×

ศศินทร์ จุฬาฯ ชี้การศึกษาไทยไม่เชื่อมโยงแผนเศรษฐกิจ คนรุ่นใหม่เบื่อง่าย ต้องเพิ่มทักษะ พร้อมปรับตัว

02.02.2018
  • LOADING...

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัท เวิร์กเดย์ เอเชีย แปซิฟิก ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ ‘Engaging Thailand’s Future Workforce -HR and Recruitment Trends 2018’ หรือเทรนด์การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล การสรรหาบุคลากรและความท้าทายที่บริษัทต้องพบเจอในปีนี้

 

ประเด็นสำคัญที่อาจารย์จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำเสนอคือ การที่ระบบการศึกษาไทยไม่เชื่อมโยงแผนพัฒนา เป็นเหตุให้แรงงานไทยในปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรและธุรกิจทำเงินของประเทศ ขณะที่ผู้ร่วมเสวนาเห็นตรงกันว่าองค์กรควรมีโปรแกรมฝึกพนักงานเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายได้

 

 

รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข รักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและประธานสายวิชาการจัดการกล่าวว่า “พูดในแง่นักวิชาการ ขอไม่โทษรัฐบาล ระบบการศึกษาของประเทศไทยไม่ได้โยงกับแผนพัฒนาเศรฐกิจมาตั้งแต่ต้น โรงเรียนอยากสอนอะไรก็สอน แม้รัฐบาลจะประกาศนโยบายเศรษฐกิจอะไรออกมาก็ตาม การที่ซีพีเปิดสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ขึ้นมาสะท้อนให้เห็นว่า สถาบันการศึกษาในปัจจุบันไม่สามารถป้อนแรงงานที่นายจ้างต้องการได้ คนตกงานมากที่สุด 16% มาจากปริญญาตรี สิ่งที่เราต้องการในตอนนี้คือสถาบันอาชีวศึกษา ซึ่งรัฐบาลชุดนี้เพิ่งจะมาเร่ง แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาผลิตบุคลากรอีกนาน

 

“4.0 ในไทยมาแบบกะพร่องกะแพร่ง มีคนไทยแค่ 10% เท่านั้นที่สามารถพูดภาษาอังกฤษและมีนวัตกรรมเป็นของตัวเองได้ ที่เหลือก็จะเป็น 3.0 แล้วไล่ลงไปเรื่อยๆ ตัวเลขนี้บอกว่าการศึกษาของเรามีปัญหา เพราะไม่ได้โยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าเราจะเป็น Hub ด้านการท่องเที่ยวและการแพทย์ ก็ควรจะผลิตบุคลากรขึ้นมาสนับสนุนสายงานนั้นๆ”

 

นอกจากนี้ รศ.ดร.ศิริยุพา ยังกล่าวเสริมด้วยว่า บริษัทหลายแห่งกำลังเผชิญปัญหาความขี้เบื่อของคนทำงานรุ่นใหม่ ยุคมิลเลนเนียลส์ ซึ่งมีสถิติตัวเลขขององค์กรทั่วโลกที่ระบุว่า ถ้าบริษัทรับคนทำงานรุ่นใหม่มา 100 คน เกือบ 70% จะลาออกกันหมด ส่วนอีก 30% นั่งทำงานในออฟฟิศแล้วหางานใหม่ไปด้วย

 

“ปัญหาคือนายจ้างจะต้องทำอย่างไรเพื่อดึงดูดพนักงานเหล่าน้ีให้อยู่กับองค์กรนานๆ ขณะที่คนสูงอายุก็ยังเกษียณไม่ได้ เพราะไม่มีบุคลากรขึ้นมาทดแทน ปรากฏการณ์ ‘Aging Society’ จึงเกิดขึ้นในหลายๆ องค์กร คนทำงานหลายช่วงวัยอยู่ในองค์กรเดียวกันและจะนำไปสู่ปัญหาความต้องการที่ต่างกัน นายจ้างเองก็ไม่สามารถเลือกลูกจ้างได้ เจ้าของกิจการในยุคนี้จึงต้องง้อลูกจ้างเป็นพิเศษ”

 

ด้าน วิไลพร ทวีลาภพันทอง หัวหน้าหุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) แสดงทัศนะว่า ความคาดหวังของลูกจ้างในปัจจุบันเปลี่ยนไป เพราะพนักงานหวังว่าองค์กรจะปฏิบัติกับเขาเสมือนลูกค้าคนหนึ่ง (Treat employee as customer) “อีกประเด็นคือคนรุ่นใหม่มีความต้องการและเป้าหมายที่หลากหลายแตกต่างกัน ดังนั้นควรจะมีโปรแกรมการพัฒนาพนักงานที่หลากหลายเพื่อให้องค์กรตอบโจทย์เขาได้ HR ในตอนนี้จึงควรเป็น ‘Next Gen HR’ เข้าใจและมีข้อมูลคนรุ่นใหม่ สามารนำศาสตร์ Analytics เข้ามาใช้ได้มากขึ้น

 

“ทักษะที่สำคัญของคนทำงานในปัจจุบันคือความเป็น Agile (กระฉับกระเฉง) พร้อมที่จะเปลี่ยนและปรับตัว ถ้ายังทำงานเหมือนเดิมไม่ยอมเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่คนที่องค์กรอยากได้ ยิ่งถ้าจะก้าวสู่ยุคดิจิทัลแล้วองค์กรไม่มีความเป็น Agile ก็ไปไม่ได้ ทั้งลูกจ้างและนายจ้างต้องฝึกทักษะนี้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ตัวเองและองค์กร”

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าไทยขึ้นชื่อในด้านการเป็นฐานทัพอุตสาหกรรมการผลิตที่แข็งแกร่งแห่งหนึ่งของโลก เรามีแรงงานเป็นจำนวนมากที่สามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ให้เดินหน้าได้ตลอดทั้งปี แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นหลุมพรางให้ผู้ประกอบการบางส่วนไม่ได้ทันมองการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation)

 

เดวิด โฮป ผู้จัดการใหญ่บริษัท เวิร์กเดย์ เอเชีย แปซิฟิก บอกว่า “เพราะความโชคดีที่ไทยมีเศรษฐกิจซึ่งอิงกับภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่แข็งแรง จึงทำให้การผลักดันและความต้องการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลไม่ได้จริงจังเท่าที่ควร แต่ในเวลาเดียวกัน นโยบาย 4.0 ของรัฐบาลก็เป็นส่วนประกอบสำคัญของการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทย แต่อาจจะไม่ได้เป็นไปอย่างรวดเร็ว”

 

พร้อมกันนี้เดวิดยังบอกอีกด้วยว่า องค์กรควรนำเทคโนโลยีและโปรแกรมการฝึกต่างๆ เข้ามาใช้เพื่อช่วยระบุตัวตนบุคลากรที่มีความสามารถในองค์กร พนักงานที่องค์กรควรจะต้องเก็บรักษาไว้ เพื่อช่วยสนับสนุนให้พวกเขาได้พัฒนาตัวเองผ่านโปรแกรมเทรนด์ที่ทำผ่านมือถือได้สะดวก

 

จากการเปิดเผยผลสำรวจของเว็บไซต์จัดหางาน jobsDB ในปี 2017 พบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจสมัครงานของคนไทยส่วนใหญ่ในอันดับแรกคือ การเติบโต ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน รองลงมาคือความมั่นคงของงานและวัฒนธรรมองค์กร-สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการทำงาน

 

ส่วนปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจสมัครงานของนักศึกษาจบใหม่ ได้แก่ การเติบโต ความก้าวหน้า ความมั่นคงในหน้าที่การงาน และความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ (ได้ทำงานร่วมกับทีมที่มีความเป็นผู้นำ และได้ทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานที่มีศักยภาพ)

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising