×
SCB Omnibus Fund 2024

ทางรอดเศรษฐกิจไทย ฝากไว้กับนโยบายวัคซีน

16.04.2021
  • LOADING...

ตั้งแต่ที่มีการคิดค้นและทดลองวัคซีนป้องกันโควิด-19 จนประสบผลสำเร็จในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นหลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนกันได้มากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มมีอัตราการติดเชื้อที่ลดลงรวดเร็วอย่างเห็นได้ชัด อีกหลายประเทศคาดกันว่าน่าจะเข้าสู่ภาวะ Herd Immunity ได้ในเร็วๆ นี้ และกำลังจะสามารถกลับมาเปิดเมือง ฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจกันได้เต็มที่มากขึ้น

 

ในขณะที่ประเทศที่จัดหาและฉีดวัคซีนได้ล่าช้า (รวมถึงหลายประเทศในยุโรปและประเทศไทยด้วย) กำลังเผชิญกับการระบาดรอบ 3 รอบ 4 ยังคงต้องมีมาตรการล็อกดาวน์จนเศรษฐกิจและธุรกิจได้รับผลกระทบอีกครั้ง ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ง่ายๆ และมีโอกาสที่ ‘ปัญหาชั่วคราว’ จะทำให้เกิด ‘แผลเป็น’ แบบถาวรให้กับธุรกิจและเศรษฐกิจได้

 

อาจพูดได้ว่าตอนนี้ ‘นโยบายวัคซีน’ ได้กลายเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ และอาจจะสำคัญมากกว่านโยบายการเงินหรือนโยบายการคลังเสียอีก

 

แต่สงสัยไหมครับ ที่มีคนถกเถียงกันเรื่องประสิทธิผลของวัคซีน และตั้งคำถามว่า การฉีดวัคซีนนั้นเพื่อลดการติดเชื้อหรือลดความรุนแรงของโรคกันแน่ และที่บอกกันว่า ประเทศจะมี Herd Immunity ได้ จะต้องฉีดวัคซีนหรือมีคนติดเชื้อเท่านั้นเท่านี้ ตัวเลขนี้มาจากไหน คิดจากอะไร และประสิทธิผลของวัคซีนมีผลอย่างไรกับ Herd Immunity

 

ก่อนอื่นต้องออกตัวว่านี่คือการวิเคราะห์แบบคร่าวๆ จากมุมมองนักวิเคราะห์เท่านั้น ไม่ได้เอารายละเอียดปลีกย่อยระยะสั้น และรายละเอียดด้านระบาดวิทยามาใส่ จึงมีหลายประเด็นที่ไม่ถูกนำมาพิจารณา

 

เราฉีดวัคซีนไปทำไม?

ตอนนี้เรามีวัคซีนสำหรับป้องกันโควิด-19 ถูกนำมาใช้หลายตัว และใช้เทคโนโลยีหลายประเภท วัคซีนแต่ละตัวมีการวัด ‘ประสิทธิผล’ ของวัคซีนในงานวิจัยแบบที่เรียกว่า Randomized Control Trial และมีการตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับ โดยการแบ่งกลุ่มอาสาสมัครแบบสุ่มเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งฉีดวัคซีน อีกกลุ่มไม่ฉีด แล้วนับดูว่าสัดส่วนผู้ติดเชื้อในแต่ละกลุ่มแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ถ้ากลุ่มที่ฉีดวัคซีนมีผู้ติดเชื้อน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนอยู่มาก ก็เรียกว่าวัคซีนมีประสิทธิผลสูง แต่ถ้า 2 กลุ่ม มีสัดส่วนผู้ติดเชื้อใกล้เคียงกัน ก็เรียกว่าวัคซีนมีประสิทธิผลต่ำ

 

แต่ก็มีหลายคนทักท้วงว่า เราไม่ควรนำตัวเลขประสิทธิผลของวัคซีนแต่ละชนิดมาเปรียบเทียบกัน เพราะการทดลองและวัดผลไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่และเวลาเดียวกัน อัตราการติดเชื้อไม่เท่ากัน อาจจะเทียบกันไม่ได้

 

และเราไม่ได้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อเท่านั้น แต่เราฉีดวัคซีนไปเพื่อลดความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิตด้วย เพื่อทำให้โรคระบาดร้ายแรงกลายเป็นโรคธรรมดาที่มีความรุนแรงน้อยลง เราจึงควรพิจารณาความสำเร็จของวัคซีนในการลดความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิตด้วย

 

อีกทั้งองค์การอนามัยโลกยังระบุว่า วัคซีนที่มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อได้เกิน 50% ก็ยอมรับได้แล้ว (และวัคซีนที่เราใช้กับหลายๆ โรคในปัจจุบันก็ไม่ได้มีประสิทธิผล 100%)

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญก็คือวัคซีนที่มีประสิทธิผลสูงที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันอยู่ได้นาน อาจมีส่วนช่วยทำให้เราสามารถเข้าสู่ภาวะ Herd Immunity ได้เร็วขึ้น ในขณะที่วัคซีนที่มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อได้ต่ำ แม้จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ แต่ไม่ช่วยเรื่องการยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อไปยังกลุ่มที่ยังไม่ฉีดวัคซีน จึงทำให้การเข้าสู่ Herd Immunity ยิ่งช้าออกไป หากเราไม่สามารถฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมพอ

 

แล้วเราจะมี Herd Immunity ได้เมื่อไร?

ถ้าใครติดตามข่าวสารตั้งแต่มีโควิด-19 มา จะได้ยินตัวแปรตัวหนึ่งเสมอๆ นั่นคือค่า R หรือค่าระดับการติดเชื้อ ซึ่งหมายความว่าผู้ติดเชื้อ 1 คน สามารถแพร่กระจายเชื้อไปให้คนอื่นๆ ได้อีกกี่คนโดยเฉลี่ย

 

ลองคิดตามง่ายๆ ว่า ถ้าค่า R เป็น 2 และใช้เวลาในการติดเชื้อ 1 วัน ผู้ติดเชื้อ 1 คน สามารถติดให้กับคนอื่นอีก 2 คนโดยเฉลี่ย ถ้าวันนี้มีผู้ติดเชื้อ 1 คน พรุ่งนี้ก็จะติดไปให้อีก 2 คน วันถัดไปจะมีคนติดใหม่เพิ่ม 4 คน วันถัดไป 8 คน, 16 คน ทวีคูณไปเรื่อยๆ (ทางคณิตศาสตร์อาจจะเรียกว่าเพิ่มขึ้นแบบ Exponential) ภายใน 10 วัน อาจจะมีคนติดเชื้อใหม่มากกว่า 1,000 คนต่อวัน จากจุดเริ่มต้นเพียงแค่คนเดียว

 

ถ้าค่า R เป็น 3 วันนี้ติด 1 คน พรุ่งนี้จะมีคนติดเชื้อใหม่ 3 คน วันถัดไป 9 คน, 27 คน, 81 คน … และภายในแค่ 10 วัน จะมีคนติดเชื้อใหม่ได้ถึงเกือบๆ 60,000 คนต่อวันเลยทีเดียว

 

ตัวเลขที่สำคัญของกรอบการคิดแบบนี้คือ ถ้าเราสามารถปรับลดค่าระดับการติดเชื้อลงมาเหลือเท่ากับหนึ่งหรือน้อยกว่าได้เมื่อไร จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จะเริ่มคงที่หรือค่อยๆ ลดลง และถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ น่าจะเรียกได้ว่าเราเข้าสู่ภาวะ Herd Immunity คือมีภูมิคุ้มกันหมู่เพียงพอที่จะทำให้การแพร่ระบาดหากเกิดขึ้นแล้วจะมีการติดเชื้อน้อยลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายหายไปเองได้

 

แล้วค่า R นี้ขึ้นอยู่กับอะไร? ถ้าคิดแบบง่ายสุดๆ ค่าระดับการติดเชื้อขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือ ค่าระดับการติดเชื้อพื้นฐาน (Basic reproduction rate หรือ R0 หรือ R-naught) และสัดส่วนของคนที่มีภูมิคุ้มกันแล้ว (จะผ่านการฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อมาแล้วก็ตาม)

 

ค่าระดับการติดเชื้อพื้นฐาน R0 คือจำนวนคนที่ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่กระจายโรคไปได้ในกรณีที่ไม่มีการแทรกแซงใดๆ ซึ่งอัตรานี้ขึ้นอยู่กับวิธีการแพร่กระจายของโรค (เช่น แพร่ผ่านหยดน้ำทางการหายใจ หรือแพร่ทางอาหาร) และคุณลักษณะของตัวเชื้อโรคนั้นๆ ว่ามีความสามารถในการแพร่กระจายได้รวดเร็วแค่ไหน เช่น โรคหวัดมีค่า R0= 1-2, SARS มีค่า R0 = 3-5, โรคหัดมีค่า R0 = 12-18 เป็นต้น

 

มีการประมาณกันว่า โควิด-19 มีค่า R0 ประมาณ 2-3

 

ทางรอดเศรษฐกิจไทย

 

และค่าระดับการติดเชื้อขึ้นอยู่กับสัดส่วนของคนที่มีภูมิคุ้มกันแล้วด้วย เช่น ถ้าตัวโรคเองมีความสามารถในการแพร่กระจายได้ 3 คนโดยเฉลี่ย แต่ในกลุ่มประชากรโดยเฉลี่ยได้รับวัคซีนและมีภูมิคุ้มกันไปแล้วครึ่งหนึ่ง แปลว่าอัตราการติดเชื้อของโรคอาจจะลดลงเหลือแค่ 1.5 โดยเฉลี่ยก็ได้ เราอาจจะเขียนเป็นสมการได้ว่า

 

 

ถ้ามีคำถามว่า จะต้องฉีดวัคซีนกี่คน จึงจะทำให้อัตราการแพร่กระจาย (R) น้อยกว่าหนึ่ง เราสามารถแก้สมการข้างบน และตอบได้ว่า ต้องฉีดวัคซีนอย่างน้อย

 

 

ถ้าโควิด-19 มีค่า R0 = 3 และวัคซีนมีประสิทธิผล 100% (คือฉีดแล้วมีภูมิคุ้มกันทันที และมีภูมิคุ้มกันตลอดไป) เราต้องฉีดวัคซีนกันอย่างน้อยประมาณ 2/3 หรือ 66 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ก็น่าจะพอที่จะทำให้ค่า R ลดลงมาต่ำกว่า 1 และมี Herd Immunity ในระยะยาวได้

 

เราอาจจะทำให้การวิเคราะห์ยากขึ้น โดยพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น มาตรการแทรกแซง (S) จากงานวิจัยพบว่า การปิดเมืองและการใส่หน้ากากน่าจะมีส่วนลดการแพร่กระจายของเชื้อได้ถึง 40-60% และเราอาจจะพิจารณาถึงประสิทธิผลของวัคซีน (E) และสัดส่วนของผู้ติดเชื้อและมีภูมิคุ้มกันแล้ว (I) ด้วย (ซึ่งในไทยน่าจะมีน้อยมาก แต่ถ้าจะให้มี Herd Immunity เพราะติดโรคกันเยอะๆ คงมีความเสี่ยงต่อระบบสาธารณสุขพอควรทีเดียว)

 

 

และเราสามารถหาสัดส่วนของประชากรน้อยที่สุดที่เราต้องฉีดวัคซีน เพื่อที่จะได้ Herd Immunity ได้ เท่ากับ

ถ้าเราต้องการให้เศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติในระยะยาว โดยไม่ต้องใช้มาตรการแทรกแซง เช่น มาตรการล็อกดาวน์หรือระยะห่างทางสังคมแล้ว ค่า S ควรจะกลับไปเท่ากับ 1  

 

ภายใต้กรอบนี้ เราสมมติให้ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อและการฉีดวัคซีนต้องอยู่ตลอดไป คนที่มีภูมิคุ้มกันแล้ว (ฉีดวัคซีนแล้ว) น่าจะไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อต่อไปได้ และค่าแพร่กระจายเชื้อพื้นฐาน (R0) ต้องไม่เพิ่มขึ้น ถ้าภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นแล้วหายไป เราคงต้องมีการฉีดวัคซีนซ้ำเพิ่มเรื่อยๆ นอกจากนี้ตอนนี้เชื้อที่แพร่กระจายอยู่ในประเทศไทยอาจจะเป็นเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7) ที่มีการกลายพันธุ์จนสามารถแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น และมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ปกติ จำนวนวัคซีนที่ต้องการก็จะต้องมากขึ้นไปอีก

 

แล้วไทยจะหวัง Herd Immunity ได้เมื่อไร?

ถ้าพิจารณาตามกรอบข้างบน การเกิด Herd Immunity ได้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือความร้ายกาจของตัวเชื้อโรคเองในการแพร่ระบาด (R0) และประสิทธิผลของวัคซีนที่เราเลือกใช้ (E) หากเราลองตัดปัจจัยอื่นๆ ออกไปก่อน พิจารณาแค่ 2 ปัจจัยนี้ สมมติว่าค่า R0 ของโควิด-19 ที่แพร่ระบาดตอนนี้อยู่ที่ 2.5

 

วัคซีน 2 ตัวที่รัฐบาลไทยเราจะจัดซื้อมาให้คนไทยใช้คือ Oxford / AstraZeneca ของอังกฤษ และ Sinovac ของจีน โดย AstraZeneca มีประสิทธิผลอยู่ที่ราว 70% ประสิทธิผลของวัคซีน Sinovac อยู่ที่ประมาณ 50% ถ้าเปรียบเทียบกับวัคซีนตัวอื่นๆ แล้วถือว่ามีประสิทธิผลต่ำกว่า วัคซีนอย่าง Pfizer และ Moderna ที่ใช้กันมากในสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล มีรายงานผลวิจัยว่าประสิทธิผลสูงถึง 95% 

 

ทางรอดเศรษฐกิจไทย

 

แต่ตัวเลขประสิทธิผลที่ต่ำกว่านี้ไม่ได้หมายความว่าถ้าเรามีวัคซีนแล้วไม่ควรฉีดวัคซีนนะครับ เรายังคำนึงถึงผลข้างเคียงและความสามารถของวัคซีนในการช่วยลดความรุนแรงของโรคด้วย

 

AstraZeneca ที่เราเลือกใช้เป็นวัคซีนหลัก ก็มีปัญหาเรื่องผลข้างเคียงที่เป็นที่ถกเถียงกันในต่างประเทศอีก ซึ่งอาจจะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก แต่ดูเหมือนว่าเราไม่มีทางเลือกมากนัก

 

ในกรณีที่ R0 เท่ากับ 2.5 และประสิทธิผลของวัคซีน AstraZeneca ที่เราจะใช้เป็นส่วนใหญ่อยู่ที่ 70% คนไทยเราต้องฉีดวัคซีนให้ได้ครอบคลุมถึง 85% ของประชากรทั้งหมด ถึงจะเกิด Herd Immunity ได้

 

แต่นั่นหมายถึงเราต้องการวัคซีนให้ได้ถึง 120 ล้านโดส (สำหรับประชากรประมาณ 60 ล้านคน) ซึ่งปัจจุบันเรายังไม่สามารถหาวัคซีนได้มากขนาดนั้น และถึงแม้ว่าเราจะหาได้ ถ้าเราต้องการให้ได้ Herd Immunity ภายในสิ้นปีนี้ ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ถึงวันละมากกว่า 5 แสนโดส ในช่วง 7 เดือนที่เหลือของปีนับจากที่จะได้รับวัคซีนล็อตใหญ่ในเดือนพฤษภาคม ถึงจะฉีดได้ครบ 85% ของประชากรภายในปีนี้!

 

ถ้าจะให้ได้ 50% ของประชากรภายในสิ้นปีตามเป้าหมายของรัฐบาล ก็ต้องฉีดวัคซีนให้ได้มากกว่า 3 แสนโดสต่อวัน ซึ่งก็ยังเป็นเป้าที่ท้าทายอยู่ดี

 

ถ้าประเมินกันตามความเป็นจริงที่อาจจะคาดหวังได้บ้าง ประเทศไทยน่าจะสามารถเข้าสู่ภาวะ Herd Immunity อย่างเร็วที่สุดได้ภายในกลางปีหน้า ถ้าเราสามารถหาวัคซีนมาเพิ่มได้

 

ท่ามกลางความไม่แน่นอน

อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ มีสิ่งที่เราไม่รู้เกี่ยวกับโรคนี้มากมาย และการที่เรามีวัคซีนใช้กันภายใน 1 ปีหลังเจอเชื้อ ต้องถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของมวลมนุษยชาติแล้ว (วัคซีนปกติอาจจะใช้เวลาถึง 5-10 ปี)

 

มีผู้เชี่ยวชาญที่ตั้งข้อสังเกตว่า ถึงเราจะมีวัคซีนที่มีประสิทธิผลใช้กันแล้ว มีความเป็นไปได้ที่ภาวะ Herd Immunity อาจจะไม่สามารถเกิดได้ เพราะเรามีสิ่งที่ไม่รู้อีกเยอะ เช่น ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนจะคงอยู่ได้ยาวนานแค่ไหน? คนฉีดวัคซีนแล้วสามารถติดเชื้อและแพร่เชื้อต่อได้หรือไม่? วัคซีนจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีการกลายพันธุ์ตลอดเวลาหรือไม่? ถ้าการฉีดวัคซีนไม่กระจายตัว (เช่น ฉีดกันเฉพาะผู้ใหญ่ ไม่ได้ฉีดเด็ก หรือฉีดเฉพาะคนกรุงเทพฯ) ถึงเราฉีดครบจำนวนขั้นต่ำแล้ว ก็อาจจะยังเกิดการระบาดเฉพาะกลุ่มได้ นอกจากนี้การฉีดวัคซีนอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น คนที่ฉีดแล้วอาจจะไม่ระมัดระวังตัว ออกไปพบผู้คนมากขึ้น ก็อาจจะทำให้ความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อเพิ่มขึ้นได้

 

ต้นทุนทางเศรษฐกิจอาจจะแพงกว่าต้นทุนวัคซีน

อย่างไรก็ดี จนกว่าเราจะสามารถมี Herd Immunity ได้ เรายังคงต้องเจอกับความเสี่ยงที่การระบาดของโรคจะกลับมาอยู่เรื่อยๆ อาจจะต้องมีการล็อกดาวน์ ต้องใช้มาตรการระยะห่างทางสังคมอย่างต่อเนื่อง เราอาจจะไม่สามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศได้อีกสักพัก เศรษฐกิจจะยังไม่สามารถกลับไปที่ระดับที่ควรจะเป็นได้ เหมือนบังคับให้ธุรกิจและเศรษฐกิจกลั้นหายใจอยู่ตลอดเวลา 

 

ภาวะเช่นนี้ยังคงอยู่นานเท่าไร ธุรกิจและเศรษฐกิจไทยคงหลีกเลี่ยงรอยแผลเป็นถาวรที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ ผลกระทบที่จะตามมาต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน อาจจะแพงกว่าต้นทุนค่าวัคซีนเป็นไหนๆ

 

แม้จะมีความไม่แน่นอนอยู่อีกมากในเรื่องวัคซีน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ ตอนนี้ นโยบายด้านวัคซีนดูเหมือนจะเป็นทางออกที่เหลืออยู่ (ทางเดียว) ของเรา ที่ผ่านมาต้องถือว่าเราช้ามากในการจอง จัดซื้อ กระจาย และฉีดวัคซีน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ คงต้องติดตามดูว่าประเทศไทยเราจะกลับมาแก้เกม เร่งหาทางออก และสร้างความหวังด้านวัคซีน ให้กับคนไทยได้เร็วช้าแค่ไหน 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising