×

โจทย์ใหญ่แบงก์ไทยปี 65 เตรียมทัพสู้ศึกดิจิทัล มุ่งเติบโตสู่ภูมิภาค

14.01.2022
  • LOADING...
แบงก์

ในปี 2564 ภาพของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ยังเห็นการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สนามดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการสร้างพันธมิตรหรือร่วมทุน แต่การเขย่าองค์กรขนานใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ได้ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ เปิดตัวยานแม่ SCBX ปลดล็อก Legacy ดั้งเดิมกว่า 116 ปีที่กำลังพันธนาการธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในยุคดิจิทัล 

 

และตามมาด้วยบิ๊กดีลสะเทือนวงการอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่สนามการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านการเข้าซื้อ ‘Bitkub’ Digital Asset Exchange อันดับหนึ่งของไทย การร่วมจัดตั้งกองทุนร่วมทุน หรือ Venture Capital กับพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS, เครือเจริญโภคภัณฑ์, บริษัทเวิร์คพอยท์, มิลเลนเนียม กรุ๊ป (เอเชีย) ตอกย้ำสถานะ Tech Company ชัดเจน

 

ด้านธนาคารกสิกรไทยส่ง KBTG เป็นทัพหน้ารับศึกดิจิทัลครั้งนี้ โดยได้จัดตั้งโรงงานผลิตสตาร์ทอัพอย่าง KASIKORN X ที่เปิดตัว Kubix เพื่อดำเนินธุรกิจ ICO Portal และตามมาด้วย Coral แพลตฟอร์ม NFT Marketplace และใช้กลยุทธ์ Metamorphosis ออกไปเติบโตในภูมิภาค 

 

ขณะที่ธนาคารกรุงไทยส่ง Infinitus ไปร่วมทุนกับ Accenture เพื่อตั้ง Arise by Infinitas เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการบุคลากรด้านเทคโนโลยีที่มีมาตรฐาน ส่วนธนาคารกรุงศรีได้ประกาศความร่วมมือกับ Zipmex แพลตฟอร์มการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล

 

จริงอยู่ว่าโควิดเร่งให้ Digital Disruption กระเพื่อมแวดวงการเงินช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ทำให้บทบาทของธนาคารพาณิชย์เด่นชัดขึ้นเช่นกัน จากการเป็นแขนขาภาครัฐเข้าไปช่วยประคับประคองลูกค้าผ่านมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ด้วยหวังให้ผ่านสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจนฟื้นตัวกลับสู่ปกติในที่สุด ทำให้ภาพรวมหนี้เสีย หรือ NPL ในระบบธนาคารพาณิชย์ไม่ให้พุ่งแรงอย่างที่คาดไว้เมื่อต้นปี บทบาทต่อระบบเศรษฐกิจไทยนี้เองที่ยังทำให้ธนาคารพาณิชย์หาธุรกิจอื่นใดทดแทนไม่ได้

 

มองไปในปี 2565 แม้ความหวังทางเศรษฐกิจจะมีมากขึ้น แต่โจทย์ของธนาคารพาณิชย์ยังต้องให้น้ำหนักกับการดูแลคุณภาพสินเชื่อ เพราะแม้มาตรการเยียวยาที่ออกมาจะช่วยให้ NPL ไม่พุ่งอย่างที่กังวลไว้ก่อนหน้า แต่ผลกระทบจากโอมิครอนที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้แบงก์ยังต้องจับตาคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการตั้งสำรองให้เพียงพอ และการดูแลต้นทุนการเงิน รวมถึงรับมือการแข่งขันจากทั้งแบงก์และธุรกิจดิจิทัลหน้าใหม่

 

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ประเมินภาพปี 2565 ว่า ธุรกิจดั้งเดิมอย่างการปล่อยสินเชื่อของธนาคารยังเป็นไปด้วยความระมัดระวัง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์จะเติบโต 4-5.5% ขณะเดียวกันต้องช่วยให้ลูกค้าผ่านวิกฤตโควิดและ Technology Disruption ไปให้ได้

 

สำหรับธุรกิจธนาคารเองจะเห็นการเดินหน้าดิจิทัลเต็มรูปแบบมากขึ้น อาทิ Digital Lending และ Digital Asset-Related Business เช่น ICO Portal, Exchange, Brokers ซึ่งมีนัยต่อลักษณะรายได้ที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบหลัก อย่างเช่น รายได้ดอกเบี้ย การให้บริการจะ Beyond Banking มากขึ้น ขยายขอบเขตไปสู่บริการอื่นๆ เช่น ฟู้ดเดลิเวอรี, อีคอมเมิร์ซ และเทคโนโลยี ทั้งในและนอกประเทศ เพื่อให้ธนาคารสามารถสร้าง Ecosystem ที่เชื่อมโยงภาคการเงินกับมิติอื่นๆ

 

“ลักษณะการทำธุรกรรมการเงินจะเปลี่ยนแปลงมาสู่ Open Architecture และ Platformization มากขึ้น โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องทำธุรกรรมกับแบงก์โดยตรงเสมอไป แต่แบงก์จะเป็นผู้ให้บริการและดูแลโครงสร้างพื้นฐานหลังบ้านให้ ธุรกรรมจะดำเนินด้วย Network บนโลกของ Digital Assets และ CBDC การตั้งราคาหรือดอกเบี้ยจะเปลี่ยนไป โดยข้อมูลลูกค้าที่เพิ่มขึ้นจากช่องทางออนไลน์ของทั้งแบงก์และพาร์ตเนอร์ต่างๆ จะเอื้อต่อการทำเรื่อง Risk-Based Pricing มากขึ้น ขณะเดียวกันจะยังคงบทบาทการเป็นตัวกลางทางการเงินและรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้ในระยะยาว” ขัตติยากล่าว

 

แม้รายได้ดอกเบี้ยจะเป็นรายได้หลักของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ แต่บทบาทของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยจะเริ่มมีบทบาทมากขึ้นจากการเข้าสู่ยุคดิจิทัล มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปี 2564 การเติบโตของสินเชื่อในภาพรวมอาจจะไม่เกิน 5% แต่รายได้ไม่ใช่ดอกเบี้ยจะเติบโตขึ้นจากธุรกิจประกันกลุ่มลูกค้าเวลท์ และมีตัวชูธงคือกำไรจากการลงทุนผ่าน SCB10X ที่ธนาคารได้ลงทุนมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ในปี 2564 เป็นปีแรกที่จะสามารถรับรู้รายได้จากการลงทุนอย่างเป็นกอบเป็นกำ

 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารไม่มีแผนที่จะเข้าไปลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลโดยตรง เพราะไม่ได้ต้องการสร้างกำไรจากสกุลเงินดิจิทัลโดยตรง แต่จะเป็นการสร้างความพร้อมในการให้บริการตลอดจนระบบนิเวศ เพื่อสร้างรายได้จากการให้บริการสกุลเงินดิจิทัลมากกว่า

 

สำหรับแผน 5 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2569) ของธนาคาร ได้ตั้งเป้าหมายสัดส่วนรายได้จาก SCBX มากกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด ทั้งกลุ่ม Digital Lending (Card X) และธุรกิจเทคโนโลยี แพลตฟอร์มที่ให้ผลตอบแทนสูงมากกว่า 20% เทียบกับธนาคารที่มี ROE เพียง 8% ซึ่งจะทำให้ใน 5 ปีข้างหน้า ROE ของกลุ่มจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 15-20% ได้

 

“ปัจจุบันรายได้ 2 กลุ่มนี้ยังไม่ถึง 10% แต่การแยกโครงสร้างออกมาอย่างชัดเจน มีระบบการกำกับการบริหารจัดการ และมีแรงจูงใจพนักงานที่เฉพาะเจาะจงกับธุรกิจนั้นๆ จะมีส่วนทำให้ธุรกิจภายใต้ SCBX โตเร็วกว่าธุรกิจธนาคาร จะโตกว่าธนาคารที่อาจจะมีกรอบและไม่ยืดหยุ่น” มาณพระบุ 

 

Digital Adoption ที่รวดเร็ว ทำให้ลูกค้าหันมาใช้บริการทางการเงินผ่านมือถือเพิ่มมากขึ้น โมบายล์แบงกิ้งกลับกลายเป็นช่องทางสาขาใหม่ๆ ที่แบงก์มองว่าสามารถเพิ่มขึ้นได้ทุกวัน ทดแทนสาขาทางกายภาพที่มักจะถูกตั้งคำถามว่าพื้นที่นั้นๆ ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่

 

ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วย ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า เมื่อคนแทบทุกคนต้องหยิบโทรศัพท์เป็นสิ่งแรกในยามเช้า ธนาคารก็ต้องพาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น ภาพที่จะเห็นในปี 2565 คือช่องทางการให้บริการจะเป็นแบบ Hybrid มากขึ้น โดยโมบายล์แบงกิ้งจะเป็นหัวใจของธุรกิจที่แบงก์ต้องนำเอาผลิตภัณฑ์และบริการใส่เข้าไปเพื่อให้มีฟีเจอร์ใหม่ๆ มากขึ้น เพื่อเข้ามาเสริมบทบาทของสาขาใน 2-3 ปีข้างหน้า ขณะที่การเปิดสาขาจะทำเท่าที่จำเป็น ส่วนพนักงานสาขาก็จะถูกโยกออกจากการทำธุรกรรมไปสู่งานที่ปรึกษาทางการเงินมากขึ้น

 

การพัฒนาดิจิทัลเพื่อรองรับลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ เป็นอีกหัวใจสำคัญของธนาคารกรุงเทพที่มีจุดแข็งในเรื่องของธุรกิจภูมิภาคอาเซียน และมีฐานลูกค้ากลุ่มธุรกิจข้ามชาติ (MNC) ซึ่งต่างก็มีความต้องการใช้บริการธนาคารดิจิทัลไม่ต่างจากลูกค้าบุคคล ผลักดันให้ธนาคารกรุงเทพต้องพัฒนาดิจิทัลแบงกิ้งให้รองรับ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบริหารเงินสด (Cash Management) หรือธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) 

 

โดยธนาคารกรุงเทพกำลังเร่งมือเพื่อต่อยอดบริการทางดิจิทัลจากลูกค้ารายใหญ่ไปสู่ลูกค้าขนาดกลาง แต่ยอมรับว่าอาจต้องใช้เวลา เพราะความพร้อมของระบบอาจไม่มากเท่าธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ในระยะยาวจะช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้มีต้นทุนลดลง และมีความแม่นยำมากขึ้น

 

“โจทย์ท้าทายประเทศไทยคือ จะทำมาหากินอย่างไรต่อในอนาคตข้างหน้า นั่นเป็นเหตุผลที่เราพยายามขยับขยายไปโตในต่างประเทศ” ทวีลาภกล่าว

 

เช่นเดียวกับธนาคารกรุงศรีที่มีแผนจะแสวงหาแหล่งรายได้ใหม่จากต่างประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน โดย ไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า ในปี 2565 กรุงศรีจะให้ความสำคัญในเรื่อง ASEAN Capabilities และการเป็น Financial Advisory คือการใช้ศักยภาพ โดยเฉพาะในเรื่องเครือข่าย มาเป็นกำลังสำคัญในการเชื่อมโยงโอกาสให้ลูกค้าของกรุงศรีออกไปเติบโตในต่างประเทศ และใช้ประสบการณ์และเครือข่ายที่มีในการทำหน้าที่ให้คำแนะนำลูกค้า โดยใช้จุดแข็งและข้อได้เปรียบจากเครือข่ายของ MUFG และธนาคารพันธมิตร ทำให้ในขณะนี้กรุงศรีมีเครือข่ายในอาเซียนเกือบทุกประเทศแล้ว แต่ยอมรับว่าตลาดในอินโดนีเซียที่มีขนาดใหญ่และมีศักยภาพมากเป็นหนึ่งตลาดที่น่าสนใจ

 

“เรื่องใหม่ที่กรุงศรีต้องทำคือ โมเดลความเป็น Regional Bank ไม่ใช่แค่ออกไปลงทุน แต่ทำอย่างไรจะพาลูกค้าไทยไปอาเซียน ไปแมตชิ่งกับลูกค้าในอาเซียน และเรากำลังทำ Krungsri Ecosystem ให้ตอบโจทย์ลูกค้า ไม่ใช่แค่แบงกิ้ง แต่จะเชื่อมโยงลูกค้าให้เกิดเป็น Value Chain เราไม่อยากกลับไปคุยเรื่องแบงกิ้งแบบเดิมๆ แล้ว” ไพโรจน์กล่าว

 

โจทย์ของธนาคารพาณิชย์ยังถูกท้าทายจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวม การรุกคืบของ Digital Disruption และพื้นที่การแข่งขันที่แคบและเล็กลง จนต้องออกไปแสวงหาน่านน้ำใหม่เพื่อความอยู่รอด และในปี 2565 ยังจะมีปัจจัยใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึงเข้ามาเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ยังคงต้องจับตา 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising