×

ส่องความเห็นกูรูเศรษฐศาสตร์ ผู้ประกอบการ และตลาดทุน เศรษฐกิจไทยรอได้หรือไม่หากตั้งรัฐบาลช้า 10 เดือน?

24.07.2023
  • LOADING...

เสียงเรียกร้องจากประชาชนบางส่วนให้ชะลอการจัดตั้งรัฐบาลออกไปอีก 10 เดือน โดยปล่อยให้รัฐบาลรักษาการทำหน้าที่ไปจนกว่าสมาชิกวุฒิสภา 250 คนจะหมดวาระลงในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 แล้วจึงเริ่มโหวตนายกรัฐมนตรีและฟอร์มคณะรัฐมนตรีเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ 

 

หากวัดจากกระแสในโลกโซเชียล ดูเหมือนว่าแนวคิดนี้จะได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนจำนวนไม่น้อย เช่น กรณีที่เพจ Drama-addict ได้ทดลองสอบถามความเห็นของประชาชนว่าจะยอมให้การชะลอการตั้งรัฐบาลออกไปอีก 10 เดือนจนกว่า ส.ว. จะหมดวาระหรือไม่ ปรากฏว่ามีผู้ที่เข้ามาตอบว่ายอมเกือบ 60,000 บัญชี ขณะที่เสียงที่ระบุว่าไม่ยอมมีเพียง 590 บัญชี

 

ในมุมของคนที่สนับสนุนแนวคิดให้ชะลอการตั้งรัฐบาลออกไปส่วนใหญ่จะระบุว่า ต้องการเห็นการจัดตั้งรัฐบาลที่สะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และการรอต่อไปอีก 10 เดือนนั้นยังดีกว่าต้องทนอยู่กับการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลชุดเดิมต่อไปอีก 4 ปี ขณะที่ในมุมของคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวก็นำเอาเหตุผลเรื่องความเสียหายทางเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของประชาชนที่ไม่อาจรอได้มารองรับความคิดทางฝั่งของตัวเองเช่นกัน

 

เพื่อไขข้อสงสัยว่า อะไรคือราคาที่เศรษฐกิจไทยต้องจ่ายภายใต้ฉากทัศน์ที่รัฐบาลรักษาการต้องทำหน้าที่ต่อไปอีก 10 เดือน THE STANDARD WEALTH จึงสอบถามความเห็นไปยังนักเศรษฐศาสตร์และตัวแทนจากภาคเอกชน ทั้งภาคอุตสาหกรรม และการค้าและการลงทุน นี่คือคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้

 

ห่วงสร้างช็อกเศรษฐกิจปีหน้า กระทบความเชื่อมั่นระยะยาว

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ให้มุมมองว่า ภายใต้สมมติฐานที่การจัดตั้งรัฐบาลจะยังไม่เกิดขึ้นไปอีก 10 เดือน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายที่ปัจจุบันมีความล่าช้าอยู่แล้วจะยิ่งล่าช้าออกไป ซึ่งจะถือเป็นช็อกทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า เพราะเศรษฐกิจไทยจะขาดแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนใหม่ๆ ของภาครัฐ

 

ขณะเดียวกันการที่ไทยยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ก็จะทำให้นักลงทุนแห่งชาติเข้าสู่โหมด Wait & See หรือลังเลที่จะเข้ามาลงทุนในบ้านเรา โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่คุ้นเคยกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของไทย ส่วนกลุ่มที่คุ้นเคยอยู่แล้วและเคยมีประสบการณ์จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในรอบก่อนๆ อาจไม่ส่งผลกระทบมากนัก

 

นอกจากนี้การลงทุนขนาดใหญ่จากภาคเอกชนในประเทศเองก็คงจะไม่คึกคัก เพราะต้องรอดูความชัดเจนทางนโยบายของรัฐบาลใหม่ ในเวลาเดียวกันประเทศก็จะขาดรัฐบาลที่จะเข้ามาวางนโยบายรับมือกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่างๆ เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลกที่สหรัฐฯ กำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เศรษฐกิจจีนเริ่มมีปัญหา รวมถึงปัญหาภัยแล้ง และอีกหลายเรื่องที่รอการแก้ไขอยู่

 

“ผลกระทบจะยังไม่เห็นในปีนี้ แต่จะไปเริ่มเห็นในปีหน้า เพราะต่อให้ตั้งรัฐบาลได้ในเดือนสิงหาคมนี้เลย กว่าที่จะมีงบประมาณใหม่ออกมาใช้คงเป็นช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงเมษายนปีหน้าอยู่ดี ถ้าต้องรอรัฐบาลใหม่อีก 10 เดือนงบก็จะขยับล่าช้าออกไปอีก 6 เดือน แต่คงไม่ถึงขั้นเป็นหน้าผาการคลัง หรือ Fiscal Cliff เพราะงบประจำและงบลงทุนที่อนุมัติไปแล้วยังเบิกจ่ายได้” อมรเทพกล่าว

 

อมรเทพประเมินว่า ในกรณีที่ต้องรอการจัดตั้งรัฐบาลไปอีก 10 เดือน GDP ไทยในปีหน้าอาจขยายตัวได้แย่กว่าระดับที่เคยมองไว้ที่ 3.6-3.7% แต่จะยังขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3% เนื่องจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐมีน้ำหนักต่อ GDP ไทยอยู่ที่ไม่เกิน 20% เท่านั้น โดยเชื่อว่า การท่องเที่ยวจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยต่อไปในปีหน้า

 

“เศรษฐกิจคงไม่ถึงกับทรุด แต่เราจะเสียโอกาสที่จะโตได้มากขึ้น แน่นอนว่าการมีรัฐบาลเร็วย่อมดีกว่า แต่ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเช่นกันคือ หากมีรัฐบาลเร็วแบบข้ามขั้วแล้วเกิดการชุมนุมประท้วงรุนแรงและยืดเยื้อ ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจะถูกกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีนที่อ่อนไหวกับเรื่องพวกนี้ ในกรณีที่มีการประท้วงจนกระทบการท่องเที่ยวช็อกจะเกิดตั้งแต่ปีนี้เลย แต่เป็นเรื่องยากที่จะประเมินว่าแบบไหนเจ็บกว่ากัน” อมรเทพกล่าว

 

ขณะที่ สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EIC และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้ความเห็นว่า หากถามว่าต้องรอการตั้งรัฐบาลไปอีก 10 เดือน เศรษฐกิจไทยจะพังหรือไม่ คำตอบคือคงไม่พัง แต่เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติพอสมควร เพราะมันสะท้อนว่าไทยไม่มีกลไกที่นำไปสู่รัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ ซึ่งอาจกลายเป็นภาพจำของนักลงทุนต่างชาติที่มองเราเหมือนคนป่วย คนอ่อนแอ คนที่มีแผนจะเข้ามาลงทุนก็จะพิจารณาถึงปัจจัยนี้ด้วย

 

อีกประเด็นสำคัญคือ การขาด Direction ด้านนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญในปัจจุบัน เพราะเงินทุนกำลังไหลเข้ามาในอาเซียนเยอะ ซัพพลายเชนโลกกำลังเขย่าตัวออกเป็นหลายๆ วง ไทยจำเป็นต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพื่อที่จะเข้าไปอยู่ในวงต่างๆ เหล่านี้ให้ได้ 

 

“ตอนนี้ทั่วโลกกำลังหาคู่กันอยู่ หากเราหายไป 10 เดือน หรือ 1 ปี เราอาจเสียโอกาสตรงนี้ไป การมีรัฐบาลที่จะไปต่อรอง เจรจา และสร้างความร่วมมือต่างๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญ การมีความชัดเจนจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในระยะยาวได้มากกว่า ยิ่งรออาจยิ่งมีความไม่แน่นอน หากสามารถตั้งรัฐบาลใหม่ได้ก็ควรมีไปก่อนจะดีกว่า” สมประวิณกล่าว

 

ส.อ.ท. เผย เอกชนไทยรอได้ แต่ต่างชาติอาจไม่รอ

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. ยังยืนยันตามมติของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ขอให้การจัดตั้งรัฐบาลอยู่ในไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้ เพราะหากล่าช้าออกไปจะยิ่งเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้จะต้องรอดูความชัดเจนของการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

 

ขณะเดียวกันกรณีที่มีการเสนอแนวทางรอให้ผ่าน 10 เดือนแล้วจึงค่อยโหวตนายกฯ หลัง ส.ว. หมดอำนาจนั้น ประเด็นนี้เพิ่งจะได้รับทราบข้อมูล เข้าใจดีว่าเป็นข้อเสนอทางการเมือง ถามว่าหากเป็นเช่นนั้นจริงภาคเอกชนจะรอได้หรือไม่ นักลงทุนไทยอาจชะลอไปก่อนได้มากที่สุดก็ 6 เดือน – 1 ปี แต่ระหว่างนั้นต้องหารือถึงความเป็นไปได้ว่าไหวหรือไม่ มีแนวทางอย่างไร

 

แต่ที่น่าห่วงคือ การลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนต่างรอความชัดเจนของสถานการณ์การเมือง นักลงทุนส่วนใหญ่รอได้มากสุดเดือนเดียว และรอไม่ได้นาน เพราะฉะนั้นความไม่ชัดเจนเหล่านี้จะทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจตัดสินใจย้ายไปลงทุนประเทศอื่น

 

“ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังปรับการผลิตไปสู่การลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นสูงอย่างชิปและพลังงานสะอาด เพื่อรองรับบริษัทต่างชาติที่ย้ายฐานมาไทย กรณีที่รอโหวตนายกฯ 10 เดือนอาจทำให้นักลงทุนลังเลหรือเปลี่ยนใจ โดยเฉพาะขณะนี้ตลาดเซียนก็แผ่วลง ทำให้เราและเพื่อนบ้านแข่งขันกันเอง” เกรียงไกรกล่าว

 

ดังนั้นขณะนี้เศรษฐกิจไทยเจอทั้งปัจจัยทางการเมืองล่าช้าและเอลณีโญกระทบภาคเกษตร ภาวะเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยตอนนี้ดีที่สุดคือการท่องเที่ยว ซึ่งตรงนี้ก็ต้องคำนึงอีกว่า หากเกิดการชุมนุมประท้วงไปเรื่อยๆ อาจทำให้บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวเสียไปได้ และในช่วงปลายปีเป็นช่วงไฮซีซัน ซึ่งภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อน GDP ที่สำคัญในปีนี้ทดแทนการส่งออกที่ติดลบ

 

หอการค้ามองการเมืองลากยาว GDP เสี่ยงหาย 1-2%

 

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้หอการค้าได้ประเมินสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ไว้เป็น 2 กรณี

 

กรณีแรกคือหากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ทันที และลากยาวไป 10 เดือน – 1 ปี ก็ทำให้รัฐบาลรักษาการยังคงบริหารประเทศไปพรางระหว่างนี้ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือรัฐบาลรักษาการจะไม่สามารถใช้นโยบายกระตุ้นทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งเศรษฐกิจไทยคงต้องฟื้นตัวตามธรรมชาติตามภาพรวมเศรษฐกิจโลก ทั้งการท่องเที่ยวและส่งออกที่ยังต้องรอลุ้นตัวเลขว่าจะสามารถพลิกกลับมาบวกในปีนี้ได้หรือไม่ ส่วนการลงทุนในประเทศจะชะลอตัวจากการรอความชัดเจนของทิศทางนโยบายรัฐบาล โดยคาดว่าประเทศจะขาดการลงทุนใหม่หลายแสนล้านบาทในช่วง 10 เดือน – 1 ปี และประเมินว่าอาจทำให้ GDP หายไป 1-2% ซึ่งถือเป็นการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจมหาศาล

 

อีกหนึ่งกรณีคือ หากการจัดตั้งรัฐบาลสามารถทำได้ทันทีจากพรรคการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ ทำให้เกิดรัฐบาลใหม่ที่ได้ฉันทามติจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. รวมทั้งกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลยังถือว่าอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งส่วนนี้จะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งเศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสเติบโตได้ 3.5 หรือใกล้เคียง 4% ภายใต้รัฐบาลที่เข้มแข็ง

 

ดังนั้นภาคเอกชนยังยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องมีรัฐบาลให้รวดเร็วที่สุด เพื่อเข้ามาบริหารจัดการเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวในขณะนี้ โดยหวังว่าทุกฝ่ายจะสามารถหาทางออกให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

 

รอ 10 เดือนโหวตนายกฯ เสี่ยงฉุดหุ้นนิวโลว์

 

อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ กล่าวถึงกรณีที่มีข้อเสนอให้ชะลอการจัดตั้งรัฐบาลออกไป 10 เดือน ว่า หากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นจริงจะเป็นปัจจัยลบกดดันเศรษฐกิจและภาพการลงทุนในตลาดหุ้นมากที่สุด ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะกดดันให้ SET Index ปรับตัวลดลงทำจุดต่ำสุดใหม่ (นิวโลว์) อีกครั้ง หรือลดลงมาหลุดต่ำกว่าจุดต่ำสุดเดิมที่เคยทำไว้ที่ 1,460 จุด อีกทั้งหากเกิดกรณีที่สหรัฐฯ เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีความเสี่ยงที่กดดันให้ SET Index จะลดลงไปแตะระดับ 1,400 จุด 

 

นอกจากนี้ยังประเมินว่า แม้จะสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ก็จะมีผลให้มีการอนุมัติเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายล่าช้าออกไปประมาณ 3 เดือน แต่หากเกิดกรณีรอเวลาอีก 10 เดือน เพื่อให้ ส.ว. ครบวาระ ก็จะมีผลกระทบให้การอนุมัติเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายล่าช้าออกไปอีกไม่น้อยกว่า 9 เดือน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการลงทุนภาครัฐให้ล่าช้าออกไป และมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมถึงกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ

“กรณีรอไปอีก 10 เดือนเพื่อให้ ส.ว. ครบวาระในช่วงกลางปี 2567 แล้วค่อยกลับมาโหวตนายกฯ มองว่ากรณีนี้เป็นไปได้น้อย แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกัน แต่หากเกิดขึ้นก็คงแย่ จะมีผลกระทบเกิดขึ้นตามมาค่อนข้างมาก เพราะหมายถึงประเทศจะเข้าสู่สุญญากาศที่แท้จริง เพราะจะไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มมาบริหารประเทศ” อภิชาติกล่าว

 

อย่างไรก็ดี หากมีสัญญาณชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยจะยกเลิก MOU ของพรรคร่วม 8 พรรค โดยไปรวมเสียง ส.ส. หรือ ส.ว. กับขั้วตรงข้ามพรรคก้าวไกล เพื่อตั้งรัฐบาล และพรรคก้าวไกลสลับขั้วไปเป็นฝ่ายค้าน ก็มีโอกาสที่ในช่วงแรก SET Index จะตอบรับในเชิงบวก ก่อนขึ้นไปทดสอบระดับ 1,550 จุด หรือสูงกว่าระดับดังกล่าว เพราะส่งผลให้ภาพปัจจัยการเมืองมีความชัดเจนขึ้น

 

ขณะเดียวกันต้องติดตามการชุมนุมหรือม็อบที่จะมีการเคลื่อนไหวหากเกิดกรณีพรรคก้าวไกลมีการสลับขั้วกลับเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งมีความเสี่ยงที่ม็อบจะยกระดับการชุมนุมให้เกิดความรุนแรงตามมาได้

 

ด้าน กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.กรุงศรี พัฒนสิน กล่าวว่า ปัจจัยการเมืองภายในประเทศของไทยในขณะนี้ที่ยังมีความไม่ชัดเจน ถือเป็นประเด็นหลักที่กดดันตลาดหุ้นไทยให้ Underperform อยู่ในขณะนี้ โดย บล.กรุงศรี พัฒนสิน ประเมินรูปแบบในการจัดตั้งรัฐบาลไว้เป็น 2 Scenarios ดังนี้

 

Scenario ที่ 1 คือ พรรคร่วม 8 พรรคที่เซ็น MOU เดิม สามารถเชิญพรรคภูมิใจไทยเข้ามาโหวตร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ถือเป็น Base Case Scenario ต่อตลาดหุ้นมีโอกาสที่ SET Index สิ้นปี 2566 จะขึ้นไปถึง 1,680-1,700 จุดได้

 

Scenario ที่ 2 คือ เกิดการสลับขั้ว โดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยได้คะแนนเสียงจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. จากขั้วตรงข้ามมาสนับสนุนบางส่วน และพรรคก้าวไกลสลับไปเป็นฝ่ายค้าน มีโอกาสที่ SET Index สิ้นปี 2566 จะขึ้นไปถึง 1,620-1,680 จุด 

 

ส่วนกรณีที่ข้อเสนอให้พรรคร่วมทั้ง 8 พรรครอเวลาอีก 10 เดือนเพื่อให้ ส.ว. ครบวาระในช่วงกลางปี 2567 เพื่อรอโหวตนายกรัฐมนตรีใหม่นั้น ต้องตามในประเด็นนี้ ถือเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจและภาพการลงทุนมากที่สุด เพราะอาจเป็นการสร้างความเสี่ยงต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยประเมินว่า หากมีการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าไป 4-6 เดือน จะมีผลกระทบต่อ GDP ของไทยประมาณ 0.5%

 

ภาคการท่องเที่ยวรอได้ หวั่นผลกระทบจากม็อบทำนักท่องเที่ยวลดลง 

 

สง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบการถนนข้าวสาร เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เห็นด้วยกับประชาชนบางส่วนที่ให้ชะลอการจัดตั้งรัฐบาลออกไปอีก 10 เดือน แม้อาจจะกระทบเรื่องการกำหนดงบประมาณ แต่อีกด้านหนึ่งจะทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ และถ้ามีการชุมนุมอาจมีความรุนแรงเกิดขึ้น จะทำให้สถานทูตทุกประเทศสั่งให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังในการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย ซึ่งจะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้หลักให้กับประเทศ

 

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวก็ยังไม่กลับมาร้อยเปอร์เซ็นต์ และนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาตามเป้าหมายที่วางไว้ แถมไทยยังเพิ่งฟื้นตัวจากโควิดได้ไม่นาน มิหนำซ้ำยังต้องเจอภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีผลต่อการจับจ่าย ถ้ามีการชุมนุมเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะฉะนั้นทางออกคือการชะลอจัดตั้งรัฐบาลออกไปก่อน 

 

แม้หลายคนอาจกังวลเรื่องการลงทุน แต่อย่าลืมว่าการท่องเที่ยวนั้นสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศและผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ซึ่งการลงทุนเป็นเรื่องของอนาคตที่ยังมองไม่เห็น ถ้าการเมืองนิ่ง ต่างชาติจะเข้ามาลงทุนหรือไม่ยังไม่มีใครรู้ แต่สิ่งที่รู้แน่ๆ คือถ้าบ้านเมืองสงบ นักท่องเที่ยวก็เข้ามาอยู่แล้ว 

 

ขณะที่ผู้ประกอบการมีความกังวลอย่างมากและเริ่มชะลอการลงทุน การจ้างงาน การสต๊อกสินค้า เพื่อรองรับความไม่แน่นอน และรอให้สถานการณ์การเมืองนิ่งก่อนถึงจะกลับมาลงทุนอีกครั้ง

 

นายกสมาคมผู้ประกอบการถนนข้าวสารกล่าวต่อไปว่า ในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการอยากฝากถึงการจัดตั้งรัฐบาลว่า เราต้องการความสงบ อะไรที่สามารถยอมกันได้ควรจะยอมเพื่อประเทศชาติและประชาชน วันนี้นักการเมืองไม่ควรเล่นเกมการเมืองเพื่อหาผลประโยชน์ให้พรรคพวกตัวเองแล้ว แต่ควรหันมามองประชาชน ทั้งผู้ประกอบการ รากหญ้า ผู้ที่หาเช้ากินค่ำ และผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

 

ยักษ์สินค้าอุปโภค-บริโภคย้ำ รอไม่ได้ ต้องรีบจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด 

 

ด้านแหล่งข่าวรายใหญ่ในแวดวงธุรกิจสินค้าอุปโภคและบริโภคแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ในมุมมองของผู้ทำธุรกิจ ประเทศต้องรีบจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้เร็วที่สุด และต้องไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ เพื่อจะได้กำหนดทิศทางนโยบายได้อย่างชัดเจน ซึ่งหากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าจะกระทบถึงความเชื่อมั่นและการลงทุนของต่างชาติ หรือแม้แต่ภาคเอกชนก็ต้องปรับแผนงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรอดูสถานการณ์

 

ที่สำคัญเมื่อรัฐบาลยังไม่ชัดเจน ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัว อาจทำให้หลายๆ คนกังวลถึงความไม่แน่นอนในชีวิต ซึ่งจะมีผลต่อการชะลอการจับจ่ายแน่นอน 

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเกิดการชุมนุม ในมุมมองของภาคเอกชนก็ไม่กังวลมากนัก เพราะการชุมนุมเรียกร้องในสมัยนี้ไม่ได้รุนแรงเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากธุรกิจเครื่องดื่มรายใหญ่ก็กล่าวว่า ต้องรีบจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้เร็วที่สุด ไม่ควรรอช้า เพื่อให้ประเทศได้เดินหน้าต่อ ตอนนี้ที่ยังจัดตั้งไม่ได้ เพราะติดปัญหากลไกของแต่ละพรรค สร้างเงื่อนไขขึ้นมาเองแล้วแก้ไม่ได้ บ้านเมืองไม่ได้เอาไว้เล่นเกม ต้องเสียสละ เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศ ถ้าเกิดสุญญากาศ การลงทุนสร้างโครงการใหญ่ๆ ที่ใช้เงินลงทุนจำนวนมากก็ต้องชะลอออกไปก่อน หรือแม้แต่นักลงทุนต่างชาติก็ยังไม่เข้ามา เพราะต่างรอดูนโยบายของพรรคที่ได้จัดตั้งรัฐบาลว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน เพราะแต่ละพรรคนโยบายแตกต่างกันค่อนข้างมาก 

 

ขณะที่แหล่งข่าวในแวดวงผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกล่าวว่า ในฐานะภาคเอกชนมองว่า ในกรณีที่ต้องรอ 10 เดือนจริงๆ จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ  เพราะรัฐบาลรักษาการจะไม่สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายบางอย่างได้

 

ดังนั้นเห็นด้วยที่จะให้พรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้วไปก่อน เพื่อดูแลปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน และเมื่อพ้นเดือนพฤษภาคม 2567 หลังจาก ส.ว. อำลาวงการ ก็ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ เอาพรรคก้าวไกลกลับมาร่วมรัฐบาล ตั้งรัฐบาล 8 พรรคตาม MOU หรือจะให้นายกฯ ลาออกแล้วโหวตกันใหม่ ให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขึ้นมาเป็นนายกฯ ตอนนั้นก็ยังได้ เพราะมองว่ายังดีกว่าที่จะปล่อยให้รัฐบาลเดิมรักษาการต่อไปอีกเกือบปี

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising