×

เจาะงบธนาคารไทยในวิกฤตโควิด-19 เมื่อกำไรสุทธิหดตัวและหนี้เสียอาจพุ่งไม่หยุด

24.07.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ธุรกิจธนาคารที่เป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่น้อย ผลประกอบการไตรมาส 2/63 ที่ผ่านมา ทั้ง 10 ธนาคารกำไรสุทธิลดลงถ้วนหน้า 
  • 5 แบงก์ใหญ่ของไทยหนี้เสียพุ่งจากสิ้นปี 2563 จากผลกระทบโควิด-19 
  • ไตรมาส 2/63 นี้ในภาพรวมธนาคารตั้งสำรองเพิ่ม 60,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากไตรมาส 1/63 ที่มีการตั้งสำรองราว 30,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารตั้งสำรองเพิ่มตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน 

เศรษฐกิจไทยว่าแย่แล้ว แต่ธุรกิจธนาคารที่เป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ผลประกอบการไตรมาส 2/63 ที่ผ่านมา ทั้ง 10 ธนาคารกำไรสุทธิลดลงถ้วนหน้า ไหนจะหนี้เสียที่ทยอยเพิ่มขึ้น 

 

 

ครึ่งปีแรก 2563 แบงก์กำไรวูบ ผลการตั้งสำรองหนี้เสียในวิกฤต

หลายปีมานี้ ธนาคารพาณิชย์ในไทยต้องลงทุนด้านดิจิทัลและหารายได้ใหม่ๆ เข้าธุรกิจ แต่ยังไม่อยู่ตัวก็เจอกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนกำไรสุทธิในไตรมาส 2/63 ลดลงอย่างชัดเจน และปรับลดลงทั้ง 10 ธนาคารพาณิชย์ 

 

กำไรสุทธิของ 10 ธนาคารพาณิชย์ลดลง จากรายได้บางส่วนลดลงเมื่อคนขอสินเชื่อใหม่น้อยลง ที่สำคัญคือธนาคารต้องตัดกำไรบางส่วนมาตั้งสำรองฯ เป็นกันชนกับหนี้เสียที่จะเพิ่มขึ้น เพราะช่วงวิกฤตนี้ทำให้ประชาชนขาดรายได้ และอาจกระทบความสามารถในการชำระหนี้ที่อาจพ่วงให้จำนวนหนี้เสียในระบบธนาคารเพิ่มสูงขึ้น

 

ถ้าดูครึ่งปีแรก 2563 ธนาคารไทยพาณิชย์มีกำไรสุทธิมากที่สุดอยู่ที่ 17,611 ล้านบาท ลดลง 12.5% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิราว 20,132 ล้านบาท เฉพาะไตรมาส 2/63 มีการต้ังสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่ 9,734 ล้านบาท อันดับ 2 คือธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 13,680 ล้านบาท ลดลง 31.4% ที่ลดลงค่อนข้างมากเพราะทางธนาคารไม่มีกำไรพิเศษจากการขายหุ้น ‘เงินติดล้อ’

 

ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยที่เคยมีกำไรสุทธิครึ่งปีแรก 2562 ถึง 19,973 ล้านบาท ครึ่งปีแรก 2563 นี้เหลือ 9,550 ล้านบาท ลดลง 52.2% มาอยู่อันดับที่ 5 (จากปีที่แล้วอยู่อันดับ 3) สาเหตุก็เพราะมีการตั้งสำรองฯ โดยในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 เพิ่มอีก 8,320 ล้านบาท


จะเห็นว่าช่วงครึ่งปีแรก 2563 นี้ ทุกธนาคารทยอยตั้งสำรองฯ อย่างต่อเนื่อง  

 

 

แค่ไตรมาส 2/63 ธนาคารแห่ตั้งสำรองฯ 60,000  ล้านบาท เพียงพอกับหนี้เสียที่เกิดขึ้นหรือไม่

นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย กล่าวว่าไตรมาส 2/63 นี้ ในภาพรวมธนาคารตั้งสำรองเพิ่ม 60,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากไตรมาส 1/63 ที่มีการตั้งสำรองราว 30,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารตั้งสำรองฯ เพิ่มตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และการตั้งสำรองฯ นี้จะกระทบกับกำไรสุทธิของธนาคาร 

 

ขณะที่ปี 2563 นี้ ธนาคารน่าจะตั้งสำรองฯ กันต่อเนื่องทั้งปี แต่จะตั้งสำรองฯ มากแค่ไหนยังต้องรอดูภาพหลังมาตรการช่วยเหลือจากโควิด-19 เช่น การพักจ่ายเงินต้น พักดอกเบี้ย ฯลฯ จะหมดลง จึงจะเห็นว่าหนี้เสียของไทยมีมากแค่ไหน และธนาคารต้องตั้งสำรองฯ กันมากเพียงใด

 

“รอบนี้ธนาคารพยายามเตรียมตัวมาดี จะเห็นจาก Coverage Ratio (ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) ในภาพรวมอยู่ที่ 150% ถือว่าสูงแล้ว แต่ยังต้องตั้งสำรองฯ เพิ่ม เพราะความไม่แน่นอนยังสูงมาก แต่หากอนาคตหนี้เสียไม่ได้แย่อย่างที่คิด เงินที่ตั้งสำรองฯ ไว้ก็จะดึงกลับมาเป็นกำไรเช่นกัน ซึ่งยังไม่ใช่ภาพของปีนี้”

 

ดังนั้นคาดว่าธุรกิจธนาคารจะเห็นหนี้เสียชัดเจนหลังจากช่วงไตรมาส 1/63 และในไตรมาส 3/63 นี้จะเห็นการตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้น อาจกระทบกำไรธุรกิจธนาคารยังลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

 

 

กรุงไทยเกาะแชมป์หนี้เสียอันดับ 1 ของธุรกิจธนาคาร 

การบริหารหนี้เป็นธุรกิจหลักของธนาคาร โดยเฉพาะคุณภาพหนี้ของธนาคาร หากเพิ่มสูงขึ้นจะทำให้ธนาคารมีค่าใช้จ่ายในการจัดการหนี้เพิ่มขึ้นด้วย โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 นี้ ธนาคารที่มีหนี้เสียมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ 

 

1. ธนาคารกรุงไทย อยู่ที่ 115,037 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.06% จากสิ้นปี 2562 

2. ธนาคารกรุงเทพ อยู่ที่ 108,604 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.21% จากสิ้นปี 2562

3. ธนาคารกสิกรไทย อยู่ที่ 96,286 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.57% จากสิ้นปี 2562

4. ธนาคารไทยพาณิชย์ อยู่ที่ 79,596 ล้านบาท ลดลง 6.59% จากสิ้นปี 2562

5. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา อยู่ที่ 48,010 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.15% จากสิ้นปี 2562

 

ทั้ง 5 อันดับนี้ถือเป็นธนาคารขนาดใหญ่ของไทย โดยหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นอาจขยับขึ้นตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าที่ลดลง โดยธนาคารไทยพาณิชย์ที่หนี้เสียลดลงเพราะมีการจัดการหนี้เสียที่มีประสิทธิภาพโดยใช้วิธีการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพและการตัดหนี้สูญ รวมถึงมาตรการช่วยลูกหนี้อื่นๆ 

 

สุดท้าย ธุรกิจธนาคารยังต้องหาทางพยุงบริษัทและพยุงลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการสายป่านในการทำธุรกิจให้อยู่รอดในวิกฤตนี้

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising