ภายหลัง 23 มกราคม 2568 วันประวัติศาสตร์ที่ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือ ‘สมรสเท่าเทียม’ มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ คู่รัก LGBTQIA+ ต่างพากันเข้าจรดปากกาจดทะเบียนสมรส เป็นสัญญาณว่าความเท่าเทียมทางกฎหมายของคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศได้กลายเป็นจริงแล้วในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม หนทางสู่ความเท่าเทียมในชีวิตจริงสำหรับเยาวชน LGBTQIA+ ยังคงอีกยาวไกล แม้ว่ากฎหมายจะช่วยลดอุปสรรคทางกฎหมายได้ แต่ความท้าทายทางสังคมและวัฒนธรรมยังคงอยู่
รายงาน ‘สุขภาพจิตและสุขภาวะของเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศในประเทศไทย’ โดยองค์กร เซฟ เดอะ ชิลเดรน (Save the Children) เผยให้เห็นถึงความเปราะบางของเยาวชนกลุ่มนี้ โดย 71% กำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้า 25% มีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง และ 15% เคยพยายามคร่าชีวิตตนเอง เนื่องจากต้องเผชิญความรุนแรงในหลายระดับ ทั้งแรงกดดันจากสังคม และอคติที่นำมาสู่การเลือกปฏิบัติ
ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการมีกฎหมายอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติและการสร้างสภาพแวดล้อมที่ยอมรับและเข้าใจความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง เป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่า การเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชน LGBTQIA+ ได้แสดงออกถึงตัวตนอย่างอิสระ ปราศจากการตีตราและการเลือกปฏิบัติ จะช่วยให้พวกเขามีความภาคภูมิใจในตนเอง และเติบโตขึ้นได้อย่างมีคุณภาพ
เนื่องในสัปดาห์แห่งความรัก ก่อนเข้าสู่วันวาเลนไทน์ THE STANDARD โอกาสได้สนทนากับ พีราณี ศุภลักษณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็กและความหลากหลายทางเพศ จาก เซฟ เดอะ ชิลเดรน เพื่อชวนเจาะลึกลงไปในปัญหาที่เยาวชน LGBTQIA+ ต้องเผชิญในสังคมไทย และจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไรเพื่อให้ไทยเป็นพื้นที่แห่งความเสมอภาคสำหรับคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง
พิราณี ศุภลักษณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็กและความหลากหลายทางเพศ จาก เซฟ เดอะ ชิลเดรน
สังคมที่กดทับเรื่องเพศ ต้นตอของอคติ
พีราณีเริ่มต้นด้วยการเล่าสภาพปัญหาจากที่ได้รับฟังมาจากเด็กและเยาวชน โดยปัญหาหลักจะอยู่ที่การรังแกหรือบูลลี่ (Bully) ในโรงเรียน และการยอมรับของครอบครัว มีเด็กบางคนที่ไม่สามารถอาศัยในบ้านได้ เพราะถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้
“รายงานวิจัยของ Save the Children ก็พบว่า ถ้ามีคนอย่างน้อย 1 คนในครอบครัวที่ยอมรับในตัวเด็ก จะเป็นตัวเพิ่มพลังสุขภาพจิตได้ดีมาก”
พีราณีมองว่าต้นตอของอคติและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศที่เกิดกับเยาวชนนั้น ประกอบไปด้วยหลายปัจจัย แต่สิ่งสำคัญคือสังคมไทยมีลักษณะที่มองว่าเรื่องทางเพศ เป็นเรื่องที่พูดไม่ได้ อีกทั้งกำหนดบรรทัดฐานให้การพูดเรื่องเพศ ต้องจำกัดอยู่ในเพศชายและหญิงตามมาตรฐานที่ดีของสังคมเท่านั้น
“ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สิ่งอื่นที่แปลกออกไปจากค่านิยมที่สังคมบอกว่าเป็นเรื่องที่ดี” พีราณีอธิบาย “อคติถูกส่งต่อมา ไม่ใช่แค่จากการเลี้ยงดูในครอบครัว แต่ในหลักสูตรการเรียนการสอนก็เช่นเดียวกัน เพราะในห้องเรียนก็ไม่ได้มีการพูดถึงครอบครัวที่หลากหลาย มีแค่ผู้ชายผู้หญิงคู่กัน”
พีราณีชี้ว่า ความเป็นมนุษย์มีความหลากหลาย รวมถึงเรื่องเพศ เพศไม่ใช่สิ่งไม่ดีที่พูดถึงไม่ได้ เพียงแต่สังคมไทยยังไม่ได้มีการปลูกฝังค่านิยมเหล่านั้น
ถึงกระนั้นเอง เด็กๆ ก็มีความดีใจที่สมรสเท่าเทียมได้บังคับใช้ เพราะรู้สึกได้ว่าไม่ต้องปิดบังตัวเองอีกต่อไป สามารถแสดงความรักได้เหมือนที่คนอื่นมี เป็นตัวของตัวเองได้มากขึ้นแล้ว
ที่สำคัญเยาวชนอาจมีความคาดหวังว่าสังคมจะเข้าใจพวกเขามากขึ้น จะไม่มีคำถามแปลกๆ มาจากภาครัฐ ตลอดจนตั้งคำถามว่า หลังจากสมรสเท่าเทียม เมื่อไรจะมีกฎหมายเปลี่ยนคำนำหน้านาม เปลี่ยนจาก ด.ช. เป็น ด.ญ. ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศเป็นเรื่องที่ต้องเดินหน้าต่อ
พีราณีเน้นย้ำว่า เรื่องคำนำหน้าหรือการกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เนื่องจากในระบบการศึกษายังมีจำกัดเพียงเพศชายและเพศหญิงตั้งแต่เกิด นับจากตอนจดสูจิบัตร ทำให้เด็กคนหนึ่งเข้าไปสู่โรงเรียนอนุบาล ต้องถูกตัดผม ถูกบังคับให้ใส่กระโปรงหรือกางเกงตามที่สังคมกำหนด โดยไม่มีอิสระในตัวเลือกอื่นๆ และหากไม่สามารถทำตามกฎได้ก็จะถูกลงโทษ
“จริงๆ แล้วเป็นเรื่องค่อนข้างหนักนะสำหรับชีวิตเด็กคนหนึ่ง ที่ต้องพยายามทำตัวให้อยู่ในกรอบตลอดเวลา”
บทบาทครอบครัว รับฟังเพื่อเติบโตไปด้วยกัน
พีราณียังเห็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกช่วงที่สื่อมวลชนให้ความสำคัญกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพราะพบว่าผู้ปกครองเริ่มสามารถพูดเกี่ยวกับสมรสเท่าเทียมได้ ไม่ว่าจะมีบุตรเป็น LGBTQIA+ หรือไม่ก็ตาม ผู้ปกครองต่างรู้สึกว่าจำเป็นต้องปรับตัว ทำความเข้าใจกับสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนไปสู่การโอบรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้นได้
“เด็กๆ เองเขาก็คิดว่า พ่อแม่ หรือคุณลุงคุณป้าที่บ้าน ดูซีรีส์วาย เขาเปิดรับมากขึ้น เห็นโลกมากขึ้นเลย”
ท้ายสุดกลับมาจบที่ว่า ผู้ปกครองทุกคนก็คงอยากเลี้ยงลูกให้เติบโตมาอย่างที่ตนเองจะรู้สึกภาคภูมิใจ แต่ผู้ปกครองอาจไม่ได้เข้าใจทุกเรื่องที่เด็กพูด ดังนั้น การรับฟังคือปัจจัยสำคัญ ผู้ปกครองควรจะสามารถรับฟังและยอมรับเด็กได้
“อาจไม่ต้องเข้าใจในทุกครั้ง หรือเข้าใจตั้งแต่ครั้งแรกที่เด็กพูด เพียงแต่ไม่ได้ห้ามหรือค้านในสิ่งที่เด็กพูด แต่ช่วยยืนอยู่เคียงข้างสิ่งที่ลูกหลานของตัวเองเป็น ให้เราเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เขาสามารถเล่าได้” พีราณีกล่าว
พีราณีมองว่า บทบาทของครอบครัวและผู้ปกครองควรจะเป็นผู้พร้อมสนับสนุน ซึ่งหากต้องการความช่วยเหลือ ผู้ปกครองก็สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เองได้ง่ายในปัจจุบันนี้ ในขณะเดียวกัน ลูกหลานเองอาจจะต้องรับฟังผู้ปกครองเช่นกัน ค่อยๆ ทำความเข้าใจว่าแต่ละคนเติบโตมาแตกต่างกัน ซึ่งจะช่วยกันสร้างวัฒนธรรมแห่งการรับฟังกันในครอบครัวด้วย
ถึงเวลาการศึกษาต้องเปลี่ยนตามสังคม
นอกจากสถาบันทางสังคมที่เล็กที่สุดอย่างครอบครัวแล้ว เรื่องการศึกษาที่บ่มเพาะประชากรขึ้นมา ก็ควรต้องปรับตามให้ทันด้วย เพราะทุกวันนี้หลักสูตรในปัจจุบันยังไม่ได้มีภาพของความหลากหลาย ยังคงปลูกฝังความเชื่อดั้งเดิมเรื่องเพศ ที่มีทั้งแบบที่ดีและไม่ดี ทั้งที่ความจริงหลักสูตรการศึกษาสามารถโอบรับความหลากหลายทางเพศได้มากกว่านี้
พีราณียกตัวอย่าง วิชาสุขศึกษา ที่สามารถสอนเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ ที่ไม่ได้นิยามแค่ว่ามีเพียงเพศชายและหญิง รวมถึงสอนให้เกิดความเข้าใจว่า เรื่องเพศเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์เท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่แปลกหรือผิดบาป แต่คือความเป็นคน
กล่าวโดยสรุปคือ พีราณีมองว่าหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศนั้น ไม่จำเป็นต้องสร้างวิชาใหม่ขึ้นมารองรับ แต่สามารถสอดแทรกเข้าไปในแต่ละวิชาที่มีอยู่แล้วได้
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมที่สืบทอดกันมานาน เช่น วันพ่อ วันแม่ อาจจะต้องเปลี่ยน เพราะที่ผ่านมาหลายครอบครัวไม่ได้มีลักษณะเป็นพ่อแม่ลูกอยู่แล้ว บ้างเป็นเลี้ยงเดี่ยว หรืออยู่กับปู่ย่า ตรงกันข้าม กิจกรรมนี้อาจสร้างบาดแผลให้เด็กด้วยซ้ำ จึงเสนอว่าควรปรับเป็นวันครอบครัว ที่มีนิยามกว้างไกลไปกว่า ‘พ่อ-แม่-ลูก’ เพราะครอบครัวเป็นพื้นที่ของความปลอดภัยและเติบโต ควรเป็นวันที่ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันมากกว่า ยิ่งมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ยิ่งเป็นเหตุผลให้เห็นความเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้เร็วขึ้น
ท้ายที่สุด อคติและความไม่เข้าใจของสังคมที่มีต่อเด็กและเยาวชน LGBTQIA+ มีที่มาหลักๆ จากค่านิยมทางสังคมที่ครอบคลุมทั้งผู้ปกครอง ครู ตลอดจนระบบการศึกษา พีราณีให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงค่านิยมทางสังคมต้องใช้เวลา แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ กฎหมายเพิ่งบังคับใช้เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่โรงเรียนอาจยังไม่ได้เปลี่ยนชั่วข้ามคืน
“เราอาจใช้สิ่งนี้เป็นโอกาสให้ทั้งเด็ก ครู ผู้ปกครอง ได้พูดคุยในเรื่องนี้ อาจจะค่อยๆ เปลี่ยนในอีก 10-20 ปี ส่วนตัวเห็นความหวังว่า เด็กๆ กำลังจะเติบโตในสังคมที่อย่างน้อยกฎหมายก็ให้การยอมรับว่า การสร้างครอบครัวเป็นสิทธิของทุกเพศ เรื่องนี้จะถูกมองว่าแปลกน้อยลง ปกติมากขึ้น และจะเริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเรื่องอื่นไปเรื่อยๆ” พีราณีทิ้งท้าย