เครื่องสำอางไทยกำลังได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภครุ่นใหม่ชาวญี่ปุ่น ด้วยคุณสมบัติที่ทนทานต่อความร้อนและความชื้น รวมถึงราคาที่ค่อนข้างถูก แต่ยังต้องรอดูกันต่อไป ว่าเครื่องสำอางไทยจะสามารถสร้างกระแสความนิยมที่ยั่งยืนและแข่งขันกับแบรนด์เกาหลีใต้ที่ครองตลาดอยู่ในปัจจุบันได้หรือไม่
จุดเด่นของเครื่องสำอางไทยคือได้รับการยอมรับว่ามี ‘คุณภาพดี ราคาถูก’ เพราะไทยเป็นผู้ผลิตสมุนไพรและพืชสมุนไพร ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเครื่องสำอางรายใหญ่ ทำให้จัดหาวัตถุดิบได้ในราคาถูก
นอกจากนี้ค่าแรงในประเทศไทยก็ต่ำกว่ายุโรป สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง ส่งผลให้สินค้ามีราคาที่น่าดึงดูด เช่น ผลิตภัณฑ์เขียนคิ้วของ Cathy Doll ราคาเพียง 550 เยน (ประมาณ 120 บาท)
อีกทั้งเครื่องสำอางไทยหลายยี่ห้อออกแบบมาให้เหมาะกับสภาพอากาศร้อนชื้น เช่น แป้งฝุ่นศรีจันทร์ ที่ช่วยลดความมัน และครีมกันแดด Cathy Doll ซึ่งมีส่วนผสมที่ช่วยลดรอยแดงจากสิว
‘ศรีจันทร์’ แบรนด์แป้งฝุ่นที่เข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นในปี 2020 ถือเป็นผู้บุกเบิกเครื่องสำอางไทยในญี่ปุ่น โดย Translucent Powder ของศรีจันทร์ ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด เนื่องจากคุณสมบัติควบคุมความมัน และช่วยให้เครื่องสำอางติดทนนานแม้จะสวมหน้ากากอนามัย
ขณะที่ Cathy Doll เข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นในปี 2021 และจำหน่ายในร้านขายยาและร้านค้าอื่นๆ กว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ โดยใช้กลยุทธ์การตลาดที่นำนักแสดงจากซีรีส์วายไทย 2gether ซึ่งเป็นที่นิยมในญี่ปุ่น มาเป็นพรีเซนเตอร์ โดย Japan Functional Cosmetic Laboratory ซึ่งขาย Cathy Doll รายงานยอดขายเพิ่มขึ้น 11% ในปี 2023
แม้ว่าเครื่องสำอางไทยจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สามารถเทียบชั้นความนิยมของเครื่องสำอางเกาหลีใต้ได้ โดยยอดขายเครื่องสำอางไทยใน Don Quijote ลดลงในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ในปี 2023 การนำเข้าผลิตภัณฑ์ความงามและแต่งหน้าจากไทยมีมูลค่ารวม 2 พันล้านเยน หรือราว 442 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่ามูลค่า 8.15 หมื่นล้านเยน หรือ 1.8 หมื่นล้านบาทของเกาหลีใต้มาก
กระนั้นยังมีเครื่องสำอางไทยหลายประเภท เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ที่ยังไม่ได้นำเข้ามาในญี่ปุ่น ดังนั้นจึงมีโอกาสสำหรับตลาดที่จะเติบโต ตัวแทนของ Japan Functional Cosmetic Laboratory กล่าว
อ้างอิง: