×

จับตาปม ‘ทุเรียน’ พืช (เดอะแบก) เศรษฐกิจไทย ออกตลาดช้า อีกเบื้องหลังฉุดส่งออก

30.04.2024
  • LOADING...
ทุเรียน ไทย

การส่งออกไทยในเดือนมีนาคมที่ติดลบถึง 10.9% นอกเหนือจากปัจจัยฐานที่สูงแล้ว อีกเหตุผลที่ซ่อนอยู่คือทุเรียนปีนี้ที่ออกช้าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออกทุเรียนของไทยปีนี้ลดลงกว่า 51% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องมาจากภัยแล้ง

 

ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์แสดงให้เห็นว่า การส่งออกทุเรียนสดในเดือนมีนาคม 2567 มีมูลค่า 2,316 ล้านบาท ลดลง 63.67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)

 

ทำให้ตั้งแต่ต้นปี (YTD) หรือตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2567 การส่งออกทุเรียนสดมีมูลค่า 5,786.18 ล้านบาท นับว่าลดลง 51.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2566 (ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 11,840.95 ล้านบาท)

 

สำหรับปัจจัยที่ทำให้การส่งออกทุเรียนไทยปีนี้ลดลงหนักมาจากภัยแล้ง โดยพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวระหว่างรายงานสถานการณ์การปลูกทุเรียนของภาคตะวันออกปี 2567 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า “ความท้าทายต่อไปก็คือการบริหารจัดการน้ำ”

 

ทั้งนี้ตามข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch Center) ระบุว่า ‘ทุเรียน’ เป็นผลไม้ส่งออกหลักของไทย โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 69% เมื่อเทียบกับผลไม้อื่นๆ ทั้งหมด

 

สำหรับตลาดหลักของทุเรียนไทยคือ ‘จีน’ โดย KResearch ระบุว่า ในปี 2566 ทุเรียนไทยเกือบ ‘ทั้งหมด’ หรือ 97% ส่งออกไปจีน

 

‘เศรษฐา’ สั่งเกษตร-พาณิชย์ คุมคุณภาพ หวั่นเวียดนามตีตื้น

 

เมื่อวันที่ 28 เมษายน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในโอกาสลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดจันทบุรี ติดตามการผลิตทุเรียนคุณภาพว่า รัฐบาลให้ความสำคัญ มีตลาดส่งออกปลายทางหลักคือประเทศจีน ซึ่งจากปริมาณความต้องการบริโภคทุเรียนของชาวจีนเฉลี่ยคนละ 0.7 กิโลกรัมต่อปี

 

จึงสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พัฒนาสายพันธุ์ของทุเรียน การแปรรูป การใช้ปุ๋ยเคมีและการกำจัดศัตรูพืช การควบคุมทุเรียนด้อยคุณภาพ พร้อมทั้งให้บูรณาการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เข้มงวดกับทุเรียนส่งออก เพื่อให้ประเทศปลายทางได้รับทุเรียนคุณภาพ และเป็นการรักษาชื่อเสียงของทุเรียนไทย

 

ในด้านของการขนส่งโลจิสติกส์ได้สั่งการไปยังกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ให้บูรณาการทำ One Stop Service ที่ด่านชายแดน

 

KResearch คาดการส่งออกทุเรียนไทยปีนี้จ่อชะลอ

 

สำหรับในปี 2567 KResearch คาดว่าการส่งออกทุเรียนสดไทยไปจีนคาดว่าจะอยู่ที่ 4,500 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 12%YoY ชะลอลงจากฐานที่สูงในปี 2566 ที่ขยายตัวราว 30%YoY

 

KResearch ยังเตือนว่า แม้ไทยยังครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ไว้ได้ แต่ทุเรียนประเทศคู่แข่งก็มีส่วนแบ่งในตลาดจีนมากขึ้น รวมไปถึงทุเรียนเวียดนามก็ตามไปแข่งขันทุกพื้นที่

 

“ดังนั้นการรักษาคุณภาพของทุเรียนไทยจึงยังเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความได้เปรียบ” KResearch กล่าว

 

โดยเฉพาะทุเรียนเวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น หลังได้รับอนุญาตจากทางการจีนให้ส่งออกทุเรียนสดอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ประกอบกับมาเลเซียที่อาจได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนสดไปยังจีนได้ในปี 2567 น่าจะส่งผลต่อส่วนแบ่งตลาดของทุเรียนสดไทยในจีนที่อาจปรับลดลงได้

 

ส่องคู่แข่งอย่างเวียดนาม

 

ทั้งนี้ปีที่ผ่านมาเวียดนามส่งทุเรียนไปจีนมูลค่า 2,100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 188.1 ล้านดอลลาร์เมื่อปีก่อนหน้า หลังจากจีนอนุญาตให้เวียดนามส่งออกทุเรียนสดในปี 2564 ตามมาตรฐานสุขอนามัยพืช

 

รายงานข่าวกล่าวว่า ปัจจัยที่ผู้บริโภคชาวจีนนิยมรับประทานนั้นเป็นเพราะส่วนหนึ่งถือว่าทุเรียนเป็นของดี มีคุณค่า และมักให้เป็นของขวัญในโอกาสพิเศษ ซึ่งทุเรียน 1 ลูกจะขายได้ในราคา 100-200 หยวน (14-28 ดอลลาร์) หรือราว 1,000 บาท

 

 

อย่างไรก็ตาม จีนเป็นตลาดใหญ่ ส่งผลให้เพื่อนบ้านอาเซียนเริ่มมีการเพาะปลูก นอกจากเวียดนามยังมีฟิลิปปินส์ที่ขยายกำลังการผลิตมากขึ้นเพื่อส่งออกไปตีตลาดจีน และน่าสนใจว่าเร็วๆ นี้มาเลเซียเองก็อยู่ระหว่างหารือถึงข้อตกลงการค้ากับจีนอีกด้วย โดยมีพันธุ์ ‘มูซังคิง’ เป็นราชาทุเรียนของมาเลเซีย

 

สมาคมผักและผลไม้เวียดนามระบุว่า โอกาสสำหรับตลาดการส่งออกทุเรียนไปจีนหลักๆ มาจากการขนส่งสินค้าชายแดนที่ติดกับจีน ช่วยให้เวียดนามสามารถขนส่งทุเรียนด้วยรถบรรทุกหรือรถไฟ ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนการขนส่งเมื่อเทียบกับผู้ส่งออกรายอื่นๆ

 

“ความต้องการทุเรียนในจีนยังมีอีกมาก ส่งผลให้การส่งออกทุเรียนของเวียดนามไปยังจีนในปีนี้คาดว่าจะขยายมูลค่าขึ้น 2 ใน 3 จากปี 2566 ปัจจุบันเวียดนามสามารถพัฒนาการปลูกทุเรียนและเก็บเกี่ยวทุเรียนได้ทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี ซึ่งมีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับฤดูกาลในประเทศอื่นๆ”

 

ด้านข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรจีน (GAC) ระบุว่า ปัจจุบันจีนนำเข้าทุเรียนมากถึง 1.4 ล้านตันจากทุกประเทศ โดยเพิ่มขึ้น 69% จากปี 2565 ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งมากที่สุดร้อยละ 67.98 ของทุเรียนในตลาดจีนทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นของเวียดนาม ตามด้วยฟิลิปปินส์

 

โดยจีนนำเข้า 95% ทั่วโลกจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ และมีสิงคโปร์เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับ 2

 

ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เพื่อนบ้านและคู่แข่ง

 

นับตั้งแต่ RCEP หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) ที่มีผลบังคับไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระดับภูมิภาคก็มีความเข้มข้นมากขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรอาเซียนที่มุ่งเจาะเข้าสู่ตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น

 

นอกจากไทยที่เข้าไปทำตลาดในจีนจนครองตลาดมากที่สุดแล้ว จีนยังเปิดทางนำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนามและฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการในช่วงกลางปี 2566 อีกด้วย

 

“ปัจจุบันไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ จึงเป็นซัพพลายเออร์หลักของทุเรียนในตลาดจีน”

 

โดยปีที่แล้วบริษัทผู้นำเข้ารายใหญ่อย่าง Dole Food Co บอกกับ Global Times ว่า ฤดูกาลผลิตทุเรียนจากฟิลิปปินส์อยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเข้ามาชดเชยกับตลาดทุเรียนไทยที่ขาดช่วงไปพอดี

 

Chen Jia นักวิจัยอิสระด้านยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ ระบุว่า การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมต่อภายใต้โครงการ Belt and Road Initiative (BRI) และ RCEP ยังเอื้อประโยชน์ให้การขนส่งผลไม้ไปยังจีนง่ายขึ้นมาก

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising