×
SCB Omnibus Fund 2024

ผู้ว่า ธปท. เปรียบเศรษฐกิจไทยเหมือนคนเพิ่งฟื้นจากไข้ การรักษาต้องดูแบบองค์รวม ไม่จ่ายยาแรงเกินพอดีจนเกิดผลข้างเคียง เตือนปีหน้าเศรษฐกิจโลกผันผวนหนัก แต่ยังมั่นใจไทยฟื้นได้ต่อเนื่อง

14.11.2022
  • LOADING...

ผู้ว่า ธปท. เปรียบเศรษฐกิจไทยเหมือนคนเพิ่งฟื้นจากไข้ การรักษาต้องดูแบบองค์รวม ไม่จ่ายยาแรงเกินพอดีจนเกิดผลข้างเคียง เตือนปีหน้าเศรษฐกิจโลกผันผวนหนัก แต่ยังมั่นใจไทยฟื้นได้ต่อเนื่อง

 

ในช่วงเช้าวันนี้ (14 พฤศจิกายน) เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เข้าร่วมบรรยายในงานสัมมนาวิชาการของ ธปท. สำนักงานภาคเหนือ ประจำปี 2565 โดยในงานดังกล่าว ผู้ว่า ธปท. ได้พูดถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันว่ายังเปรียบเสมือนคนที่เพิ่งฟื้นจากไข้ และมีอาการข้างเคียงหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เช่น เงินเฟ้อ หนี้สูง โดยเฉพาะหนี้ในภาคครัวเรือน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้า ซึ่งยังไม่กลับสู่ระดับ Pre-COVID และความผันผวนของค่าเงิน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ผู้ว่า ธปท. ระบุว่า เมื่อผู้ป่วยที่ชื่อว่าประเทศไทยมีอาการหลายๆ อย่างเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน การรักษาจึงต้องพิจารณาแบบองค์รวม ไม่สามารถโฟกัสไปที่อาการใดอาการหนึ่งได้ เพราะหากมีการใช้ยาแรงขึ้นดอกเบี้ยมากๆ ก็อาจไปกระทบกับอาการหนี้สูง ทำให้ภาระหนี้ของคนในประเทศเพิ่มสูงขึ้น นโยบายการรักษาของ ธปท. จึงต้องดูให้ครบ ใช้ยาเท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงมากจนเกินไป

 

เศรษฐพุฒิยังกล่าวถึงสถานการณ์เงินเฟ้อว่า ช่วงที่ผ่านมาเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่เกือบจะสูงที่สุดในภูมิภาค โดยมีช่วงหนึ่งเคยขึ้นไปสูงถึง 7.9% ทำให้นโยบายการเงินต้องตอบสนองด้วยการขึ้นดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อเปรียบเสมือนกับอาการไข้ การจะรักษาคนไข้สิ่งแรกที่ต้องทำคือเอาไข้ลงมาก่อน เพราะถ้าปล่อยให้เงินเฟ้ออยู่นานหรือไข้อยู่ยาวมันจะเกิดผลที่ไม่ดีตามมาเยอะมาก เงินเฟ้ออาจจะฝังรากจนเกิดเป็นวงจรอุบาทว์ที่เรียกว่า Wage Price Spiral

 

อย่างไรก็ดี การที่ไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงและเงินเฟ้อไม่ได้มาจากฝั่งอุปสงค์ซึ่งเป็นอาการข้างเคียง ทำให้การพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยต้องมีความสอดคล้องกับบริบทของประเทศ คือขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ หรือ Gradual and Measured ซึ่งผลการรักษาในขณะนี้ก็ออกมาเป็นไปตามคาด คือเงินเฟ้อได้พ้นจุดพีคไปแล้ว โดยปรับลดลงในช่วง 3 เดือนหลังสุด จาก 7.9% ลงมาที่ 6.4% และล่าสุดลดลงมาอยู่ที่ 5.9% โดย ธปท. คาดว่าจะลดลงต่อเนื่องและกลับเข้าสู่กรอบ 1-3% ภายในปีหน้า

 

“การขึ้นดอกเบี้ยมักจะทำให้ธนาคารกลางแทบทุกแห่งโดนต่อว่า เพราะทำให้ภาระหนี้คนสูงขึ้น แต่เราก็จำเป็นต้องทำเพราะถ้าไม่ขึ้นผลกระทบจะมากกว่า โดยการศึกษาของ ธปท. พบว่า การยอมให้เงินเฟ้อขึ้นไป 1% จะทำให้ครัวเรือนมีภาระหนี้สูงขึ้นกว่า 7 เท่า เมื่อเทียบกับการขึ้นดอกเบี้ย 1%” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า อีกหนึ่งเรื่องที่แบงก์ชาติพยายามชี้แจงในช่วงที่ผ่านมา คือความเข้าใจผิดว่าส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐฯ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดเงินทุนไหลออกจนเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งในความเป็นจริงการอ่อนค่าของเงินบาทเกิดจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์เป็นหลัก โดยหากนับจากต้นปีเป็นต้นมา เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นไปแล้วราว 10% ขณะที่เงินบาทยังอ่อนค่าลงแค่ 7% ซึ่งน้อยกว่าสกุลเงินของหลายประเทศในภูมิภาค

 

“หลายประเทศมีช่องว่างดอกเบี้ยที่แคบกว่าเรา แต่ค่าเงินเขาก็อ่อนลงมากกว่า ส่วนเงินทุนเคลื่อนย้ายหากนับจากต้นปีเงินทุนไหลเข้าไทยก็ยังเป็นบวก ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากเสถียรภาพด้านต่างประเทศของเราที่ค่อนข้างดี มีทุนสำรองสูงและหนี้ต่างประเทศต่ำ” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

ในช่วงท้ายของการสัมมนา ผู้ว่า ธปท. ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจในปีหน้า โดยระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงิน และมีข่าวที่ไม่ดีเกิดขึ้นหลายเรื่อง เนื่องจากโลกเสพติดกับภาวะสภาพคล่องล้นและดอกเบี้ยต่ำมานาน เปรียบเสมือนตอที่ผุดขึ้นมาเมื่อน้ำลด

 

“หนึ่งในตัวอย่างที่เราเห็นแล้วในปีนี้ คือกรณีของอังกฤษที่ตลาดพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุดผันผวนหนัก ค่าเงินปอนด์อ่อนค่า 5% ในวันเดียว ซึ่งปกติสถานการณ์แบบนี้จะเกิดกับประเทศเล็กๆ และกำลังพัฒนามากกว่า แต่ขณะนี้เริ่มมีตัวบ่งชี้ว่าเราจะได้เห็นสถานการณ์แบบสไตล์ที่เกิดขึ้นกับอังกฤษอีกในปีหน้า” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

อย่างไรก็ดี ผู้ว่า ธปท. ยังเชื่อมั่นว่า ท่ามกลางการชะลอตัวของโลก เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง เนื่องจากการฟื้นตัวของไทยมาจากการบริโภคภายในประเทศและการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดย GDP ในปีหน้าจะยังขยายตัวได้ที่ 3.8% ขณะที่พื้นฐานของเศรษฐกิจไทยก็ยังสามารถทนทานกับความผันผวนและ Shocks ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising