็กสุขภาพการส่งออกไทยหลังพ้นครึ่งปีแรก บริหารพอร์ตลงทุนอย่างไร ท่ามกลางความเสี่ยงที่ต้องติดตาม

20.07.2023
  • LOADING...
ส่งออกไทย

การส่งออกถือเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยมีน้ำหนักในการคิดคำนวณ GDP ค่อนข้างมากถึง 60% และในปีที่ผ่านมาหุ้นส่งออกไทยรับบทพระเอกที่น่าจับตามอง แต่ดูเหมือนว่าในรอบหลายเดือนที่ผ่านมาเครื่องยนต์หลักนี้จะไม่สามารถทำหน้าที่ได้มีประสิทธิภาพอย่างที่เคยเป็นมา 

 

ล่าสุดทางกระทรวงพาณิชย์ได้รายงานตัวเลขส่งออกของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปีมีมูลค่า 116,344.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 5.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การส่งออกในเดือนพฤษภาคมมีมูลค่า 24,340.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 4.6% และหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 

 

แม้ในภาพรวมการส่งออกไทยในเดือนพฤษภาคมจะหดตัวน้อยกว่าคาดการณ์ของตลาด และขยายตัวได้ 3.0% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าซึ่งเป็นสัญญาณเชิงบวก แต่เมื่อเจาะเข้าไปดูไส้ในก็จะพบสิ่งที่น่ากังวลใจอยู่ไม่น้อยเช่นกัน เช่น การส่งออกหมวดสินค้าเกษตรที่หดตัวแรงในรอบ 4 เดือนถึง -27% ส่วนหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ -0.6% ขณะที่สินค้าในหมวดอุตสาหกรรมซึ่งมีมูลค่าสูงสุดก็ขยายตัวได้เพียง 1.5% 

 

นอกจากนี้ การส่งออกไปยังตลาดจีนซึ่งเป็นหนึ่งในคู่ค้าหลักของไทยในเดือนพฤษภาคมยังหดตัวลงลึกถึง -24.0% โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อการหดตัวดังกล่าวมาจากการส่งออกที่ลดลงของสินค้าเกษตรอย่างผลไม้สดและแห้ง เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไยอบแห้ง ประกอบกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง เช่น เม็ดพลาสติก คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่ตลาดหลักอื่นๆ เช่น CLMV และญี่ปุ่นก็หดตัว -17.3% และ 1.8% ตามลำดับ 

 

นี่ยังไม่นับรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดรองที่หดตัว 4.5% โดยหดตัวในตลาดเอเชียใต้ 25.2% และลาตินอเมริกา 7.0% สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้การที่ตัวเลขส่งออกไทยทั้งปีจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ 1-2% ตามเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ถือเป็นเรื่องท้าทาย เพราะนั่นหมายความว่าในช่วงที่เหลือของปีการส่งออกไทยจะต้องมีมูลค่าแตะ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนเป็นอย่างน้อย

 

หากมองต่อไปในช่วงครึ่งปีหลัง เรายังพบปัจจัยที่เป็นแรงกดดันและความท้าทายที่รอให้การส่งออกไทยต้องฝ่าฟันอีกอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่

 

1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ชัดเจน โดยในช่วงที่ผ่านมาเราเห็นภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่เร่งแรงขึ้นมาในช่วงไตรมาสแรกที่ 4.5% หลังมีการเปิดเมือง ทำให้คนเร่งบริโภค แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องในไตรมาสล่าสุด ทั้งภาคการส่งออกที่พลิกกลับมาติดลบ ภาคการผลิตที่เริ่มเติบโตช้าลง รวมทั้งการใช้จ่ายของคนในประเทศเองไม่ได้แข็งแรงเหมือนต้นปี จนภาครัฐเริ่มใช้มาตรการกระตุ้น เช่น การลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจ

 

นอกจากปัจจัยภายในแล้ว ปัจจัยภายนอกอย่างสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีกับสหรัฐอเมริกาก็มีความเสี่ยงที่จะกดดันไม่ให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ดีนัก โดยเฉพาะการส่งออกและการผลิตของจีนในอนาคต ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมายังไทย

 

2. แรงกดดันของอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งเห็นได้จากการที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมโลกเร่งตัวขึ้นจากการผ่อนคลายปัญหาห่วงโซ่การผลิต แต่คำสั่งซื้อใหม่สำหรับการส่งออกไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคควบคุมการใช้จ่ายมากขึ้น 

 

โดยดัชนี Flash Manufacturing PMI ในเดือนมิถุนายนของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยยังอยู่ในภาวะหดตัวจากอุปสงค์สินค้าที่อ่อนแอ เช่น US Manufacturing PMI ที่ลดลงจาก 48.4 มาอยู่ที่ 46.3, Eurozone Manufacturing PMI ที่ลดลงมาอยู่ที่ 43.6 ต่ำสุดในรอบ 37 เดือน และ Japan Manufacturing PMI ที่พลิกกลับมาหดตัวอีกครั้งที่ 48.4 

 

ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังออกมาส่งสัญญาณอีกว่ามีความเป็นไปได้ที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อลากยาว เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อมีแรงกดดันในระดับที่สูงอยู่ เงินเฟ้อที่หักจากราคาพลังงานและราคาอาหาร (Core Inflation) ยังลดลงค่อนข้างช้า ทำให้ Fed มีความจำเป็นที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง 

 

3. สภาพอากาศแปรปรวนจากปัญหาภัยแล้งและเอลนีโญที่อาจส่งผลต่อปริมาณสินค้าเกษตรที่ผลิตในปีนี้ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นวาระสำคัญและเร่งด่วนที่ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย เนื่องจากส่งออกไทยพึ่งพาเกษตรค่อนข้างมาก และภาคเกษตรถือเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ ทั้งอาหาร พืช และแอลกอฮอล์ เป็นต้น ดังนั้นการบริหารการจัดสรรน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ 

 

ทั้งนี้ มีการประเมินว่าปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะเกิดขึ้นในปีนี้และอาจลากยาวไปถึง 3 ปี จะส่งผลโดยตรงกับพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่เป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ของไทย ทำให้ผลผลิตข้าวทั่วโลกจะขาดแคลนมากที่สุดในรอบ 20 ปี ขณะเดียวกันความแห้งแล้งยังมีโอกาสดันให้ราคาปุ๋ยในตลาดดีดตัวสูงขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่เพิ่งปรับลดลงมาได้ไม่นาน

 

4. ความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลที่อาจมีความล่าช้า จนทำให้ไทยเสียโอกาสในการเร่งเจรจาการค้าเสรี (FTA) กับชาติยุโรปหรือชาติคู่ค้าสำคัญ จนส่งผลให้ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยพิจารณาย้ายฐานไปประเทศอื่นได้ ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลต่อการส่งออกทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของไทย

 

แนวทาง

 

อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีก็ยังพอมีปัจจัยบวกให้พอใจชื้นได้บ้างเหมือนกัน เช่น ปัญหาอุปสรรคการขนส่งและปัญหาขาดแคลนคอนเทนเนอร์ที่บรรเทาลง เช่นเดียวกับระยะเวลาขนส่งที่ปรับเร็วขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด และค่าระวางเรือที่ลดลงใกล้เคียงค่าเฉลี่ยก่อนวิกฤตโควิดแล้ว 

 

ขณะเดียวกันปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศก็อาจเป็นโอกาสที่ดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องฐานในการคำนวณที่ลดลง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง ที่จะเข้ามาเป็นปัจจัยเชิงบวกสำคัญของการส่งออกไทยให้อาจกลับมาเห็นการขยายตัวได้

 

กล่าวโดยสรุป แม้ว่าภาพการส่งออกไทยในปัจจุบันจะเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นและหดตัวลดลง แต่สถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่มีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อุปสงค์โลกชะลอลง จะยังคงกดดันการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า ไทยอาจไม่สามารถพึ่งพาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนได้มากเท่าที่ควร และยังมีความท้าทายอีกประการที่รออยู่ 

 

โดยหากนำปัจจัยบวกและลบมาถ่วงน้ำหนักกัน ดูเหมือนว่าโอกาสที่ภาคส่งออกไทยในปีนี้จะขยายตัวได้เป็นบวกยังมีค่อนข้างริบหรี่ ท่ามกลางภูมิทัศน์เช่นนี้ คำแนะนำนักลงทุนของ UOB คือ ควรจัดพอร์ตกระจายการลงทุนในหลายภูมิภาคและหลายสินทรัพย์ เพื่อกระจายความเสี่ยงและแสวงหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากภูมิภาคหรืออุตสาหกรรมที่น่าสนใจ โดยคำแนะนำในการจัดพอร์ตสำหรับไตรมาส 3 เรายังคงให้ความสำคัญกับตราสารหนี้คุณภาพดีที่มีปัจจัยพื้นฐาน งบดุล และกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง ซึ่งอัตราผลตอบแทน (Yield) ของตราสารหนี้ขณะนี้มีความน่าสนใจ เพื่อสร้าง Income ที่สม่ำเสมอในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง 

 

ด้านหุ้นเราปรับน้ำหนักการลงทุนจาก Underweight สู่ระดับ Neutral ด้วยมุมมองที่คาดว่า Bond Yield น่าจะผ่านพ้นระดับสูงสุดไปแล้ว ประกอบกับวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะใกล้สิ้นสุดลง และคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนจะค่อยๆ ฟื้นตัวในไตรมาส 3 ปี 2023 โดยเราให้ความสำคัญกับการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Defensive เช่น กลุ่ม Healthcare และเน้นการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพดีที่มีการเติบโต เนื่องจากจะได้ประโยชน์จากแรงซื้อในยามที่นักลงทุนมองหาหุ้นที่ทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย และเรายังให้น้ำหนัก Overweight ในหุ้นญี่ปุ่น จากระดับ Valuation ที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ และปัจจัยพื้นฐานที่ดีของหุ้น ทั้งด้านกระแสเงินสด ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) และกำไรบริษัท ในขณะที่ปรับลดน้ำหนักหุ้น EM เอเชีย จาก Overweight เป็น Neutral จากมุมมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ไม่เท่ากันในแต่ละภาคส่วน และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนอาจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากมีหนี้สาธารณะในระดับสูง อีกทั้งต้องการส่งเสริมการเติบโตแบบตรงเป้าหมายและเติบโตแบบยั่งยืน

 

ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม หรือติดต่อที่ปรึกษาทางการเงิน (Client Advisor) ของ UOB Privilege Banking ได้ที่ โทร. 0 2081 0999 หรือ คลิก www.uob.co.th/privilegebanking

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising