ตั้งแต่ต้นปี เงินบาทแข็งค่ามากเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชีย รองจากรูเปียห์อินโดนีเซีย ด้าน อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเร็วๆ นี้เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐ พร้อมยืนยันว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังดูแลอยู่
“การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเร็วๆ นี้มาจากหลายปัจจัยด้วยกัน รวมถึงดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก และปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งแม้ตัวเลขบางตัวจะดีขึ้น แต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ก็ยังคงยืนยันว่า จะยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ แต่ว่าจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากแค่ไหนต้องดูกันต่อไป” อาคมกล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังย้ำอีกว่า การแข็งค่าของเงินบาทอีกส่วนมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- จับตา ‘เงินบาท’ แข็งเร็ว กระทบส่งออก-กดดันนโยบายการเงินไทย
- กระทรวงการคลังหั่นประมาณการ GDP ‘ไทย’ ปี 65 เหลือโต 3.0% มองปีนี้โต 3.8% จับตาส่งออกอาจไม่โต บดบังการฟื้นตัวภาคท่องเที่ยว
- EXIM BANK โกยกำไรสุทธิกว่า 1.5 พันล้านบาทในปี 65 แม้ตรึงดอกเบี้ยตลอดปี เผยอาจขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งกลางปีนี้ ฟุ้งส่งออกไทยโต 2% ในปีนี้
อาคมได้แสดงความกังวลต่อภาคการส่งออกของไทย ท่ามกลางเงินบาทที่แข็งค่า เนื่องจากภาคการส่งออกนับเป็นภาคส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย หลังจากสำนักวิจัยเศรษฐกิจหลายแห่งพากันมองว่า ภาคส่งออกของไทยในปีนี้อาจจะไม่ขยายตัว ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)
“เมื่อปลายปีที่แล้ว ตัวเลขสินค้าส่งออกเราค่อนข้างลดน้อยลงไป เห็นได้จากในแง่ปริมาณการส่งออก แต่ในแง่มูลค่าการค้ายังคงเพิ่มขึ้น แม้เงินบาทจะพลิกแข็งค่าเมื่อปลายปี” อาคมกล่าว
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 2.58% (YTD) มากเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชีย รองจากรูเปียห์อินโดนีเซียที่แข็งค่าประมาณ 2.70%